Skip to main content

Ice Bar – This world’s not too cold

คอลัมน์/ชุมชน

โรงน้ำชา



ภาพเด็กชายผมม้าเต่อหน้าตาเด๋อด๋าสะพายถังไอติมยิ้มร่าบนโปสเตอร์ที่ออกแบบมาให้ดูคล้ายกระดาษเก่าๆ มีรอยพับยับย่นหน้าโรงหนังลิโด้ มาพร้อมกับคำโปรย "840 ice bars are all it takes to find my father!" กับชื่อเรื่องตัวโตสีแดงสดด้านล่างอ่านได้ชัดเจนว่า "Ice Bar ไอติม อิ่มอุ่น"


ผมมองผ่านโปสเตอร์หนังเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้งแต่มันยังไม่ดึงดูดใจและสายตาให้สั่งฝ่ามือไปควักธนบัตรฉบับละร้อยบาทแลกตั๋วกระดาษเข้าไปนั่งชม เพราะรู้สึกว่านี่มันก็คงเป็นหนังเด็กทำซึ้งอีกเรื่องที่เดินมาตามสูตร เอื่อยๆ เนือยๆ แล้วสุดท้ายก็จบลงด้วยสูตรเดิมๆ


จนวันหนึ่งมีเหตุให้ผมต้องซื้อไอติมแท่งนี้เป็นเครื่องมือฆ่าเวลาอันแสนมีค่า ถึงได้รู้ว่า "Ice Bar (Aiseu-keki)" หนังปี 2006 จากเกาหลีใต้เรื่องนี้มีมากกว่ารสชาติ "หวานเย็น" …และทำให้กิจกรรมฆ่าเวลาครั้งนี้มีคุณค่าและไม่น่าเสียดายอย่างที่คิด


หนังไม่ใช้เวลามากมายในการแนะนำคนดูให้รู้จักกับ "ยองแร" เด็กชายตัวเล็กอายุประมาณ 10 ขวบที่อาศัยอยู่กับแม่ผู้มีอาชีพขายเครื่องสำอางหนีภาษีและต้องมีเรื่องมีราวกับตำรวจอยู่บ่อยๆ



ชีวิตของยองแรและแม่ไม่ได้สุขสบายมากนัก อาศัยบ้านแบ่งเช่าที่เจ้าของเป็นผู้หญิงเขี้ยวๆ การงานของแม่ไม่มั่นคง ค่าเทอมยังไม่ได้จ่ายแม้วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดภาคเรียน


แม้ชีวิตของยองแรจะยากลำบาก แต่นั่นมันก็ยังดีกว่าเพื่อนกำพร้าที่ต้องเร่ขายไอติมแท่งเลี้ยงชีพไปด้วยเรียนไปด้วยซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับยองแรในเวลาต่อมา


วันหนึ่ง ด้วยความบังเอิญและความเมาของเพื่อนแม่ ยองแรจึงได้รู้ว่าพ่อของเขาอยู่ที่กรุงโซล ซึ่งราคาตั๋วรถไฟจากชนบทที่เขาอาศัยอยู่ไปกรุงโซลนั้นแพงจนเด็กชายตะลึง


ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการเจอหน้าพ่อเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเขาไม่ใช่ "เด็กไม่มีพ่อ" อย่างที่ใครๆ ว่ากัน กลายมาเป็นความมุ่งมั่นที่ทำให้ยองแรแบกถังใบใหญ่ฝ่าไอแดดในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ขายไอติมเก็บเงินไปหาพ่อ...พ่อที่ทุกคนรวมทั้งแม่บอกว่าเขาไม่มี


หนังตรึงคนดูด้วยการถ่ายภาพและจัดแสงอันแสนประณีต สวยและให้ความรู้สึกอบอุ่น



ตั้งแต่เปิดเรื่อง พร้อมการแสดงอันลื่นไหลไร้จริตของ ปาร์ค จิ-บิน ดาราเด็กผู้รับบทยองแรที่ทำให้เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะรักในตอนแรก เนื่องด้วยสภาพชีวิตที่ข้นแค้น ยองแรจึงถูกหล่อหลอมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและห่ามห้าวจนดูคล้ายเด็กก้าวร้าวเกเร ไม่มีสัมมาคารวะ และไม่น่ารักเอาเสียเลย อีกสองตัวละครหลักคือแม่ที่ยังดูสาวจนแม้ไม่บอกปูมหลังเราก็คงเดาได้ว่าเธอคงเคยเป็นหญิงสาวชาวบ้านที่คิดน้อยจนมีลูกตั้งแต่ยังเด็กแถมยังทะเลาะกับลูกได้เป็นประจำ รวมทั้งตัวละครเพื่อนกำพร้าผู้แสนดี ซึ่งทั้งคู่ทำหน้าที่ได้ดีจนเราเชื่อและอินไปกับภาพที่เห็นตรงหน้าได้ไม่ยากเย็น


แม้เรื่องราวบางช่วง...ย้ำ...แค่บางช่วง จะเป็นไปตามสูตรหนังซึ้ง แต่ผู้กำกับและบท


ภาพยนตร์ก็มีของมากพอที่จะทำให้เรื่องที่ดูแสนจะธรรมดาอย่างการ "ขายไอติมเก็บเงินไปตามหาพ่อ" ไม่ออกมาน้ำเน่าและเฉิ่มเชยแม้จะเป็นเรื่องราวในอดีตก็ตาม


ที่สำคัญ การแสดงของปาร์ค จิ-บิน ที่ทำให้เราแอนตี้กับความก้าวร้าวของยองแรในตอนแรกๆ แต่เมื่อหนังดำเนินเดินหน้าไปในแต่ละนาที ปาร์ค จิ-บินกลับค่อยๆ ละลายความรู้สึกให้คนดูรัก ผูกพัน และอาจถึงขั้นเสียน้ำตาให้เด็กน้อยคนนี้อย่างสุดหัวใจได้ในท้ายที่สุด



แม้เส้นเรื่องหลักจะเป็นเรื่องราวของเด็ก แต่เรื่องราวอื่นๆ ที่มีอยู่ใน Ice Bar สามารถเป็นย่อหน้าเล็กๆ ในบันทึกสั้นๆ ที่บอกเล่าสภาพสังคมเกาหลีในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในชนบทที่บอกให้เรารู้ผ่านความรู้สึกเป็นสุขราวขึ้นสวรรค์ของเด็กๆ เพียงเมื่อได้ลิ้มรสไอติมหวานเย็นแท่งเล็กๆ สังคมผู้ใหญ่ที่หวาดหวั่นระแวงระวังลัทธิคอมมิวนิสม์และลูกหลานของผู้ที่เคยบูชาคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงการแพร่ระบาดของสินค้าหนีภาษี


เหนืออื่นใด Ice Bar สามารถสะกิดคนเป็นพ่อเป็นแม่ให้คิดได้ว่าอย่าเอาปัญหาส่วนตัวระหว่างผัวเมียมาปิดกั้นความสุขความอบอุ่นที่เด็กซึ่งถูกเรียกว่า "ลูก" ควรได้รับ จนกลายเป็นปมที่เด็กต้องดั้นด้นค้นหาวิธีสะสางด้วยตัวเอง


เพราะถึงแม้ความรักระหว่างสามีภรรยาจะไม่เหมือนเดิม แต่ความรักจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่มีให้กับลูกอย่างเต็มหัวใจยังสามารถช่วยเพิ่มความอบอุ่นไม่ให้เด็กที่มีชีวิตยากลำบากอยู่ในชนบทอย่างยองแรต้องเติบโตอย่างเหน็บหนาวมากนัก


อย่างที่บอก หนังไอติมเรื่องนี้...ไม่ได้มีแค่รสชาติ "หวานเย็น"