Skip to main content

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กฎหมายฉบับแรกๆจาก สนช.

คอลัมน์/ชุมชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549[1] พอถึงวันที่ 19 มีนาคม 2550 ในราชกิจจานุเบกษา[2]ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ..2550 นับว่าเป็นผลงานของสนช. ที่ได้ใจประชาชนซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนการร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2543 มีประชาชนกว่าแสนคนเข้าร่วมในเวทีสมัชชาสุขภาพในระดับชุมชน จังหวัด และระดับชาติ ทั้งนี้ โดยการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และเป็นกลไกประสานงาน ของสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) ซึ่งเป็นสำนักงานที่ได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนโดยรัฐมาตั้งแต่ต้น

สิ่งที่ควรเป็นคือกฎหมายนี้ควรออกมาตั้งแต่สมัยมีรัฐบาลก่อนการรัฐประหารแต่ก็มีเหตุขัดข้อง ไม่ได้รับการผลักดัน อันเนื่องจากแรงต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข เพราะมีการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และความมั่นคงด้านสุขภาพที่อาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงจริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ การถกเถียงกันเรื่องสิทธิของคนป่วยที่จะขอให้แพทย์ดำเนินการให้เสียชีวิตเพื่อหลุดพ้นจากความทรมานจากอาการ หรือที่เรียกกันว่าการุณยฆาต ที่สำคัญการระบุในกฎหมายเกี่ยวกับหลักการ อุดมการณ์ด้านสุขภาพที่ครอบคลุมเชื่อมโยงถึงนโยบายรัฐ นโยบายสาธารณะ ที่มีผลต่อสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการดูแลสุขภาพของตนเอง การให้นิยามคำว่าสุขภาพที่กว้างกว่าเรื่องกาย ใจ แต่ครอบคลุมถึง ภาวะด้านจิต ปัญญา และสังคม ด้วย

ที่สุดแล้วประเทศไทยก็มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการสุขภาพและระบบสุขภาพสำหรับประชาชน แม้ว่าในกฎหมายที่ประกาศใช้จะมีความแตกต่างจากร่างกฎหมายเดิมที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชน เช่น เดิมมีอยู่ 90 กว่ามาตรา[3] แต่ที่คลอดออกมาเหลืออยู่ 50 กว่ามาตรา หายไปเกือบ 40 มาตรา เมื่อพิจารณาดูพบว่าส่วนที่ถูกตัดออกไปจะเกี่ยวกับหลักการ อุดมการณ์ เกี่ยวกับสุขภาพ สิทธิหน้าที่และความมั่นคงด้านสุขภาพ แนวนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การคุ้มครองผู้บริโภค องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ บุคคลากรด้านสาธารณสุข การเงินการคลังด้านสาธารณสุข แต่สิ่งที่ขาดหายไปนี้ ได้ถูกระบุในพระราชบัญญัติที่บังคับใช้ในหมวดว่าด้วยการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ว่าต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ นั่นคือ ระบุว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.)ต้องดำเนินการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 46) เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้ผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ของตน(มาตรา 48)


ตัวพระราชบัญญัติเองเป็นการกล่าวถึงสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนและบุคคลากรสาธารณสุข การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ หน่วยงานรัฐ (มาตรา 11) การแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยต้องทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่อนุญาติให้แพทย์ทำการการุณยฆาตได้ตามความเห็นของแพทย์ (มาตรา 12) การจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) ในหมวด 2 ซึ่งมีคณะกรรมการราว 38 – 39 คนในที่นี้มีตัวแทนประชาชนที่เลือกกันมาเองจากทั่วประเทศ 13 คน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขอีก 6 คน คณะกรรมการนี้สามารถเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพต่อคณะรัฐมนตรี การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี การจัดทำสมัชชาสุขภาพ(หมวด 4) และการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ(หมวด 5) แต่ไม่ได้ถือว่าพระราชบัญญัตินี้เป็นธรรมนูญของระบบสุขภาพแห่งชาติ


โดยรวมพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ..2550 เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อดำเนินการโดยประชาชน ผ่านการจัดทำสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งประกอบกับสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เฉพาะประเด็น การมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การจัดทำธรรมนูญเพื่อกำหนดทิศทางด้านสุขภาพของตนเอง การติดตามตรวจสอบนโยบาย โครงการของรัฐที่มีผลต่อสุขภาพ ไม่มีอำนาจดำเนินการ มีแต่ข้อเสนอแนะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าติดตามคือการคัดเลือกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ หลังจากมีคณะกรรมการฯ แล้วว่าจะสามารถเป็นเสียงจริงของประชาชนเพียงใด และจะทำให้เกิดภาคีความร่วมมือระหว่างประชาชน องค์กรรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลากรสาธารณสุข ในการดำเนินการให้สังคมไทยมีทิศทางในการดูแล คุ้มครอง ป้องกัน รักษาสุขภาพในระดับปัจเจก ระดับชุมชน ระดับชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพได้เพียงใด รวมถึงเครือข่ายประชาชนที่เกี่ยวข้องจะมีความเข้มแข็งจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพหรือไม่ เพราะธรรมนูญระบบสุขภาพ ไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมาย เป็นเพียงสิ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะมีผลในทางปฎิบัติได้เพียงใด เป็นเรื่องที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมต้องพิสูจน์ให้เห็นกันต่อไป


-------------------------
[1]
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม
123 ตอนพิเศษ 109 ง ลงวันที่ 12 ตค.49
[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 16 ก ลงวันที่ 19 มีค. 50
[3] สำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) ,ธรรมนูญสุขภาพคนไทย ฉบับปรับปรุง 24 กันยายน 2545 พิมพ์ครั้งที่ 2 ,สิงหาคม 2546