Skip to main content

ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง (1)

คอลัมน์/ชุมชน

ป่า โพ ควา ชอ ฮี่ เม่ เซ  ฮี่ ชิ นะ เกโดะ ธ่อ เซ
ถ้าลูกหลานดูแลชุมชนเป็น แม้ชุมชนเล็กก็มีพลัง

(ธา-บทกวีคนปกาเกอะญอ)

ชุมชนปกาเกอะญอมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยปราศจากการสัมพันธ์ภายนอก ในทางตรงกันข้ามมีการปะทะสังสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกโดยตลอด จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขตามยุคสมัยนั้น ๆ


ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เฒ่าคนในชุมชนปกาเกอะญอแห่งหนึ่งเกี่ยวกับทัศนะของคนปกาเกอะญอที่ ได้มองการเปลี่ยนแปลงของชุมชนครั้งสำคัญ โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาเป็นยุค ตามความเห็นของชุมชนปกาเกอะญอ ซึ่งน่าสนใจมาก ผมจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง


ยุคแรกในมุมมองของคนปกาเกอะญอเรียกว่า ยุคหมื่อบอทูดิ หรือยุคดั้งเดิม คนปกาเกอะญอมองยุคดั้งเดิมของตนเองเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้วว่าเป็นยุคแห่ง หมื่อ บอ ทู ดิน คำว่า "หมื่อบอ" แปลว่า ดวงอาทิตย์เหลืองอร่าม คำว่า "ทูดิ" แปลว่า ทองคำออกไข่ ซึ่งถ้าแปลความหมายตามทัศนะของคนปกาเกอะญอคือ เป็นยุคสมัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ บนฟ้ามีฝน ในป่ามีต้นไม้และสัตว์ป่า ในลำธารมีน้ำและสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์



ในชุมชนมีคนอาศัยอยู่อย่างมีสุขบนความพอเพียงตามวิถีแบบคนปกาเกอะญอ ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ มีการดำรงชีวิตตามจารีตวิถีประเพณีอย่างเคร่งครัด มีผู้อาวุโสนำโดย ฮี่โข่ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนตามประเพณีที่เข้มแข็ง คนในชุมชนต่างให้ความเคารพนับถือ


เมื่อมีการประพฤติผิดรีตต้องมีการ "มา เกย์ ต่า" ซึ่งเป็นพิธีแก้หรือขอขมา ก่อนมีการใช้ดิน ใช้น้ำ ใช้ป่า ต้องมีการทำพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด มีความเชื่อและมีการเคารพเกรงกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครอง ดิน น้ำ ป่า ไม่กล้าละเมิดพื้นที่ศักดิ์สิทธ์หรือพื้นที่ต้องห้าม


มีการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวาอารักษ์ที่ช่วยคุ้มครองพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ หากใครละเมิดกฎเกณฑ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะได้รับบทลงโทษจากเทวาอารักษ์ ทำให้ทำมาหากินไม่ได้ สุขภาพไม่ดี หรืออาจถึงขั้นถึงชีวิต มีทรัพยากรธรรมชาติใช้อย่างเหลือเฟือ ซึ่งมีความเชื่อว่าคนไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติแต่มีสิทธิในการใช้และดูแล ซึ่งสิทธิในการใช้และดูแลนี้สามารถเปลี่ยนได้โดยให้เป็นมรดกสืบทอดสู่ลูกหลาน


เศรษฐกิจชุมชนในยุคหมื่อ บอ ทู ดิ ชุมชนมีการพึ่งพาตนเองตลอดทั้งหมด ยกเว้น เกลือที่ต้องไปหาจากที่อื่น เนื่องจากไม่สามารถผลิตเองได้ ชุมชนจึงต้องมีการไปแลกเกลือกับของป่าหรือสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย บ้าง


การผลิตหลักของชุมชนในยุคหมื่อบอทูดิ คือการผลิตในระบบไร่หมุนเวียน มีรอบในการหมุนเวียนมากกว่า 20 ปี มีการปลูกพืชผักและเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ในไร่หมุนเวียนมากมาย เช่น ฟักแตง ถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน หอมต่าง ๆ ฯลฯ การเก็บหาของป่าตามฤดูกาลเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน ดั่งที่ผู้เฒ่า  ผู้อาวุโส ในชุมชนกล่าวว่า ลอ ที่ โกะ ออ บะ ต่า เนอ ชี  ถ่อ เก่อ เจ่อ ออ บะ ต่า เนอ โค  หมายความว่า เมื่อลงไปที่ลำห้วยจะได้กินของที่มีกลิ่นคาว เมื่อขึ้นบนบกได้กินของที่มีกลิ่นสาปไหม้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ 


มีการเลี้ยงสัตว์บ้าง เช่น ไก่ หมู วัว ควาย เพื่อไว้กินและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณี วัวในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า "ต่า เตอะ" แปลว่า บรรทุก เนื่องจาเป็นสัตว์ที่ใช้ในการบรรทุกของเช่น ข้าว เกลือ ส่วนควายในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า "เปอ หน่า" แปลว่าเข้าใจหรือเชื่อง เนื่องจากใช้เป็นแรงงานในการไถนาต้องสื่อสารเป็นภาษามนุษย์ให้ไปซ้ายหรือขวาควายก็จะไปตามคำสั่ง และสัตว์เลี้ยงนี้เลี้ยงเพื่อไปแลกกับเกลือในชุมชนเมืองด้วยเช่นกัน  


นอกจากการทำไร่หมุนเวียนแล้ว การทำนามีเพียงไม่กี่แห่ง เนื่องจากพื้นที่ในการทำนาโดยอาศัยร่องน้ำธรรมชาติที่เหมาะสมมีน้อย แต่ก็มีคนทำนา เช่น นายยาพอ ซึ่งเป็นฮี่โข่มีที่นาท้ายหมู่บ้านทำมา 100 กว่าปีแล้วโดยใช้ควายไถนา 


ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแน่นแฟ้น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน มีการลงแขกเอามื้อเอาวันแลกเปลี่ยนแรงงานกันในชุมชนหรือที่คนปกาเกอะญอเรียกว่า "ต่า มา ดอ มา กะ"   


เมื่อมีเด็กเกิดในชุมชน คนในชุมชนจะหยุดทำงาน 1 วันหากใครไปทำงานจะทำการงานที่ทำนั้นไม่ได้ผลในปีนั้น บิดาของเด็กต้องนำสายรกที่ถูกตัดแล้ว ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ นำไปผูกติดกับต้นไม้ที่มีลำต้นแข็งแรงในบริเวณป่าเดปอหรือป่าสะดือ โดยห้ามคนในชุมชนโค่นต้นไม้ต้นนั้นเด็ดขาด เพราะเชื่อว่า ขวัญของเด็กอยู่ในต้นไม้ต้นนั้น ถ้าโค่นต้นไม้อาจทำให้เด็กไม่สบายหรือเสียชีวิตได้  


เมื่อหนุ่มสาวโตขึ้นและแต่งงาน ต้องมีการไปแต่งงานที่บ้านของฝ่ายหญิง โดยในพิธีแต่งงานนั้น จะมีการเชิญคนในชุมชนและเครือญาติของเจ้าบ่าว เจ้าสาวในชุมชนอื่นมาร่วมทำพิธีผูกข้อมือร่วมกัน ทำให้มีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นด้วย พิธีการแต่งงานนั้นคนปกาเกอะญอเรียกว่า "ต่า ถ่อ ปว่า" ซึ่งแปลว่า การก้าวสู่วัยแห่งผู้ใหญ่ ต้องสืบทอดความเป็นพ่อ แม่ ต้องสืบทอดสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ สิ่งที่ผู้ใหญ่คิด และสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็น


เมื่อมีการตายเกิดขึ้นในชุมชนจะมีการสวดศพไว้ 3 คืน ห้ามคนในชุมชนออกไปตัดไม้หรือล่าสัตว์เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน เชื่อว่าขวัญและวิญญาณผู้ตายกำลังถูกส่งไปเกิด การเข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์เท่ากับเป็นการขัดขวางทำลายดวงวิญญาณไม่ให้ไปเกิด ก่อนจะมีการไปเสียศพต้องให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องทั้งในชุมชนเดียวกันและชุมชนอื่นมาให้ครบถึงจะไปทำการเสียศพได้


ในรอบปีจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการรวมชุมชนให้เป็นปึกแผ่น เช่น พิธีขึ้นปีใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ พิธีผูกข้อมือก่อนฤดูการเพาะปลูก เพื่อให้คนในชุมชนได้มีกิจกรรมที่เชื่อมคนทั้งชุมชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้เฒ่า ผู้แก่ ได้อยู่ด้วยกัน ได้กินด้วยกัน และร่วมกันทำให้คนในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียว อยู่ด้วยกันอย่างมีความรักใคร่ เอ็นดู ประคับประคองชุมชนให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างสงบสุข