Skip to main content

กา : รับ...ไม่รับ...ร่างรัฐธรรมนูญ 2550

คอลัมน์/ชุมชน


1


มาถึงห้วงยามนี้ เชื่อว่าคงมีใครหลายคนคงกำลังอยู่ในระหว่างการชั่งน้ำหนักของการตัดสินใจ เมื่อใกล้จะถึงเทศกาลปาหี่ เอ้ย...ประชามติให้ประชาชนลงประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคมนี้


"ทำไมถึงต้องมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหานี้นะ...ทำไมไม่จัดในวันที่ 19 กันยา..ไปเลยล่ะ." ใครคนหนึ่งตะโกนถาม


เออสินะ, เพราะที่มาของการเกิดร่างรัฐธรรมนูญ50ฉบับนี้ มันมีต้นทางมาจากวันที่19 กันยา 2549 มาจากการรัฐประหารของทหารกลุ่มหนึ่ง ในนาม คมช. ในค่ำคืนนั้น ใช่มั้ย?


"ยังไม่รู้เลยว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้..."
"ไม่มีเวลาศึกษาเลย ไอ้หนังสือเล่มเหลืองที่เขาส่งมาให้ว่าดีหรือไม่ดี..."
"เราอ่านแล้ว ทำไมมีแต่ข้อดีนะ แล้วข้อเสียไม่มีเลยหรือ..."
"แล้วชาวบ้านอย่างเราจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้..."


นั่น,เป็นบางถ้อยคำความรู้สึกของชาวบ้านๆ ธรรมดาที่บ่นออกมาอย่างนั้น ท่ามกลางความสับสน สงสัย ไม่เข้าใจว่าจะรับหรือไม่รับ จะไปหรือไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 สิงหานี้


พูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกสงสารชาวบ้านตาดำๆ เหมือนงวยงงกับฝันร้าย...ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการฯ อสม.ฯลฯ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น(ก่อน 19 กันยา 49) พวกเขายังเป็นฝ่ายรักทักษิณกันอยู่หลัดๆ พอมาถึงเวลานี้ กลับกลายเป็นว่า จำเป็นต้องยืนข้าง คมช.กับรัฐบาลสุรยุทธ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกฝ่ายถูกต่อสายอำนาจผ่านสายตรงเหมือนไดเรกเซลส์ จากกระทรวงมหาดไทยพุ่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน...จากกระทรวงสาธารณสุขผ่านตรงถึง อสม ถึงคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน...ฯลฯ

ทุกสิ่งถูกกระหน่ำกรอกหูทุกวี่วัน
...ทุกอย่างต้องดีกว่าเดิม...ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ประเทศต้องสมบูรณ์พูนสุข และต้องลงประชามติ ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 มันดีอย่างโน้นอย่างนี้...


"เออ ดีก็ดีว่ะ...ลงก็ลงแหล่ะน่า..."
"แต่พนันกันมั้ยล่ะว่าทักษิณ และคนของไทยรักไทยจะต้องกลับมาใหญ่อีกครั้ง..." อ่าว ชาวบ้านยังรักทักษิณอยู่เหรอเนี่ย...(ฮา)


อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายหลายองค์กรต่างก็ออกมารณรงค์กันอย่างหนัก ทั้งฝ่ายที่ออกมาประชาสัมพันธ์(หรือโฆษณาชวนเชื่อก็ไม่รู้...ไม่แน่ใจ)เสนอและย้ำๆ รัฐธรรมนูญนี้ดีหนักหนา เหมือนยาแก้ หากรับแล้วชีวิตจะดีขึ้นนักแลฯ ประมาณนั้น


ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ออกมาเรียกร้องคัดค้านไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ50 นี้ เพราะเป็นเพียงประชามติปาหี่เพราะมันมาจากรัฐประหาร มาจากเผด็จการ กระทั่งนักวิชาการบางคนถึงกับออกมาย้ำว่า นี่มันเป็นรัฐธรรนูญฉบับยักษ์ถือกระบอง...ที่ให้อำนาจแก่เหล่าอำมาตยาธิปไตย แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร


2


ในขณะที่ผมหลบความวุ่นวายของเมือง พยายามเลิกนึกถึงเรื่องการมุ้งการเมือง พาเพื่อนๆ ไปกางเต๊นท์ในบ้านสวนบนเนินเขาที่บ้านเกิดเชียงดาว


...แต่ก็นั่นแหล่ะ ไม่ว่าจะอยู่ซอกหลืบไหนของประเทศ เรายังคงหนีไม่พ้นจากสิ่งที่เราไม่ต้องการเจอะเจอ แต่ก็หนีไม่พ้น เรายังคงต้องรับรู้เรื่องราวการเมืองอยู่วันยังค่ำ


เช้ามืดวันนั้น, เสียงเพลงในท่วงทำนองเพื่อชีวิตของนักร้องสำเนียงคุ้นๆ คนหนึ่งกำลังเชื้อเชิญไปลงประชามติ,ผ่านเสียงตามสายดังก้องไปทั่วดงดอยและหมู่บ้านเกิด สักพักยินเสียงผู้ใหญ่บ้านบอกย้ำให้เตรียมไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ50 ในวันที่ 19 สิงหานี้


เพียงครู่เดียว เสียงแหบๆ ของผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุหนึ่ง...ได้กล่าวเกริ่นนำ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นสปอตวิทยุ...เหมือนสปอตโฆษณาทั่วๆ ไปนี่แหละ ที่แจกจ่ายให้กับผู้ใหญ่บ้านเอาไว้เปิดให้ชาวบ้านฟัง) ก่อนจะสัมภาษณ์ ส...ของเราๆ ชาวเชียงใหม่ ว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50นั้นเป็นมาอย่างไร ซึ่งคุณ ส...ก็บอกเล่าอธิบายถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญหลายมาตราว่าดีกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ว่าสิทธิของชาวบ้านเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อประชาชนฯ


ผมนั่งฟังเสียงนกร้องไปพลาง สลับกับเสียงของ ส...ไปพลาง จุดฟืนก่อไฟ เอากาต้มน้ำเดือดปุดๆ ไปพลาง...ขณะกำลังจะจิบกาแฟในถ้วยกาไก่ ต้องมาสะดุดต่อมสะกิดหูในตอนท้าย เมื่อ ส...ของเรามีการพูดถึงเรื่องสื่อ ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้นให้สิทธิและคุ้มครองสื่อมากกว่ารัฐธรรมนูญอื่นๆ


เอ...เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 นั้นให้สิทธิและคุ้มครองสื่อมากกว่ารัฐธรรมนูญอื่นๆ แล้วไหง เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ถึงกลับบออกมายืนกรานประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เมื่อสัปดาห์ก่อนล่ะ... และนี่เพียงแค่ประเด็นสื่อประเด็นเดียว ยังมินับถึงอีกหลายมาตราที่หลายฝ่ายถกกัน


ทำไมและทำไม!? ไม่รู้สิ, ขนาดผมทำงานด้านสื่อ ได้ติดตามข่าวสารทุกวัน ยังรู้สึกสับสนอย่างนี้ แล้วชาวบ้านที่ไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลเลย ไม่ยิ่งสับสนมากไปกว่านี้หรือ...


"...ก็เป็นสิทธิของประชาชนแต่ละท่านที่จะลง แต่อยากขอร้องว่าการลงประชามติขอให้ฟังความเห็นให้รอบด้าน แต่ในแง่ของเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ก็ได้แถลงการณ์ไปแล้ว และได้แสดงจุดยืนในด้านสิทธิเสรีภาพด้านสื่อ เพราะเราเห็นว่า รธน.ฉบับนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปสื่อ"


ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกย้ำในรายการมองคนละมุม ของสถานีวิทยุ FM 100 เมื่อวันก่อน


3


เพื่อให้ฟังความเห็นให้รอบด้านเหมือนที่ อ.จิรพร บอกย้ำ...ผมขอหยิบบทความสั้นๆ ของ "อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเปิดอ่านทบทวนความจำอีกครั้ง…










WHY NO TO THE 2007 DRAFT
ทำไม "ไม่" ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550


1. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีที่มา และจิตวิญญาณเป็น "อประชาธิปไตย" ขาดกลไกและเจตนารมย์ของการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติในยามวิกฤตเช่นนี้


2. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระที่เป็น "อำมาตยา/เสนาธิปไตย" ต้องการรักษาผลประโยชน์ของหมู่คณะของตน ดังตัวอย่างของมาตราที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาที่ให้มีการแต่งตั้ง เป็นลักษณะของการถอยหลังเข้าคลองกลับไปกว่า 75 ปี


3. เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้อำนาจตุลาการ เข้าไปพัวพันก้าวก่ายในองค์กรอิสระ ทำให้ขาดความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหลักการณ์ "แบ่งแยกอำนาจ" ของสังคมไทย


4. เพราะองค์กรและตัวแทนของรัฐ ที่รับผิดชอบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ ขาดความเที่ยงธรรม บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่า หากไม่รับร่างนี้แล้วก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งๆที่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งอยู่ไม่ช้าก็เร็ว


และยังแอบอ้างบางสถาบันหรือใช้สีบางสี โน้มน้าวทำประชาสัมพันธ์และทำการตลาดให้ประชาชนต้อง "รับ" (หรือ "ไม่รับ" เพียงหนึ่งในสองทางเลือกเท่านั้น ซึ่งแม้แต่ในองค์การสหประชาชาติ ก็ยังมีการลงมติด้วย "การงดเว้นออกเสียง" ได้ คือ มีสามทางเลือก yes-no-abstain)




5. เพราะการกระทำในข้อ 4 ข้างต้น ทำให้สังคมไทยขาดบทเรียน และความทรงจำที่ว่า การแก้ไขปัญหาของชาติ แม้จะใช้กำลังอาวุธกับความรุนแรง แม้จะขาดหลักการณ์และกระบวนการทางกฎหมายและหลัก "นิติธรรม" ก็สามารถทำได้กลายเป็น "อำนาจคือธรรม" เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะไม่เห็นความจำเป็นของ "สันติประชาธรรม"


6. เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขาดจิตสำนึกและเจตนารมย์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคี และความปรองดองในชาติ ยังคงดึงดันที่จะใช้นามประเทศ ว่า "ไทย" และ Thailand ต่อไปตามแบบฉบับของ "อำมาตยา/เสนาธิปไตย" นับตั้งแต่ พ.. 2482 เป็นต้นมา แทนที่จะใช้นามประเทศว่า "สยาม" หรือ Siam ตามหลักการณ์ของ "ประชาธิปไตย" ดังเช่นในฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 ที่ใช้นามว่า "แผ่นดินสยาม" หรือ ตามหลักการณ์ของความปรองดองกัน ดังเช่นในฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 ที่ใช้นามประเทศว่า "ราชอาณาจักรสยาม" Siam


7. และดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ตระหนักถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศของเราที่เป็นที่อยู่ และเป็นแผ่นดินที่ "รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย....... ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย มลายู แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ จาม ชวา ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ/ละว้า ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชนชาติต่างๆ) แขก (ชนชาติต่างๆ) ลูกผสม/ลูกครึ่งต่างๆอีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ สมานฉันท์ สามัคคี ปรองดอง และเป็น "ประชาธิปไตย"


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ครับ, นี่เป็นเพียงความเห็นอีกด้านหนึ่งที่บอกย้ำ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50" หลังจากที่ผู้คนในสังคมไทยได้ยินได้ฟังความเห็น ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จากหน่วยงาน องค์กร และสื่อ(ที่รัฐคุม)อื่น มามากต่อมากแล้ว ซึ่งที่สุดแล้ว อำนาจการตัดสินใจก็คงอยู่ที่หัวใจท่านประชาชนที่รักทั้งหลาย ก่อนออกเดินทางไปลงประชามติ


และขอย้ำ,ว่าช่องที่เขาทำไว้ให้ "กา" นั้น ไม่ใช่ "รับ" หรือ "ไม่รับ" นะครับ
แต่เป็น "เห็นชอบ" กับ "ไม่เห็นชอบ"


โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง…
...โปรดใช้วิจารณญาณ และอ่านฉลากและเขย่าขวดก่อนกินยา...