Skip to main content

โรงไฟฟ้าปลอดมลพิษ ทำไมจึงเกิดไม่ได้ในบ้านเรา

คอลัมน์/ชุมชน

บทความนี้มี 2 ส่วนครับ ส่วนแรกว่าด้วยเรื่อง เมื่อพลเมืองไทยไม่ให้ความสนใจ ผู้มีอำนาจก็เลือกสร้างแต่โรงไฟฟ้าที่เขาชอบ ส่วนที่สอง มุ่งตอบคำถามว่า ทำไมประเทศในแถบยุโรปจึงสามารถสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม ได้

ผู้มีอำนาจในบ้านเรามักอ้างว่า ลมในบ้านเราไม่แรงเท่าในยุโรป จึงทำกังหันลมไม่ได้ แต่กรณีแสงอาทิตย์ ทั้งๆที่ในยุโรปมีแสงแดดน้อยกว่าในบ้านเราตั้งเยอะ แต่ทำไมยุโรปจึงทำได้?

ส่วนแรก เมื่อพลเมืองไทยไม่ให้ความสนใจ


ช่วงนี้ "ประชาไท" ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการประท้วงของชาวบ้านรอบๆ โรงไฟฟ้าบ่อยมาก เช่น ชาวปากช่อง ราชบุรี กว่า 500 คน ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด โดยให้เหตุผลว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชสวนได้ตามปกติ น้ำฝนก็บริโภคไม่ได้ (25 ..)


ต่อมาอีกไม่ถึง 7 วัน ประชาไท ก็รายงานว่า กลุ่มชาวบ้านอำเภอจะนะ พบปลาที่บริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาตายลอยเป็นแพ (31 ..)


ล่าสุด (1 สิงหาคม) ประชาไทก็รายงานอีกว่า "คนแม่เมาะจี้รัฐบาล เร่งฟื้นฟูสุสานหอยอายุ 13 ล้านปี" ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครอง ที่ผู้ถูกฟ้องพยายามนำถ่านหินในสุสานหอยไปผลิตกระแสไฟฟ้า


นี่ยังไม่นับรวมถึงการประท้วงอย่างต่อเนื่องยาวนานของชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ในฐานะที่ผมให้ความสนใจเรื่องไฟฟ้าเรื่องพลังงานเป็นพิเศษ ผมขอชื่นชมทีมงานประชาไทเป็นอย่างมาก ที่ได้เกาะติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในสื่ออื่นๆ


กล่าวเฉพาะในหมู่แฟนๆ ของประชาไทเองก็เถอะ ผมสังเกตมานานแล้วว่า บทความที่เกี่ยวกับพลังงานของผมเองก็ได้รับการ "เปิดอ่าน" ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเด็นทางสังคมหรือการศึกษาที่ผมเขียนเอง


ที่กล่าวมานี้ ผมไม่ได้น้อยอกน้อยใจแต่ประการใด หรือไม่ได้นำบทความของผมไปเปรียบเทียบกับนักเขียนท่านอื่นๆ แต่ผมเปรียบเทียบกับตัวผมเอง


เมื่อสื่อให้ความสำคัญในการนำเสนอเรื่องพลังงานน้อย บวกกับจำนวนผู้สนใจศึกษา (ผู้อ่าน) มีจำนวนน้อยด้วยแล้ว ผู้มีอำนาจในการตัดสินเรื่องพลังงานก็สามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ


ล่าสุด ใน "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า" หรือที่เรียกว่า "แผนพีดีพี 2007" จึงเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมลพิษ เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ที่นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทยด้วย


คุณเจริญ วัดอักษร ได้กล่าวประโยคที่สะท้อนความจริงได้อย่างคมคายว่า "ในสมองของผู้มีอำนาจนั้น มีแต่ถ่านหิน"


แต่ที่อาการหนักกว่านั้น ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเกรงจะเป็นดั่งที่คุณเจริญว่าหรือไม่ ใน "แผนพีดีพี 2007" จึงได้กำหนดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 พันเมกะวัตต์ ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ข่าววงในลือกันแซดว่า "คงจะสร้างที่อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร" เพราะติดทะเล คนชั้นกลางในเมืองตลอดทั้งนักวิชาการที่ผมได้สัมผัสด้วย มักจะอ้างเสมอว่า "การพัฒนาก็ต้องได้อย่างเสียอย่าง ถ้าไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าก็กลับไปอยู่ถ้ำหรือใช้ตะเกียงซิ" เรียนตามตรงว่า ผมไม่เคยถือโกรธคนเหล่านี้ เพราะข้อมูลที่เขาได้รับผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากมักจะเป็นอย่างนั้น


ส่วนที่สอง ทำไมประเทศในแถบยุโรปจึงสามารถสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลมได้


เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมขอถือโอกาสนำข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ โดย Erik Kirschbaum เมื่อวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2550 รายงานจากกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี สามารถค้นได้จาก (http://www.reuters.com/article/scienceNews/idUSL2389939520070730?feedType=RSS) อีริก รายงานว่า "ในเยอรมนีมีฝนตกตลอดทั้งปี ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยเมฆถึง 2 ใน 3 ของตอนกลางวัน แต่ประเทศเยอรมนีก็ยังสามารถจัดการจนกลายเป็นประเทศแนวหน้าของโลกที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์"


"ปัจจุบันประเทศเยอรมนีสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพียง 3% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ แต่รัฐบาลมีความต้องการจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 27% ภายในปี พ.. 2563 จากที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน 13% "


ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านคงไม่สับสนกับตัวเลขนะครับ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 13% นั้นรวมถึงพลังงานหมุนเวียนทุกชนิด ทั้งพลังงานลม ไบโอดีเซล เป็นต้น


อีริก รายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศที่มีฝนตกมาก เมฆมากอย่างเยอรมนีได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ก็เพราะกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า EEG (ไม่ทราบว่าในภาษาเยอรมนีย่อมาจากอะไร แต่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า กฎหมายพลังงานหมุนเวียน Renewable Energies Act)


ปัจจุบันมีแผงพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 3 แสนระบบ ทั้งๆที่ทางกฎหมายคาดว่าจะมีเพียง 1 แสนระบบเท่านั้น แผงโซลาร์เซลได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ (แต่จะคงน้อยการแพร่ของจตุคามรามเทพในประเทศ ไทยมั๊ง!) ไปอยู่บนหลังคาของเจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการขนาดเล็ก พลังงานที่เจ้าของบ้าน และเจ้าของกิจการเหล่านี้ผลิตได้ กฎหมายได้บังคับไว้ว่า บริษัทที่ทำกิจการไฟฟ้า (ผู้ผลิต ผู้กระจายในสายส่ง) ต้องรับซื้อทั้งหมดอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 20 ปี ในราคาที่ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของราคาไฟฟ้าในตลาด


นี่เป็นขบวนแถวหน้าของการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน


"มันเป็นการเติบโตที่รวดเร็วเกินกว่าใครคาดคิดมาก่อน" คุณ Juergen Trittin อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม (จากพรรคกรีน) ผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวกับนักข่าวรอยเตอร์


ในด้านราคาและปริมาณการผลิต คุณอีริก เล่าว่า ปัจจุบันพลังงานจากแสงอาทิตย์ในประเทศเยอรมนีสามารถผลิตได้ถึง 3 พันเมกกะวัตต์ มากกว่าในปี พ.. 2533 ถึง หนึ่งพันเท่าตัว ผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวว่า "การตัดสินใจทางการเมืองในปี 2533 ได้ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการหล่อลื่นให้คนธรรมดาๆ สามารถติดเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านตนเองได้"


หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้า (feed- in tariff) ที่บริษัทกิจการไฟฟ้าต้องรับซื้อในราคาหน่วยละ 49 เซนต์ยูโร (ประมาณ 25 บาท) ผลตอบแทนของผู้ลงทุนดีกว่าการนำเงินไปฝากธนาคาร โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 10 ปี



โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาด 25 ไร่ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี
ภาพจากรอยเตอร์ - อ้างแล้ว


ในบ้านเราก็มีการชดเชยราคาสำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ ในอัตราหน่วยละ 8 บาทสำหรับพื้นที่ทั่วไป และ 9 บาทสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้


เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งอยู่ในวงการนี้บอกผมว่า กิจการนี้ไม่สามารถคุ้มทุนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย


ดูราวกับว่า ผู้มีอำนาจเชิงนโยบายทั้งหลาย มีความจงใจไม่ให้พลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้น คงต้องการให้มีแต่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ เท่านั้น


เมืองไทยเรานี้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่สิ่งเลวๆ เต็มบ้านเต็มเมืองครับ พลเมืองที่ตื่นรู้โปรดช่วยกัน ๆ.