Skip to main content

งามอย่างเซน เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของผู้หญิง

คอลัมน์/ชุมชน


หนังสืองามล้ำค่าเล่มนี้ ได้ส่งมาให้ดิฉันตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2549 โดยประชา หุตานุวัตร กัลยาณมิตรผู้ให้แสงสว่างทางธรรมและปัญญาแก่ดิฉันตลอดเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังบวชอยู่ที่สวนโมกข์) เป็นบรรณาธิการร่วมกับโทโมมิ อิโต แห่งมหาวิทยาลัยโกเบ เขียนโดยภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า แปลโดย ช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร


ดิฉันมัวแต่ยุ่งกับภารกิจต่าง ๆ จึงวางหนังสือเล่มนี้ไว้บนโต๊ะเสียเกือบปี จนสัปดาห์นี้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียด สับสน อยากปล่อยวาง ชำระล้างจิตใจ ได้หันมามองเห็นหนังสืออันเป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจเล่มนี้ จึ้งตั้งใจอ่าน เพื่อให้ของขวัญแก่ตนเอง

"จากบรรณาธิการ" ได้เกริ่นนำไว้ในย่อหน้าแรกว่า "หนังสือเล่มนี้เป็นถ้อยคำไพเราะที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจที่งดงาม แจ่มใส ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ปฏิบัติธรรมมาตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กจนเลยมัชฌิมวัย แม้เธอจะเป็นอาจารย์เซนที่เป็นผู้หญิงและเป็นชาวญี่ปุ่น แต่เนื้อหานั้นสัมผัสใจทุกคนที่เปิดกว้าง ไม่ว่าเพศพันธุ์ไหน นี่จะเป็นหนังสือธรรมะร่วมสมัยอีกเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วอ่านอีกได้โดยรสไม่จืด ตราบใดที่เรายังว่ายวนอยู่ในวัฏสงสารแห่งสุขและทุกข์ เพราะหนังสือจะคอยให้กำลังใจและเตือนให้เราระลึกว่าในชีวิตของเรานั้น ยังมีแหล่งน้ำใสสะอาดอีกแหล่งหนึ่งที่อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือผิดเหนือถูก เหนือดีเหนือทราม ไม่ว่าเราจะเรียกแหล่งน้ำนั้นว่า บรมธรรม สุขาวดี ปรมาตมัน พระผู้เป็นเจ้า หรือกฎธรรมชาติก็ตาม ข่าวดียิ่งกว่านั้นคือ ถ้าเราปรับคลื่นปัญญาเป็น เราย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำใสสะอาดนี้ได้ทุกคน ทุกขณะ ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ของชีวิต อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว"


"จากผู้แปล" คุณช่อฟ้า เริ่มต้นอย่างจริงใจด้วยหัวใจที่เบิกบานของเธอว่า


"ขโมยยังเหลือ
ดวงจันทร์
ไว้ที่หน้าต่าง
(เรียวกัน)
หลาย ๆ คนในบ้านเราอาจเริ่มรู้จักเซน จากกลอนบทสั้น ๆ แต่ไพเราะและมีความหมาย และด้วยความประทับใจจากกลอนบทสั้นๆเหล่านี้เอง ก็นำพาให้เราเข้าไปเรียนรู้และรู้จักเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเซนหรือปรัชญาเซน


ข้าพเจ้าจัดได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มคนประเภทนี้เช่นกัน ที่หาความเพลิดเพลิน หาความสุข หาความอิ่มใจ และหาความรู้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่ได้เคร่งครัดอะไรนัก จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง อยู่ดีๆ พี่ประชาก็ยื่นหนังสือเล่มหนึ่งให้ข้าพเจ้า แล้วบอกว่าเพิ่งได้มาจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น อ่านแล้วเพลิน สนุกดี วางไม่ลง ทั้งยังได้ข้อคิดมากมายหลายอย่าง ลองเอาไปอ่านดูหน่อยไหม ว่าชอบหรือเปล่า และสนใจแปลหรือเปล่า ถ้าสนใจ ให้แปลไปเลย ข้าพเจ้ายิ้มและรับมาเปิดดู แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคหรือเป็นเพราะอะไร เพียงบทแรกที่ข้าพเจ้าพลิกเข้าไปอ่าน ข้าพเจ้าก็ชอบและประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่า อืม.... การอธิบายและการสอนแบบนี้ดีจังเลย ทำให้เราเข้าใจ ตอบ และมองอะไรได้อีกมุมมองหนึ่ง ดีขึ้นจริง ๆ จำได้ว่านอกจากความประทับใจแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อมาก็คืออยากให้คนอื่นได้รับรู้เรื่องราวอย่างนี้บ้าง ว่าแล้วก็ลองเปิดดูเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีก เพื่อดูทั้งในส่วนของเนื้อหาและภาษาว่าจะยากเกินไปหรือไม่ เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าไม่ยากจนเกินไปและพอไหว ข้าพเจ้าจึงรับปากและเริ่มแปลมาตั้งแต่นั้น


ข้าพเจ้าแปลหนังสือเล่มนี้อย่างมีความสุข วันละบทสองบทหรือสามบทบ้าง แล้วแต่เวลาและสติปัญญาจะเอื้ออำนวย วันไหนที่แปลสนุกหรืออยากรู้เรื่องตอนต่อๆไปมาก หรือมีเวลาเยอะหน่อย ก็จะแปลยาวหน่อย แต่วันไหนที่มีเวลาไม่มากนัก ก็อาจจะแปลได้นิดเดียว แล้วก็ต้องเก็บเอาความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวตอนต่อๆไปเอาไว้ในใจ"


สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย ใช้กระดาษถนอมสายตา และออกแบบหนังสือได้อย่างสวยงาม อ่อนโยน มีภาพวาดช่อดอกไม้ (ดูคล้ายดอกซากุระ) ประดับอยู่เกือบทุกหน้า จึงช่วยทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นความรื่นรมย์แห่งชีวิตโดยแท้


เมื่อได้อ่านชื่อบทต่าง ๆ ทั้ง 58 บท จากสารบัญ ดิฉันรู้สึกว่าทุกบทน่าสนใจที่จะอ่านอย่างใคร่ครวญ ดิฉันเลือกอ่านบทที่สอง "ฉันอยากเป็นบุคคลที่สวยงาม" ซึ่งมีข้อความดังนี้


 


ผู้คนส่วนมากมักไม่ตระหนักว่าทั้งใบหน้าและกิริยาอาการต่างๆทางกายของตนเองที่แสดงออกมาในทุกๆปัจจุบันขณะอยู่นั้น สามารถเปิดเผยถึงเรื่องราวทั้งที่ผ่านเข้ามาและออกไปในชีวิตของตนเองทั้งหมดได้อย่างล่อนจ้อนมากมายเพียงใด การปรากฏโฉมออกมาได้อย่างเปลือยเปล่าเช่นนี้นอกจากเป็นเรื่องที่น่าอายแล้วยังเป็นเรื่องที่น่าตกใจ


ทั้งหมดที่เราคิด พูด และทำมาตั้งแต่เกิด ล้วนเป็นตัวสรรสร้างและปั้นแต่งใบหน้า ร่างกาย และบุคลิกของเราขึ้นมา เพียงแค่แวบเดียว บุคคลที่มีดวงตาเห็นได้ชัดแจ้งจะสามารถรับรู้ประวัติความเป็นมาของเราได้ตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว


น่าจะเป็นลินคอล์นที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า มนุษย์นั้นต้องรับผิดชอบต่อหน้าตาของตนเองเมื่ออายุสี่สิบปีไปแล้ว ใบหน้าและร่างกายที่ดูเสมือนว่าได้รับการแกะสลัก ขัดเกลา และปรับแต่งอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่เกิดโดยสิ่วที่มองไม่เห็นนั้น เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัยสี่สิบ ใบหน้าและร่างกายจะเผยความสวยงามและความน่าเกลียดทั้งมวลออกมา โดยที่ไม่สามารถอำพรางซ่อนเร้นได้ด้วยเครื่องสำอางหรือเครื่องนุ่งห่มใด ๆ


ยาอิจิ อะอิสุ กวีญี่ปุ่นรุ่นใหม่และศิลปินนักเขียนอักษรศิลป์ (Calligrapher) เคยเขียนถึงคนสนิทไว้ว่า "เพื่อนของฉัน การที่เราดำรงสติในทุก ๆสิ่งที่คิดและทำ และมีหัวใจที่สงบและสันตินั้น ฉันหวังว่าฉันจะกลายเป็นบุคคลที่สวยงาม" ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองต้องการจะแก่เฒ่าด้วยหนทางเช่นนี้ด้วยเช่นกัน


บทที่ 24 "ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความรู้สึกที่เป็นเด็กที่สุด" เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

"
คนหนุ่มสาวหรือคนที่อายุยังน้อยมักชอบมองอนาคตกันอย่างกระตือรือร้นหิวกระหาย อนาคตอันเปรียบเสมือนเครื่องนำทางสำหรับปัจจุบันนี้ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าหากเรามุ่งหวังที่อนาคตมากเกินไป และไม่ให้ความใส่ใจกับปัจจุบันขณะเลย อนาคตที่สำคัญมากทั้งหลายทั้งปวงและสำคัญที่สุดนั้นก็ไม่มีทางที่จะมาถึงได้เลย แต่ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างเติมเต็มปัจจุบันให้มีคุณค่ามากที่สุดแล้ว เรากลับพบว่าเราจะสามารถเผชิญหน้ากับอนาคตอย่างเป็นจริงที่สุดได้แม้แต่ในขณะนี้


กวีจีน ฮั่นชานได้กล่าวไว้ว่า
เรามีชีวิตไม่ถึงร้อยปี
แต่ยังต้องเจอกับทุกข์อีกนับพันครั้ง


เรามักจะวิตกกังวลถึงอนาคตกันโดยไม่มีความจำเป็น ตัวอย่างเช่น เรามักกลัวว่าเราจะป่วย หรือเมื่อเราป่วยแล้ว เราก็มักกลัวว่าเราจะเป็นหนักมากขึ้นไปอีก เรามักกลัวว่าความเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆท้ายที่สุดจะต้องกลายเป็นป่วยหนักแน่ ๆ เรามักคิดเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ อาหารที่น่าจะกินได้ก็กินไม่ลง ในที่สุดเจ็บป่วยเล็ก ๆ ก็เป็นป่วยหนัก ทั้งโดยวิธีคิดเช่นนี้ยังทำให้คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราเศร้าหมองอีกด้วย นี่นับว่าป่วยไม่เป็นและนี่ย่อมไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เราเอาชนะหรือฝ่าฟันเจ้าความเจ็บป่วยนี้ไปได้ หากเราจะต้องป่วย ขอให้เราเชิดหน้าเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ ขอให้เราได้เปิดแขนโอบอุ้มและต้อนรับมัน ขอให้เราได้มีชีวิตอยู่ไปกับมันด้วย ความรู้สึกขอบคุณที่ความป่วยไข้นี้จะเป็นตัวมาช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเราเองขึ้น เราควรใช้เวลาในความป่วยไข้ของเรานึกถึงแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตที่เราไม่ได้สังกตเห็นในเวลาที่เรามีสุขภาพดี ความเจ็บป่วยอาจเป็นความน่ายินดีและเป็นรางวัลให้กับชีวิตของเราก็ได้ เมื่อเราพบว่านั่นคือความท้าทาย การเจ็บป่วยคือการมีความสุข ไม่ใช่ความทุกข์ ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งยินดีและยิ่งมีคุณค่ามากเท่านั้น ด้วยทัศนคติเช่นนี้เท่านั้น เราจึงจะสามารถเปลี่ยนประสบการณ์แห่งความเจ็บป่วยและทุกข์ยากของเราให้กลับเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ หรือนี่ไม่อาจเรียกได้ว่า "ซาเซนที่มีชีวิต"



ภาพถ่ายดอกไม้จากมองโกเลีย


ดิฉันยกตัวอย่างมาให้ท่านผู้อ่านซึมซับสุนทรียรสของหนังสือเล่มนี้ได้เพียงไม่กี่บท เท่าที่หน้ากระดาษจะเอื้ออำนวย ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ ติดต่อได้ที่ผู้จัดจำหน่าย คือ บริษัทเคล็ดไทย จำกัด โทร.0-2225-9536-9 หรือสำนักพิมพ์ เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท ตู้ ป..1 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120 โทร.0-3733-3182-3


เทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือนที่จะมาถึงนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่านฝึกจิตให้เป็นพุทธะที่แท้จริง คือเป็น ผู้รู้ ตื่น เบิกบาน ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรม ด้วยการอ่านหนังสือที่ดี และด้วยการบวชใจ บวชกาย ขอให้ท่านเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งธรรม ที่จะส่องให้โลกนี้ สว่างไสว หมดสิ้นไปจากบ่วงของความมืดมัวจากกิเลสทั้งปวง เป็นโลกแห่งศานติสุขอย่างแท้จริง.