Skip to main content

เลือดขัตติยา : รักยิ่งใหญ่จากชายคนหนึ่ง

คอลัมน์/ชุมชน

1


หน้าหนาวแล้ว ช่างเป็นฤดูที่ดิฉันปรารถนาเสียยิ่งกระไร เพราะอยากจะสวมใส่เสื้อกันหนาวสวย ๆ ผ้าพันคอเป็นผ้าไหมเนื้อนุ่ม และเหนือสิ่งอื่นใด การได้เดินจูงมือกับคนรักฝ่าลมหนาวในตอนกลางคืน เพื่อไปลอยกระทง หรือไปดูไฟคริสต์มาสก็แล้วแต่ หรือกระทั่งการได้นอนกอดกับคนที่เรารักบนเตียงนอนอันอุ่นนุ่มในหน้าหนาวช่างเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนถวิลหา คิดเหมือนกันไหมคะคุณผู้อ่านที่รักขา ดิฉันก็คิดเช่นนี้ แต่กลับไม่เคยได้ปฏิบัติกับเขาเสียที ไม่รู้เพราะดิฉันสวยเกินไป เกินกว่าผู้ชายธรรมดาจะกล้าเข้ามาวิสาสะด้วย หรืออาจจะเป็นเพราะพระเจ้าลงโทษด้วยข้อหาความสวยพร้อมของผู้หญิงอย่างฉัน


ดิฉันชอบคิด (เข้าข้างตัวเอง) เสมอว่า ดิฉันสวยเหมือนเจ้าหญิง (แต่ว่าอาจจะเป็นเจ้าหญิงของรัฐไหน ประเทศไหน ลืมคิดไป) เจ้าหญิงที่ดีพร้อม สวยพร้อม สมบูรณ์แบบ แต่เจ้าหญิงที่สวยพร้อมดีพร้อมอย่างฉันก็ยังต้องมีเรื่องปวดใจ ด้วยอายุก็ปาเข้าไปยี่สิบกว่า ๆ แล้ว (แม่ดิฉันแต่งงานตอนอายุสิบเจ็ดปี) สวยพร้อมเช่นนี้ยังไร้คู่ตุนาหงันมาเคียงกาย แรก ๆ ดิฉันก็คิดถึงแต่เจ้าชายขี่ม้าขาว หรือเจ้าชายที่แสนหล่อ แสนรวย และฉลาดเฉลียว ปลอมตัวมา ตามแบบฉบับนิยายที่ได้อ่านเมื่อยังเด็ก แต่คิดไปคิดมา มันอาจจะยากเกินไป ก็ขอเป็นผู้ชายคนไหนก็ได้ที่มีรักจริง รักที่ยิ่งใหญ่ให้เจ้าหญิงอย่างดิฉัน (แต่ถึงอย่างไร เรื่องหล่อก็ต้องมีอยู่นะคะ) เหมือนดั่งความรักของอโณทัยที่มีต่อเจ้าหญิงทิพยรัตน์ดารากุมารี ในละครเรื่องเลือดขัตติยา


ฉันติดตามดูเลือดขัตติยาด้วยเหตุผลเดียว ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่นั่นแหลค่ะคุณผู้อ่านที่รักขา ละครเรื่องไหนผู้ชายหล่อดิฉันตามดูตลอด ละครเรื่องเลือดขัตติยา เป็นบทประพันธ์ของทมยันตี (ในนามปากกาของลักษณวดี) ออกอากาศทางโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 แสดงนำโดย พี่ติ๊ก (ของดิฉันคนเดียว) เจษฎาภรณ์ ผลดี และอ้อม พิยดา อัครเศรณี ด้วยเรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศที่สมมติขึ้น อย่างยโสธร ประเทศเล็ก ๆ แถวเอเชียกลาง (ดิฉันนึกว่ายโสธร บ้านเกิดเมืองนอนของหม่ำ จ๊กม๊ก ซะอีก) ตลอดทั้งเรื่องจึงเป็นฉากอลังการในรั้วในวัง เสียเพียงอย่างเดียว ไอ้ฉากเกาะกลางน้ำที่เป็นต้นเหตุแห่งความรักนั้น ไม่สามารถสร้างความโรแมนติกให้เกิดขึ้นแก่อารมณ์คนดูอย่างดิฉันแต่อย่างใด แต่ไม่เป็นไร แค่ได้ดูพี่ติ๊ก ที่แต่งหล่ออย่างบาดใจในชุดทหารสุดเท่ห์ แค่นี้ดิฉันก็พอใจหลาย ๆ แล้ว เอาหละค่ะ มาอ่านเรื่องราวอย่างย่อ ๆ กันก่อน ก่อนที่ดิฉันจะมาพร่ำบ่นเรื่องความหล่อของพี่ติ๊กต่อ


2


เรื่องราวเกิดขึ้นที่ยโสธร ประเทศเล็ก ๆ ในหุบเขาแถบเอเชียกลาง ซึ่งปกครองโดยเจ้าหลวงและองค์ราชินี ซึ่งมีมกุฎราชกุมาร คือสิทธิประวัติ เจ้าหญิงรัชทายาทอันดับสอง คือแขไขจรัส และองค์หญิงน้อยสุด คือทิพยรัตน์ดารากุมารี ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าหลวงองค์ก่อนที่สิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าอาจึงขึ้นครองราชย์แทน ฐานะของเจ้าหญิงจึงตกต่ำลง ย้ายไปอยู่พระตำหนักหลังเล็กกับพระมารดา โดยที่พระมารดานั้นก็ยังแอบหวังอยู่ว่าสักวันหนึ่งเจ้าหญิงทิพยรัตน์ดารากุมารีจะได้ครองมงกุฎราชินีแห่งยโสธร จึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้เจ้าหญิงร่ำเรียนวิชาการปกครอง


แต่เจ้าหญิงก็ทรงเบื่อการเรียน เบื่อชีวิตในวัง จึงชอบหนีไปเที่ยวที่เกาะกลางทะเลสาบตามลำพังอยู่บ่อย ๆ และที่นี่เองที่ทำให้เจ้าหญิงได้พบกับอโณทัย ทั้งคู่ถูกชะตากัน และกลายเป็นเพื่อนที่รู้ใจกันต่อมา แต่อโณทัยรู้เพียงแต่ว่า เจ้าหญิงชื่อดาราเท่านั้นเอง และในวันเกิดอายุครบยี่สิบปีของเจ้าหญิง ซึ่งเป็นวันสถาปนาเจ้าหญิงให้เป็นรัชทายาทองค์ที่ 3 ด้วย อโณทัยก็มาร่วมงานในฐานะทหารรักษาพระองค์ แล้วอโณทัยก็ได้รู้ความจริงว่าแม้จริงดาราที่เขาหลงรักนั้นเป็นเจ้าหญิงองค์น้อยแห่งยโสธรนี่เอง


หลังจากนั้นอโณทัยจึงทำตัวเหินห่าง แต่เจ้าหญิงดารากุมารีเองก็ทรงตามงอนง้อ จนทำให้อโณทัยเห็นว่าสุดท้ายแล้วเจ้าหญิงดารากุมารีก็เป็นเพียงแค่ดาราของเขาอยู่เหมือนเดิม เขาจึงพยายามมุ่งมั่นในหน้าที่การงาน เพื่อที่จะได้มียศตำแหน่งเทียบเท่าฐานะของเจ้าหญิง ทางด้านเจ้าชายสิทธิประวัติเองก็หลงรักในตัวเจ้าหญิงดารากุมารีเช่นเดียวกัน และอโณทัยก็ได้กลายมาเป็นทั้งเพื่อนและทหารที่คู่ใจของเจ้าชายสิทธิประวัติ


ประเทศใกล้เคียงจะรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐ และประเทศเขมรัฐเองก็ต้องการจะเป็นผู้นำสมาพันธ์ แต่ติดที่ยโสธร เพราะเป็นประเทศที่ประเทศอื่น ๆ รอบข้างให้ความเกรงใจ เขมรัฐจึงหวังที่จะครอบงำยโสธรโดยการอภิเษกกับองค์หญิงรัชทายาท จึงส่งเจ้าชายไชยันต์มาดูตัวองค์หญิงรัชทายาท ไชยันต์ตกหลุมรักดารากุมารี แต่จำต้องแต่งงานกับแขไขจรัส เพราะแขไขจรัสเป็นรัชทายาทอันดับสอง แต่หลังจากแต่งงานแล้วแขไขจรัสก็ได้รู้ความจริงว่าแท้จริงตนเป็นเพียงหุ่นเชิด ไชยันต์นั้นได้มอบหัวใจให้ดารากุมารีแล้ว จึงโกรธแค้นดารากุมารีเป็นอย่างมาก


สิทธิประวัติ ไม่กล้าจีบดารากุมารี จึงให้อโณทัยเป็นคนช่วย ดารากุมารีเสียใจมากที่อโณทัยพยามยามยัดเยียดตัวเองให้คนอื่น แต่อโณทัยรู้ตัวดีว่าชาตินี้คงไม่มีหวัง เพระดารากุมารีก็กำลังจะแต่งงานกับสิทธิประวัติอยู่แล้ว ก่อนถึงพิธีอภิเษก สิทธิประวัติล้มป่วยลง และสิทธิประวัติก็ได้รู้ความจริงว่าแท้จริงดารากุมารีรักอยู่กับอโณทัย ก่อนสิ้นพระชนม์ จึงได้ฝากฝังดารากุมารีไว้กับอโณทัย หลังจากที่สิทธิประวัติสิ้นพระชนม์ ทางเขมรัฐจึงส่งแขไขมาทวงบัลลังก์ยโสธร ด้วยฐานะองค์หญิงรัชทายาทอันดับสอง แต่อโณทัยก็เสนอความเห็นว่าให้สถาปนาดารากุมารีขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารี เพื่อป้องกันเขมรัฐเข้ามาครอบครองยโสธร


ไชยันต์กับแขไขจรัสเคียดแค้นเป็นอย่างมาก จึงปล่อยข่าวว่าเจ้าหญิงกับอโณทัยมีความสัมพันธ์กัน ทางเดียวที่จะรักษาบัลลังก์ของดารากุมารีไว้ได้ อโณทัยจึงยอมรับว่าหลงรักเจ้าหญิงจริง แต่เจ้าหญิงมิได้มีพระทัยตอบ แต่โทษของอโณทัยในครั้งนี้ก็คือประหารชีวิต ซึ่งอโณทัยก็ยินยอม เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีและบัลลังก์ของหญิงที่เขารักเอาไว้ โดยกำหนดวันประหารในวันประกอบพิธีขึ้นครองราชย์ ซึ่งในวันนั้นเองเป็นวันที่ดารากุมารี รับมงกุฎในฐานะราชินีแห่งยโสธรด้วยน้ำตา มงกุฎ และบัลลังก์ที่แลกมาด้วยชายอันเป็นที่รัก


โอ๊ย ไม่รู้ว่าทำไมชีวิตรักของเจ้าหญิงถึงได้เศร้ารันทดถึงเพียงนี้ ในขณะที่ดิฉันนั่งดูตอนอวสานของละครเรื่องนี้ น้ำตาก็ไหลพราก ๆ ยังกะญาติผู้ใหญ่เสีย ไม่ใช่เพียงความเศร้ารันทดในโศกนาฏกรรมแห่งความรักของคนทั้งสอง แต่ดิฉันสงสารพี่ติ๊กมาก ๆ สงสารอย่างจับใจ อยากจะเข้าไปปลอบ ฮือ ๆ แล้วดิฉันก็ก็นึกสาปแช่งทมยันตี ทำไม๊ทำไม ละครเรื่องไหน ๆ พระเอกก็ต้องตาย คู่กรรมก็หนหนึ่งแล้ว แล้วยังมาถึงเลือดขัตติยาอีก ไม่เห็นมีเรื่องไหนนางเอกตายบ้างเลย คอยดูนะ เมื่อไหร่ดิฉันเขียนนิยายเองได้ ดิฉันจะให้นางเอกตาย เหลือไว้แค่ผู้ชายหล่อ ๆ กับนางอิจฉาก็เป็นพอ อย่าลืมติดตามอ่านนะคะคุณผู้อ่านที่รัก


3


เอาหละค่ะมาว่ากันต่อที่เนื้อหาของละครดีกว่า ก่อนที่ดิฉันจะพูดแต่เรื่องพี่ติ๊ก ก่อนอื่นดิฉันขอพูดถึงเจ้าของบทประพันธ์เพื่อที่จะทำความเข้าใจในเรื่องบางเรื่องก่อนที่จะเข้าประเด็นของละคร ทมยันตี หรือในนามปากกาลักษณวดีในการเขียนเรื่องเลือดขัตติยานี้ ประเภทนิยายที่ลักษณวดีเขียนจะเป็นประเภทรักแบบจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่พระเอกนางเอกจะต้องเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายในเมืองหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ดั่งดวงหฤทัย เลือดขัตติยา มหารานี รัศมีจันทร์ ธุวตารา จักรพรรดินี มงกุฏที่ไร้บัลลังก์


ภายใต้เรื่องราวความรักจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่ลักษณวดีเขียนขึ้นนี้ มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอยู่สิ่งหนึ่งคือ character ของนางเอกของลักษณวดี ที่ต้องสวย (อย่างไร้ที่ติ ) ฉลาด (อย่างหาตัวจับยาก ) เย่อหยิ่งยโสนิด ๆ และมีความเป็นผู้นำ ที่พร้อมจะเป็นราชินี หรือผู้ที่ปกครองบ้านเมือง (โดยอาจจะไร้คู่เคียงกาย ) ซึ่งในนิยายทุกเรื่องที่ลักษณวดีเขียน ล้วนแต่แสดงภาพของผู้หญิงที่สวยและเก่ง ในบทบาทของเจ้าหญิงแสนซน ฉลาดเฉลียว และแข็งแกร่งที่พร้อมจะเป็นแม่ของเมือง และในเลือดขัตติยาก็เช่นเดียวกัน จึงอาจจะสรุปได้อย่างหยาบ ๆ ว่า นางเอกของลักษณวดีเป็นนางเอกที่ออกจะเป็นเฟมินิสต์ (หากในความหมายหนึ่งที่คนอื่น ๆ เข้าใจกันว่าเฟมินิสต์มีลักษณะเป็นผู้หญิงเก่งเช่นนางเอกของลักษณวดี) อยู่หน่อย ๆ (ดิฉันไม่ขอตีความคำว่าเฟมินิสต์นะคะ เพราะถ้าตีความคงต้องทะเลาะกันยาว)


ดังนั้นดิฉันจึงขอหยิบยกอุดมการณ์การแสดงภาพของผู้หญิงเก่งของลักษณวดีในละครเรื่องนี้มาดูกันว่า ผู้หญิงเก่งในสายตาของลักษณวดีเป็นอย่างไร จะเป็นเฟมินิสต์หน่อย ๆ อย่างที่เข้าใจกันหรือไม่ และขอออกตัวไว้ก่อนนะคะว่าดิฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทมยันตี (นอกจากการโกรธแค้นเธอที่ชอบเขียนนิยายรักให้พระเอกตายตอนจบทุกที) เป็นการส่วนตัว ข้อเขียนของดิฉันจึงเป็นเพียงแค่การทำงานในกรอบของชื่อคอลัมน์ก็เท่านั้นเอง เพราะที่จริงดิฉันล่ะช๊อบชอบอ่านงานเขียนของเธอ


ดารากุมารี เป็นเจ้าหญิงที่มีพระสิริโฉมงดงาม อีกทั้งยังฉลาดเฉลียว ตามแบบฉบับของนางเอกของลักษณวดี เธอดื้อรั้น ขบถต่อสถานะของตนเอง ด้วยความรักที่เกิดขึ้นกับชายหนุ่มผู้ต่ำศักดิ์กว่าอย่างอโณทัย ซึ่งเป็นความรักที่ก่อตัวขึ้นอย่างบริสุทธิ์ ไม่ได้มีสถานะความเป็นเจ้าหญิงเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ในเรื่องเลือดขัตติยา ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวเรื่องก็คือ การเชิดชู "ค่าของผู้หญิง" ที่ยอมเสียสละอย่างใหญ่หลวงในความรัก เพื่อที่จะปกครองบ้านเมือง


"เลือดขัตติยา" ซึ่งหมายถึง เลือดของหญิงผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพียงแค่ชื่อเรื่องก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นการสดุดี " ดารากุมารี" นางเอกของเรื่อง ตามคอนเซ็ปต์ผู้หญิงเก่งของลักษณวดี แต่เมื่อดูละครเรื่องนี้แล้ว ดิฉันขอเถียงอย่างขาดใจว่า เรื่องนี้หาได้เทิดทูนคุณค่าของผู้หญิงตามชื่อเรื่อง หรือตามคอนเซ็ปต์ของเรื่องแต่อย่างใดไม่ เลือดขัตติยาเป็นละครที่ว่าด้วยการเทิดทูนความรักของบุรุษเพศ ที่เป็นเพียงสามัญชนอย่างอโณทัยอย่างสูงสุด ในการเสียสละเพื่อก่อเกิด "เลือดขัตติยา"


จากเรื่องราวของละคร ไม่ว่าจะเกิดเรื่องเลวร้ายเพียงใด ผู้ที่เข้ามาแก้สถานการณ์ต่าง ๆ คืออโณทัย ในฐานะที่ปรึกษาขององค์รัชทายาท และเมื่อดารากุมารีขึ้นครองราชย์ ปัญหาเรื่องการคุกคามจากเขมรัฐ แผนการร้ายต่าง ๆที่เกิดขึ้น ล้วนคลี่คลายจากการใช้สติปัญญาของอโณทัยทั้งสิ้น การได้ขึ้นเป็นมกุฏราชกุมารีของดารากุมารีก็เป็นผลโดยตรงจากการใช้สติปัญญาของอโณทัย การตัดสินใจในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของดารากุมารี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการได้รับคำปรึกษาจากทหารคนสนิททั้งกายและใจซึ่งก็คือคืออโณทัยนั่นเอง จวบจนการตัดสินใจครั้งสุดท้ายเพื่อแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือความอยู่รอดของยโสธร ความบริสุทธิ์และศักดิ์ศรีของดารากุมารี ก็เป็นผลมาจากการเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนของอโณทัยเอง เพื่อที่จะให้ยโสธรอยู่รอด และให้ดารากุมารีขึ้นครองราชย์อย่างสวยงาม ความเป็น "ขัตติยา" ของดารากุมารี ความอยู่รอดของยโสธร ล้วนเกิดจากฝีมือของผู้ชายที่ชื่ออโณทัยทั้งสิ้น!


คอนเซ็ปต์ว่าด้วยการเชิดชูคุณค่าของผู้หญิงเก่ง ตามชื่อเรื่อง หรือตามแนวนิยายของลักษณวดี ของเรื่องเลือดขัตติยานั้น จึงเป็นเรื่องหลอก ๆ (หรืออาจจะเป็นเรื่องจริง ) เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ได้รับการเทิดทูนอย่างสูงสุดในเรื่องเลือดขัตติยานี้ คือความรัก ความเสียสละของผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งอย่างอโณทัย ที่มีต่อดารากุมารี ความเสียสละของเขา เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อบ้านเมือง และได้สร้าง "ผู้หญิงแกร่ง" คนหนึ่งขึ้นมาต่างหาก ความหมายของผู้หญิงแกร่งในเรื่องเลือดขัตติยา จึงเป็นผู้หญิงที่แกร่งได้ เพราะผู้ชายที่เก่งกว่า ดีกว่า ประเสริฐกว่า ยอมเสียสละชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดอันประเมินค่าไมได้เพื่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ผู้หญิงคนนี้ต่างหาก ผู้ชายหรือพระเอกในเรื่องเลือดขัตติยาจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการเชิดชูสูงสุด ไม่เพียงแค่ในเนื้อหาของความรัก การเสียสละเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเก่งกล้าสามารถ ฉลาดเฉลียว สติปัญญา และที่ขาดไม่ได้ ความหล่อเหลาอีกด้วย (อันหลังนี้ดิฉันเติมเอง )


ประเด็นหลักของเรื่อง "เลือดขัตติยา" จึงพลิกกลับมาอยู่ที่การเชิดชูบุรุษเพศอย่างอโณทัย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกับการเชิดชู "ความรักอันยิ่งใหญ่" ของผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งอย่างอโณทัยที่มีต่อเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ แม้กระทั่งยอมสละชีวิตให้ โอ๊ย ช่างยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้ แต่ดิฉันว่าไม่ค่ะไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกเหลวไหลทั้งเพ เรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่งในเรื่องเลือดขัตติยา ที่พลิกกลับมาเป็นประเด็นหลักนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้หาใช่ ความรักของอโณทัยที่มีต่อดารากุมารีไม่ มาค่ะมา มาอ่านละครเรื่องนี้ตามแบบฉบับรุ้งรวีกันดีกว่า


4


ดิฉันคิดว่าเรื่องราวในเลือดขัตติยา ไม่ใช่เรื่องราวความรักของผู้ชายอย่างอโณทัยที่มีต่อเจ้าหญิงดารากุมารี แต่เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีความใฝ่ฝัน (มักใหญ่ใฝ่สูง) ตามแบบฉบับของลูกผู้ชาย ในเครื่องแบบทหาร ที่ต้องการจะเป็นผู้ปกครอง (และอาจจะคิดว่าตนเองเป็นผู้ปกครองด้วย ) โดยผ่านการดำเนินเรื่องราวของความรักที่ใช้บังหน้านั่นเอง


จากละครจะเห็นว่า การปฏิบัติตนของอโณทัย มิใช่เป็นการปฏิบัติตนในฐานะทหารธรรมดา ที่ปรึกษาธรรมดา หรือการปฏิบัติตนในฐานะคนรักของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่อโณทัยกำลังสมมติตัวเองเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง (ที่ทรงธรรม) อโณทัยทุ่มเททุกอย่างในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ผ่านการให้คำปรึกษาแก่สิทธิประวัติ รัชทายาทอันดับหนึ่งที่อ่อนแอ ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายแบบทหารในแบบที่อโณทัยเป็นเลยสักนิด จนกระทั่งอโณทัยได้เข้ามาเป็นทหารคนสนิทของดารากุมารี ในขณะที่ดารากุมารีดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารี อโณทัยก็ใช้ "อำนาจ" ของตนในการจัดการผู้ที่คิดร้ายต่อบ้านเมือง "ด้วยตัวเอง" (power autonomy)


ทั้งวิธีการเยี่ยงทหาร การจับมาทรมานเพื่อเค้นหาความจริง การเล่นเกมทางการเมือง การใช้กำลัง อำนาจทางการเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้อโณทัยล้วนแต่ใช้อำนาจของตนจัดการ โดยที่ผู้ที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองอย่างแท้จริงอย่างดารากุมารีมิได้รู้เรื่อง หรือรู้เห็นความเป็นไปในบ้านเมืองเลยสักนิด ดังนั้น หากจะนิยามความหมายในทางปฏิบัติของผู้ปกครองบ้านเมือง ในการทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อโณทัยกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ โดยการสมมติตัวเองเป็นผู้ปกครองเสียเอง


สุดท้ายหากจะกล่าวว่า การเสียสละชีวิตของอโณทัยเป็นการเสียสละในนามแห่งความรักที่มีต่อดารากุมารีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดารากุมารี หรือเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ดูละครอาจจะคิดไปเอง เพราะแท้จริงแล้ว (ที่ดิฉันคิดเอาเอง) การเสียสละชีวิตของอโณทัยหาได้เพื่อความรักไม่ หาได้เพื่อตัวเจ้าหญิงไม่ แต่การตายของอโณทัยเป็นการตายเพื่อการดำรงอยู่ของ "รัฐ" ยโสธรต่างหาก เป็นการดำรงอยู่ของสถาบันการปกครองที่อโณทัยในฐานะทหารใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ปกครองแห่งรัฐ หาใช่การตายเพื่อความรัก หรือเพื่อดารากุมารีแต่อย่างใดเลย (หากดารากุมารีเธอรู้ความจริงเธอจะว่าอย่างไรเนี่ย?)


นัยยะ หรือความหมายของการตายของอโณทัย จึงเป็นการค้ำจุนการดำรงอยู่แห่งสถาบันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือรัฐนั่นเอง การเสียสละของอโณทัย จึงเป็นการเสียสละตามแบบฉบับของผู้ปกครอง หรือกษัตริย์ที่ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด อาทิ ไปออกรบแล้วตาย การตายของอโณทัยจึงเป็นการตายที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นการตายที่เทียบเท่าการตายอย่างเสียสละของกษัตริย์ เพื่อการอยู่รอดของแผ่นดิน ดังจะเห็นได้ว่าอโณทัยตายในขณะที่ดารากุมารีขึ้นครองราชย์ ชีวิตของอโณทัยจึงมีความหมายเท่ากับผืนแผ่นดินหรือรัฐนั่นเอง


ละครเรื่องเลือดขัตติยา จึงไม่ใช่ละครที่เทิดทูนคุณค่า ความสามารถของอิสตรี หรือความรักของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง แต่เลือดขัตติยาเป็นละครที่เทิดทูนความสามารถ สติปัญญาและความเสียสละของผู้ชายคนหนึ่ง ในนามของผู้เสียสละเพื่อให้ชาติดำรงอยู่


ดิฉันจึงมีความเห็นว่าควรจะเปลี่ยนชื่อละครเป็น "เลือดอโณทัย" มากกว่าที่จะเป็นเลือดขัตติยา เห็นด้วยไหมคะคุณผู้อ่านที่รักขา