Skip to main content

ไม่ดื่ม

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ บังเอิญผมได้ฟังรายการวิทยุช่วงเย็นรายการหนึ่ง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ "กำนันหญิงรัตนา สารคุณ" จากจังหวัดอำนาจเจริญ ช่วงที่ผมหมุนมาฟังนั้น รายการได้เริ่มดำเนินไปแล้ว และผู้ดำเนินรายการก็ไม่ได้บอกในตอนท้ายว่า เป็นกำนันตำบลใด และอำเภอใดของจังหวัดอำนาจเจริญ

ความน่าสนใจของการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ กำนันหญิงรัตนาผู้นี้ คือแกนนำคนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในตำบลซึ่งประกอบไปด้วย 14 หมู่บ้าน เลิกดื่มเหล้ากันได้แบบยกหมู่บ้าน ยกตำบล ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง งานประเพณีต่างๆ ซึ่งมีค่านิยมเรื่องต้องเลี้ยงสุรายาเมากันจนเป็นเรื่องปกติ กำนันรัตนามีส่วนสำคัญที่ทำให้งานประเพณีเหล่านี้ ไม่ต้องเลี้ยงเหล้า-เบียร์ อีกเลย


กำนันรัตนาบอกว่า ก่อนที่จะทำให้ชาวบ้านหันมาเลิกเหล้ากันได้นั้น ตัวแกเองก็เป็นคนดื่มเหล้า ดื่มมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ (สามขวบ) เพราะเวลาตามยายไปงานต่างๆ ยายก็จะเหลือเหล้าก้นแก้วไว้ให้แกจิบ แกจึงคุ้นเคยกับการดื่มตั้งแต่บัดนั้น และดื่มมาตลอดจนกระทั่งเป็นกำนันก็ยังไม่เลิก แต่แล้ววันหนึ่ง แกก็มาคิดได้ว่า การดื่มเหล้านั้นทำให้ตัวแกเอง พูดในสิ่งที่ไม่สมควรพูด และทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ หลายต่อหลายครั้ง ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว มันยิ่งน่าเกลียดเข้าขั้นที่ต้องเรียกว่า "ทุเรศ" เลยทีเดียว คิดได้อย่างนั้น แกก็ตัดสินใจหักดิบ เลิกเหล้าด้วยตนเอง


เมื่อแกเลิกเหล้าแกก็รู้สึกว่า ทำเรื่องผิดพลาดน้อยลง มีสติมากขึ้น ทำการงานทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อแกเลิกยุ่งเกี่ยวกับสุรายาเมาแล้ว ได้ปรากฎว่า ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน ก็ได้เริ่มทยอยเลิกเหล้าตามแกไปด้วย หลายคนตั้งใจว่าจะเลิกอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครนำให้เห็น หลายคนก็ไม่ใช่ขาประจำ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เวลาเข้าสังคม เมื่อเห็นกำนันเลิกเหล้า ผู้ใหญ่บ้านก็เลยมั่นใจที่จะเลิกตามบ้าง แล้วเมื่อผู้ใหญ่บ้านเลิกเหล้า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เลิกตามด้วย ! ในที่สุดผู้นำของทั้งตำบล อันได้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เลยกลายเป็นกลุ่มคนเลิกเหล้าแรกสุดของชุมชน


กำนันหญิงรัตนา เล่าว่า ในการประชุมกันในระดับตำบลครั้งหนึ่ง ได้พูดคุยกันเรื่องปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ผ่านมา ตั้งแต่อย่างเบาะๆ คือ การทะเลาะวิวาทไม่ว่าจะในวงเหล้าหรือในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาแรงๆ อย่างอุบัติเหตุ, การตีรันฟันแทง, ข่มขืน ไปจนถึง ฆ่ากันตาย ปรากฎว่า ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราแทบทั้งสิ้น ทุกครั้งที่เกิดเหตุ ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งต้องดื่มสุราจนมึนเมามาก่อน หรือไม่ก็ดื่มเป็นประจำจนสภาพร่างกายและจิตใจไม่ปกติ โดยเฉพาะกรณีหนึ่งที่น่าสะเทือนใจมาก คือมีครอบครัวหนึ่ง ที่แม่เสียชีวิต เหลือแต่พ่อกับลูกสาว 3 คน ผู้เป็นพ่อดื่มสุราทุกวัน และได้ก่อเหตุข่มขืนลูกสาวทั้งสามคนของตัวเอง


ดังนั้น ผู้นำชุมชนทุกคนจึงเห็นด้วยต่อข้อสรุปที่ว่า การดื่มเหล้าคือต้นเหตุของปัญหาสังคม การแก้ปัญหาจึงควรเริ่มต้นที่สาเหตุนั่นคือ การลดละการดื่มเหล้าของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด พวกเขาทำอย่างไรครับ ไปชักชวนให้คนเลิกดื่มเหล้า หรือ ประกาศโครงการ งดเหล้ากันเถอะ อะไรทำนองนี้หรือเปล่า กำนันหญิงรัตนา ดำเนินการแนบเนียนกว่านั้นครับ เพราะแกมีเหตุผลว่า คนเขากินกันมาตั้งนาน จู่ๆ จะให้เลิกเลยมันเป็นเรื่องยาก ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า เลิกเหล้าเถอะ อาจไม่ได้ผล จึงใช้วิธีอ้อมๆ โดยตั้งเป็นโครงการ ชุมชนอยู่ดีมีสุข แทน และให้ทุกคนมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร สังคมของเรา ทุกคนจึงจะมีความสุข


โครงการนี้มีแกนนำคือผู้นำชุมชนทุกคน กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่น ครู นักเรียน สาธารณสุข พระ ทุกฝ่ายต่างกระตืนรือร้นที่จะให้ความร่วมมือ ช่วยกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ มีกิจกรรมหนึ่งที่น่ารักมาก คือ นักเรียนได้จัดการแสดงละครที่สะท้อนปัญหาสังคมอันเกี่ยวเนื่องมาจากการดื่มเหล้าให้ชาวบ้านได้ชม เนื้อเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน


เอาละสิครับ – เด็กๆ เขาสะท้อนปัญหาที่ผู้ใหญ่ก่อให้เห็นกันแบบนี้ ไม่สะอึกก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว




อีกกิจกรรมหนึ่ง ที่เข้าท่ามาก นั่นคือการรุกเข้าไปถึงงานบุญ งานประเพณี ซึ่งแน่นอนละว่า ไม่ว่างานไหนๆ ก็ต้องมีเหล้ามีเบียร์เป็นส่วนประกอบ อาจจะด้วยความเคยชิน หรือเพราะเหตุผลในการเลี้ยงดูแขกและผู้มาช่วยงานก็แล้วแต่ (ซึ่งกลุ่มหลังนี้อาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ในบางชุมชน) แต่เขาทำกันแบบนี้ครับ คือทดลองให้งานๆ หนึ่ง ไม่มีการเลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์เลย และให้ชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร ไปช่วยงานแทน ขณะที่อีกงานหนึ่ง ซึ่งจัดในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่จัดให้มีการเลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์ตามปกติทุกประการ ผลปรากฎว่า เมื่อเสร็จสิ้นงานแล้ว งานที่ไม่มีการเลี้ยงเหล้าเบียร์นั้นเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท และการจัดงานก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย เรียบง่าย รวดเร็วไม่มีการ "ป่วน" จากคนเมาแต่อย่างใด ขณะที่อีกงานหนึ่งเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาท ใช้เวลาจัดงานประมาณ 3 วัน เมื่อเลิกงานแล้วก็คงจะเต็มไปด้วย คนเมา ขวดเหล้า ขวดโซดา อย่างที่รู้ๆ กันอยู่


เมื่อคนในชุมชนเลิกดื่มเหล้ากันมากขึ้น สังคมโดยรวมก็มีปัญหาน้อยลง เปรียบเทียบเห็นได้ชัดจากการทำงานของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก่อนเริ่มโครงการ ปีหนึ่งๆ ผู้ใหญ่บ้านต้องคอยไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทของคนในชุมชน หรือต้องรับทราบกรณีเกิดคดีอาญาต่างๆ นับสิบนับร้อยเรื่อง แต่เมื่อดำเนินโครงการผ่านไปได้ประมาณ 1 ปี ผู้ใหญ่บ้านแทบจะไม่มีปัญหาให้ต้องตามไกล่เกลี่ยเลย


เมื่อคนในครอบครัวเลิกดื่มเหล้า ปัญหาในครอบครัวก็ลดน้อยลง แม่บ้านมีเงินเก็บมากขึ้น เด็กๆ มีเงินไปโรงเรียน สุขภาพจิตของทุกๆ คนก็ดี ประสิทธิภาพในการทำงานก็ดีกว่าเดิม คุณภาพชีวิตของทุกๆ คนก็ดีขึ้นกว่าเดิม


โครงการของกำนันหญิงรัตนา และชุมชน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ประสบความสำเร็จขนาดไหน ก็คิดดูเถิดว่า มีผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศขอไปศึกษางานกันแทบไม่ได้ว่างเว้น ไม่ว่าจะเชียงใหม่, ลำพูน, ชุมพร, นครราชสีมา ฯลฯ กลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่พัฒนาตนเองด้วยการเริ่มต้นเลิกเหล้า


ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกชื่นชมยินดี ท่ามกลางเรื่องแย่ๆ ข่าวร้ายๆ ที่ได้ยินในทุกๆ วัน ก็ยังมีเรื่องดีๆ ให้ได้ยินได้ฟังกันอยู่


เมื่อก่อนนี้ ผมเองก็เป็นขาประจำคนหนึ่งของเครื่องดื่มมึนเมาทุกประเภท ดื่มมาตั้งแต่สมัยเรียมหาวิทยาลัย เมาถึงขนาดอ้วกในงานแต่งงานของเพื่อนก็เคยมาแล้ว ดื่มมาตลอดและไม่เคยคิดจะเลิกดื่ม จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการดื่ม แม้จะไม่ถึงกับเมา แต่ก็พูดไม่ได้ว่าสติเต็มร้อย ประกอบกับระยะหลังๆ ผมดื่มแล้วมีอาการตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ ตื่นเช้าแล้วคอแห้งเป็นผง ทำอะไรไม่ได้อยู่ครึ่งค่อนวัน หลายครั้งหลังการดื่ม รู้ตัวว่ามีอาการจิตตก ซึมเศร้า หดหู่ อย่างไม่มีสาเหตุ วันหนึ่ง ผมจึงตัดสินใจเลิกดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกประเภท


สองเดือนที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้นเยอะ มีสมาธิยาวนานขึ้น ทำอะไรผิดพลาดน้อยลง คิดอะไรในทางบวกมากขึ้น มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ไม่ต้องทุกข์เพราะตังค์ไม่พอใช้ตอนสิ้นเดือน ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เมื่อไม่ดื่มแล้ว ความคิดที่จะไปเที่ยว ไปนั่งตามร้านเหล้า หรือไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ก็หายไปจากความคิดด้วย ถ้าถามว่ายังมีคนชวนผมดื่มอยู่หรือไม่ ตอบได้เลยว่า มี แต่เมื่อผมปฏิเสธแล้ว ทุกอย่างก็จบ เขาอาจจะบ่นว่าผมเปลี่ยนไป แต่ผมรู้ว่าผมต้องการจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา เหล้ากับเบียร์มันไม่เคยช่วยให้ชีวิตผมดีขึ้นได้เลย ตรงกันข้าม ยิ่งกินยิ่งแย่


เรื่องอย่างนี้พูดยากครับ สำหรับคนที่ยังดื่มอยู่ คนรอบตัวผมอย่างเพื่อนสนิททุกคนก็ยังไม่เลิกดื่ม แต่การดื่ม-ไม่ดื่ม สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่ตัวเรานั่นละครับ ไม่มีใครมาบังคับให้เราดื่มหรือไม่ดื่มได้ นอกจากเราจะทำเอง ถ้าคิดว่ายังมีความสุขกับการดื่มอยู่ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่า การดื่มไม่ได้ทำให้ชีวิตมันดีขึ้น หรืออาจแย่ลงไปเรื่อยๆ ก็เลิกเสียเถิดครับ และถ้าเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา แต่ควรเลิกเป็นการถาวรไปเลย


ไม่สายเกินไปหรอกครับ ที่จะเลิกเหล้าเลิกเบียร์เสียตั้งแต่บัดนี้ ชีวิตหลังจากเลิกยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความสุขมากกว่าตอนที่ยังดื่มอยู่จริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่รวมไปถึงคนที่รักเราด้วย