Skip to main content

เรื่องมันขำจริง ๆ ท่าน

คอลัมน์/ชุมชน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ฉบับนี้อยากเสนอเรื่องขำขัน เรื่องไม่จริงจังบ้างนะค่ะ

ขำขันเรื่องแรกนะคะ เกิดขึ้นที่ในงานพบปะสังสรรค์งานหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากผ่านไปสักพัก ทักทายกันพอหอมปากหอมคอ การดื่มกินเริ่มขึ้นแล้ว สาวบ้านเหนือคนหนึ่ง หันมาถามสาวที่มาจากบ้านใต้ว่า
"เออ...พวกปักษ์ใต้ ขอถามหน่อย มันเป็นอย่างไรกันแน่ สงสัยจริง ๆ เรื่องสามจังหวัดชายแดน"

สาวใต้นิ่งเฉย เหมือนพยายามหาคำตอบที่ดีที่สุดยังไม่ได้
"สงสัยว่า ทำไมดับไฟใต้ไม่ได้สักที" เธอถามต่ออย่างจะเอาคำตอบให้ได้
หนุ่มหนึ่งที่ยืนอยู่ข้าง ๆ มาจากพัทลุงรีบถามกลับว่า "แล้วพี่รู้หม้าย ไตรภาคเหนือมีหมอกควัน "

คราวนี้เธออึ้งและกำลังจะอธิบาย หนุ่มพัทลุงก็ชิงพูดต่อว่า


"พี่รู้หม้ายว่าปรือ ผมบอกกะได้ เพราะว่า มันมีไฟใต้ ภาคเหนือก็เลยมีควัน มีหมอก"
มีเสียงเฮ พร้อมกับเสียงสนุบสนุนความคิดของหนุ่มพัทลุง
"ใช่...พอมีไฟใต้ ควันมันก็ลอยขึ้นเหนือ ภาคเหนือเลยมีหมอกควัน อึมครึมตลอดเหมือนกัน"


5555555555555555


ขำขันเรื่องที่สอง ที่รักฉันให้เธอมีส่วนร่วมเอาโต๊ะจีนหรือบุฟเฟ่ต์ดี



ในห้องสัมมนาระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ


ในงานสัมมนาเรื่องแม่น้ำปิง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จัดกันสองวัน วันแรกตัวแทนชาวบ้านจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำมาคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปให้ภาครัฐบาลว่าพวกเขาต้องการอย่างไร คิดเห็นอย่างไรในฐานะเจ้าบ้าน เขารู้จักสายน้ำดี รู้ถึงปัญหาดี รวมทั้งวิธีแก้แบบชาวบ้าน ถ้าเอามาบูรณาการกับของรัฐบาลได้ไหม เพราะเขากลัวว่ารัฐในฐานะผู้ดูแลช่วยเหลือ ทำไปแล้วไม่ได้แก้ปัญหาแต่กลับจะสร้างปัญหาใหม่


เช่นว่าการสร้างกำแพงสร้างพนังกั้นน้ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ก็มาบอกว่างบประมาณได้มาแล้วแต่มีการคัดค้านเยอะก็เลยไม่ได้สร้าง ตัวท่านเองเสียดาย และคิดว่าพวกที่นั่งอยู่ที่นี่ก็จะเสียดายถ้าได้ดูแบบ

สรุปการประชุมสองวัน ทางฝ่ายภาครัฐก็ยังอยากสร้างประตูระบายน้ำ ฝ่ายภาคประชาชนยืนยันว่าไม่เอา เหตุเพราะว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เช่นว่าถ้าสร้างเพราะป้องกันน้ำท่วมก็ไม่แน่ใจว่าจะป้องกันได้จริง คือรัฐก็ไม่กล้าพูดเต็มปากว่าป้องกันน้ำท่วม


จะบอกว่าเพื่อการเกษตรเอาน้ำให้ชาวบ้านใช้ในการเพาะปลูก เขาก็มีวิธีการโดยใช้ฝายหินทิ้งของเขาเพื่อหนุนน้ำเข้าเมืองฝาย ซึ่งมีนมนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เขาจัดการได้ การทุบฝายก็เหมือนทำลายแหล่งอาหาร และรัฐบาลก็พยายามจะทุบทิ้งอยู่เสมอ เพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยว ให้เรือขนาดใหญ่ล่องแม่ปิง เรื่องนี้รัฐบาลก็ไม่กล้าพูดออกมาเต็มปากเต็มคำ


อีกทั้งชาวบ้านผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝายเขาก็ชี้แจงว่า ระบบเหมืองฝายป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย เอาเงินงบประมาณมาดูส่วนนี้ดีกว่าใช้เพียงนิดเดียว เพราะระบบฝายหินทิ้งของชาวบ้านหนุนน้ำเข้าไปตามลำเหมืองต่างๆ เหมือนไปเก็บไว้ตามแก้มลิงนั่นแหละ คราวนี้เอาเงินมาขุดลำเหมือง แก้ไขปัญหาลำเหมืองถูกถม ปัญหาทางไหลของน้ำ ดูแลเรื่องการบุกรุกพื้นที่สองฝั่งแม่ปิง ดูแลเรื่องบนดอยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่บุกรุกป่ามากมาย เพราะนโยบายของรัฐที่ผ่านมา



นี่คือ "ฝายที่เมืองน่าน" กำลังจะสร้างที่เชียงใหม่มีชื่อว่า "ประตูระบายน้ำ"
(ยืนยันว่าเป็นแบบเดียวกัน)


ในห้องประชุมมีเสียงพูดกันเบาๆ ว่า เขายังพยายามกันอยู่ที่จะสร้าง อาจจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เหมือนเปลี่ยนชื่อฝายเป็นประตูระบายน้ำนั่นแหละ ๆ

ลุงคนหนึ่งลุกขึ้นถามว่า สร้างประตูระบายน้ำแล้วใช้ไม่ได้ใครจะรับผิดชอบ เขียนชื่อไว้ได้ก่ จะได้ไปตามถึงบ้าน
(เอากับลุงแกซิ ตามไม่เจอหรอกลุง)


มีเสียงซุบซิบว่า ให้สร้างไม่ได้ สร้างแล้วเขาทุบฝายเราแน่ ก็มีประตูระบายน้ำ งบประมาณเป็นพันล้านนะแก แกเคยเห็นหรือเปล่าเงินพันล้าน เอามาสร้างเรื่อยเปื่อยได้เหรอ เงินพรรคพวกเราทั้งนั้น เสียค่าไฟ ค่าอะไรต่ออะไร เขาเขียนว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม แกไม่เห็นเหรอ


หนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นถามว่า ผมได้ข่าวมาว่ามีการอนุมัติแล้ว มีการว่าจ้าง มีการออกแบบประตูระบายน้ำแล้ว ถ้าเรายกเลิกไม่ให้เขาสร้างจะได้ไหม รัฐต้องเสียค่าปรับใช่ไหม เท่าไหร่ครับ (มีเสียงอืออาในที่ประชุมเล็กน้อย อ้าว...เขาอนุมัติกันแล้วว่าจ้างกันแล้ว ถึงมาถามเราหรือ มีอย่างนี้ด้วยหรือ)


หนุ่มใหญ่จากสารภี (รับราชการมาก่อนจะมาทำสวนที่สารภี) เดินออกมาจากห้องประชุมหลังจากเสร็จสิ้นการสัมมนา และพูดสรุปว่า


"มันเปรียบเทียบได้อย่างนี้ เช่นว่าหนุ่มไปชอบสาวคนหนึ่ง ไปจีบ ๆ แล้วแอบไปขอกับพ่อแม่ และจะแต่งงานแล้ว สาวบอกว่า ไม่ ฉันยังไม่แต่งงานกับเธอ ฉันไม่แต่ง หนุ่มบอกว่า เอาเถอะเรามาช่วยกันคิดหาทางออกด้วยกัน ที่รัก ฉันให้เธอมีส่วนร่วม เธอจะเอาแบบไหน แบบเลี้ยงโต๊ะจีน หรือแบบบุฟเฟ่ต์"


(ฮา เป็นบทสรุปการบูรณาการ การมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน ที่เข้าใจง่ายมาก)


5555555555555555


ฉบับหน้าพบกันใหม่ค่ะ
ภาพประกอบโดย อิสระ ตรีปัญญา