Skip to main content

รักแปดพันเก้า : รักของผม รักของฉัน รักของเรา (ตอนที่ 2)

คอลัมน์/ชุมชน

1


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่รัก หลังจากที่ในตอนที่แล้ว ดิฉันได้พาคุณผู้อ่านที่รักทุกคนไปรู้จักความรักในแบบผู้หญิงดอกทองอย่างฟ้า และก็มีหลาย ๆ เสียงสะท้อนกลับมาว่า ถึงแม้ดิฉันออกตัวว่าไม่ได้โปรดอกทอง แต่การเขียนของดิฉันก็บอกเป็นนัยถึงการโปรดอกทองไปแล้ว และยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ตัวผู้หญิงอย่างฟ้าเองก็มีมิติอื่น ๆ ที่ไม่น่าโปร และเป็นเหมือนนางเอกทั่ว ๆ ไป ที่ดิฉันเอามายำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสำนึกความเป็นแม่ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่ปรากฏเป็นคาแรกเตอร์ของฟ้าในตอนท้ายของเรื่อง (ที่เริ่มเน่า )


ดิฉันก็ขอออกตัวอีกครั้งว่า ในบางบทบาท ถึงแม้ว่าฟ้าจะทำตัวได้เยี่ยงนางเอกหนังไทย ที่สมควรจะถูกด่า มากกว่าถูกชม และบางบทบาทก็พลิกกลับจากนางร้ายดอกทอง (ผู้แสนจริง) มาเป็นนางเอกหลังข่าวที่แสนน้ำเน่าได้ แต่ถึงอย่างไรนั้น ดิฉันมองว่าบางครั้งเราก็อาจจะต้องถอดวางอุดมการณ์บางอย่าง เพื่อที่จะพูดถึงในบางเรื่องที่อาจจะมี เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้แก่ตัวละครผู้หญิงในละครบ้าง อย่างเช่นในกรณีของฟ้า ถึงแม้เรื่องสำนึกความเป็นแม่ เรื่องความเป็นนางเอก ของเธอจะสมควรนำมาพูดถึง เพราะคอลัมน์นี้คือการพูดถึงในเชิงเฟมินิสต์ แต่ดิฉันขอวางเรื่องนั้นไว้ เพื่อเปิดโอกาสที่จะได้พูดเรื่องพื้นที่ของผู้หญิงดอกทองในละครไทย ซึ่งดิฉันเห็นว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว


เอาล่ะค่ะ ดิฉันก็แก้ตัวมากพอแล้ว มาถึงในตอนนี้ ความรักในอีกรูปแบบหนึ่งที่ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือ ความรักของเกย์ระหว่างจอนกับที อย่างแรกที่ดิฉันคิดว่าคงต้องพูดถึงก่อนก็คือ รูปแบบของความรักของเกย์ที่ถูกเสนอผ่านสื่อละคร ภาพเสนอของความรักของเกย์ หรือความรักของคนรักเพศเดียวกันที่ถูกเสนอผ่านละครที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นไปในรูปแบบเดียว คือความผิดหวังในความรักและชีวิตคู่และความรุนแรง แต่ตัวละครเหล่านั้นก็เป็นเพียงตัวประกอบ ที่ไม่ใช่ตัวละครหลักในเรื่องที่เราจะสามารถเห็นกราฟชีวิต เห็นเหตุและผลของเขาได้ในทุก ๆ เรื่องตัวละครที่เป็นเกย์ หรือเป็นคนรักเพศเดียวกัน จึงไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่องในการนำเสนอ แต่เป็นเพียงน้ำจิ้มที่จะได้นำคาแรกเตอร์ของตัวนั้น ๆ มาเล่นอะไรบางอย่างเท่านั้นเอง แต่ภาพเสนอที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างกัน เพราเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเรื่องเพศ และความรักของเกย์ที่สำส่อนและลงเอยด้วยความผิดหวัง หรือไม่ก็เป็นเพียงตัวละครผู้ที่มีภาพเสนอเป็นคนรักเพศเดียวกันแบบเดี่ยว ๆ ที่ไม่มีเรื่องความรัก อย่างที่เป็นชีวิตคู่อย่างทีกะจอนเข้ามาเกี่ยวข้อง และก็ลงเอยด้วยการเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจของตัวละครอื่น ๆ ซึ่งเป็นการยัดเยียดความเป็นอื่นให้กับตัวละครที่เป็นคนรักเพศเดียวกันในเชิงบวก และเป็นการมองด้วยสายตาของเจ้าอาณานิคมที่รู้สึกถึงความด้อยพัฒนาและน่าสงสารของประเทศโลกที่สามกับบุคคลเพศที่สาม (ตามที่เขาเรียกกัน )


ตัวละครที่เป็นเกย์ หรือเป็นคนรักเพศเดียวกันจึงไม่เคยมีตัวตนจริง ๆ ในละครมาก่อน แต่แท้จริงแล้ว พระเอกและนางเอกที่เป็นผู้ชายผู้หญิงเองก็เป็นเพียงภาพแสดงเท่านั้นเอง เพียงแต่การแสดงภาพเหล่านั้น ของตัวละครแต่ละตัวมันเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองเรื่องสื่อ และเรตติ้งอย่างไรก็เท่านั้นเอง


2


หากเมื่อหันกลับมาดูตัวละครอย่างจอนกับที สิ่งที่น่าชื่นชมในอันดับแรกก็คืออย่างที่บอกไว้ว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีตัวละครที่เป็นคนรักเพศเดียวกันถูกเสนอผ่านสื่ออย่างเป็นตัวละครหลักสักเท่าไหร่ การปรากฏตัวของจอนกับทีที่เป็นอีกคู่รักหนึ่ง เป็นความรักในอีกรูปแบบหนึ่งในละครเรื่องรักแปดพันเก้า จึงเป็นความเสี่ยงทั้งสองด้าน คือไม่ดังก็ดับ (แต่โชคดีที่ดัง)


คู่รักเกย์ระหว่างจอนกับทีจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของละครไทย ที่มีการนำเสนอคู่รักคนรักเพศเดียวกันอย่างเป็นจริงจัง เป็นตัวละครหลักที่เป็นตัวดำเนินเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่ด้วยตัวเอง นี่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ดิฉันอยากจะปรบมือให้ เพียงแค่การเปิดพื้นที่อย่างอย่างจริงจัง (ถึงแม้ว่าอาจจะมีการเมืองเรื่อง เรตติ้งมาเกี่ยวด้วยก็ตาม ) และมองตัวละครทั้งสองตัวอย่างพระเอกและนางเอกในการดำเนินเรื่อง ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่พิเศษที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นการเปิดทางไปสู่เรื่องอื่น ๆ ของคนรักเพศเดียวในสื่ออีกด้วย


เมื่อตัวละครอย่างจอนกับทีปรากฏขึ้นในรักแปดพันเก้า สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือปรากฎการณ์สังคมเรื่องการนำเสนอคู่รักที่เป็นเกย์ในสื่อละคร กลายเป็นหัวข้อสนทนาในทุกพื้นที่ของสังคม ทั้งข่าววงการบันเทิง ข่าวสังคม เว็บบอร์ดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมเองที่มีข่าวออกมาว่าจะสั่งแบนตัวละครทั้งสอง ด้วยข้อหาการนำเสนอคู่รักเพศเดียวกันในสื่อ (อย่างโจ่งแจ้ง และที่สำคัญมันดังด้วยน่ะสิ ) แต่จนแล้วจนรอด กระแสสังคมในทิศทางบวกอย่างมหาศาล ก็กลายเป็นแรงกดดันให้ตัวละครทั้งสองตัวอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นตัวละครที่หลาย ๆ คนแอบลุ้นอยู่ว่าจะจบเรื่อราวของชีวิตลงเช่นไร


ปรากฏการณ์ของจอนกับทีที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่น่าคิดและใคร่ครวญ หลาย ๆ คนบอกว่าจอนกับทีกลายเป็นข้อพิสูจน์ทางสังคมไทยว่าสังคมไทยนั้นเปิดกว้างมากขึ้น สังคมไทยยอมรับเกย์มากขึ้น ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ ดิฉันก็ไม่อาจจะทราบความจริงได้ เพราะอย่างแรกผู้ที่ออกมาสะท้อนความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาในโลกสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในสื่อ ทั้งอินเตอร์เน็ท และการขับเคลื่อนทางสังคม ถึงแม้ว่าคำพูดดังกล่าวจะเป็นความจริง แต่ความจริงเช่นนี้ก็มีสิ่งที่น่าคิดตามมาก็คือ สังคมไทยยอมรับเกย์มากขึ้น แต่เป็นภาพเสนอของเกย์แบบใดต่างหาก


ใจจริงดิฉันอยากจะเทคะแนนและเทหัวใจให้กับละครเรื่องนี้อย่างสุดซึ้ง แต่ก็ยังกระอักกระอ่วนใจอยู่ถ้าจะกระทำเช่นนั้น ถึงแม้การมีตัวละครอย่างจอนกับทีจะเป็นสิ่งที่ดิฉันปลื้มหนักหนาก็ตาม ก็แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่ โดยที่ไม่นำเรื่องความหล่อของตัวละครมาเป็นอคติแล้ว ดิฉันก็เริ่มที่จะไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำใจให้รักรักแปดพันเก้าลง ด้วยตัวละครเกย์อย่างจอนกับที


3


อย่างแรกที่ดิฉันเห็นว่า ทำไมละครเรื่องนี้จึงไม่สามารถจะนำพาคนดูอย่างฉันให้รักละครเรื่องนี้อย่างสนิทใจได้ ก็คือ ตัวละครอย่างจอนกับทีเป็นคู่รักเกย์ แต่ละครเรื่องนี้กลับหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "เกย์" อย่างมากที่สุด ดิฉันไม่รู้ว่าการพูดคำว่า "ผมเป็นเกย์" หรือ "เขาเป็นเกย์" มันมีนัยยะอันใดในการบ่อนทำลายความรักของคนดูต่อละครเรื่องนี้ ต่อตัวละครอย่างจอนกับทีหรือไม่ คำว่าเกย์กลายเป็นคำที่กระอักกระอ่วนใจเมื่อต้องพูดตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ถ้าจะสังเกต ไม่เพียงแต่คำ ๆ นี้ไม่ปรากฏในละครเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย แต่ในเว็บไซต์ของบริษัทที่ผลิตละครเรื่องนี้ (Scenario ) ที่มีเรื่องราวอย่างย่อ ๆ ของละครเรื่องนี้ ให้อ่านก็พบว่า การอธิบายตัวตนของจอนกับทีนั้น ก็ไม่ได้อธิบายว่าสองคนเป็นเกย์ หรือเป็นคู่รักเพศเดียวกันแต่อย่างใด


การพูดคำว่าเกย์ หรือการแสดงตัวตนอย่างโจ่งแจ้งในพื้นที่สาธารณะอย่างสื่อละคร สื่อโทรทัศน์เกี่ยวกับเกย์ กลายเป็นเรื่องที่ต้องปากว่าตาขยิบ เพราะสุดท้ายมันก็มีเส้นบาง ๆ ที่ยังกั้นอยู่ระหว่างการยอมรับ การเปิดใจ กับความจริงในใจว่าท้ายสุดแล้วสิ่งที่เราคิดว่าเป็นมิติใหม่ของละครที่นำเสนอเรื่องเกย์ เป็นความกล้าหาญของผู้ทำละครที่กล้าเสนอเรื่องราวเช่นนี้ แต่สุดท้ายมันเป็นการเปิดพื้นที่ของคนเหล่านี้อย่างแท้จริง หรือว่าเป็นเพียงการเปิดตัวของละครต่อพื้นที่สื่อกันแน่ และการยอมรับนั้นเป็นเพียงยอมรับแบบลักปิดลักเปิดหรือเปล่า ?


ต่อเมื่อละครได้ออนแอร์แล้ว ประเด็นเรื่องการยอมรับ การเปิดกว้างของสังคมต่อเกย์ก็กลายเป็นบทพิสูจน์อีกอันหนึ่งที่ต้องได้รับการพิจารณา กระแสจอนกับทีมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพียงการเชียร์ให้ลงเอยกันอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเท่านั้น ตัวตนของของนักแสดงจริง ๆ ยังถูกตั้งคำถามว่า "เป็นเกย์หรือเปล่า"


การตั้งคำถามนี้ อาจะเป็นเพียงกระแสของข่าวที่จะทำให้ละครได้รับการพูดถึงมากขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งก็เห็นได้ว่า บทบาทเกย์ หรือการสวมบทบาทเป็นเกย์ กลายเป็นเรื่องซ้อนทับกันระหว่างร่างกายของการเป็นผู้ชาย กับการเป็นผู้ชายที่เป็นเกย์ การเป็นเกย์จึงยากที่จะเป็นเพียงการสวมบทบาทของผู้ชาย เพราะความเชื่อที่ว่า การ "เป็น" คือการ "เป็น" ไม่ใช่การสวมบทบาท เหมือนกับเวลาที่เราไม่เคยเชื่อเวลาที่นางเอกปลอมตัวเป็นผู้ชาย อย่างไรอย่างนั้น


สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันเริ่มจะรักละครเรื่องนี้ได้อย่างไม่สนิทใจ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการพูด หรือการแสดงตนว่าเป็นเกย์ในละครแล้ว ก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับการยอมรับ การเปิดกว้างของสังคมกับเกย์ ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็ยอมรับว่าหลังจากละครเรื่องนี้ออกอากาศแล้ว กระแสสังคมเป็นตัวบ่งชี้ว่า เกย์ได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะจอนกับทีมีคนดูที่รักมากกว่าคนดูที่เกลียด และไม่มีใครต่อต้านการเป็นคู่รักเกย์ของเขาในการนำเสนอละคร (ยกเว้นกระทรวงวัฒนธรรมรึเปล่า ? ) แต่ประเด็นเรื่องภาพเสนอของความเป็นเกย์ที่ถูกเรียกว่าได้รับการยอมรับนี่สิ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง


เพราะภาพเสนอของจอนกับที เป็นภาพเสนอที่ผู้คนทั่วไปในสังคมให้การยอมรับเกย์ แต่เป็นเกย์แบบที่เขาเรียกว่า "กุลเกย์" การเป็นกุลเกย์ คือการเป็นเกย์ที่ดี ตามแบบฉบับกุลสตรีไทย ที่ต้องไม่แสดงความรู้สึกความต้องการทางเพศ และไม่แสดงความรักอย่างประเจิดประเจ้อ จอนกันทีก็เป็นเช่นเดียวกัน ในครั้งแรก ๆ เราอาจจะยังเห็นได้ว่าจอนกับทียังมีการแตะเนื้อต้องตัวกันบ้าง (เพื่อเรียกเรตติ้งไว้ก่อน) แต่พอหลังจากที่ข่าวเรื่องความห่วงใยจากฝ่ายต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพของคนรักเพศเดียวกันในสื่อ จอนกับทีก็แทบจะไม่ได้ต้องตัวกันแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่า ฉากนั้น ตามชีวิตจริง เราอาจจะต้องนอนกอดกันร้องไห้ก็ตามเหอะ


จอนกับที จึงกลายเป็นคู่รักเกย์ที่มีภาพที่บริสุทธิ์ยิ่งกว่านางเอกพระเอกในละครเรื่องใด ๆ ที่ผ่านมา เป็นรักที่ปราศจากความเงี่ยนกระสันแห่งอารมณ์ทางเพศ เป็นรักที่เราเพียงมองตากันก็สุขที่สุดในโลกแล้ว คุณผู้อ่านอาจจะเถียงว่า บางทีละครอาจจะไม่จำเป็นต้องฉายภาพ "กิจกรรมบางอย่าง" ให้เราดูก็ได้ ในประเด็นนี้ดิฉันยอมรับว่าจริง แต่จริงไม่หมด เพราะในขณะที่คู่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรายกับทัศน์ หรือนุ่นกับอิทธิ์ ละครได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขา "มีอะไรกัน" แต่ทำไมจอนกับที ที่ย้ายมาอยู่ด้วยกันเป็นนานชาติแล้ว จึงไม่มีอะไรให้เห็นนอกจากเดินเฉียดกันไป เดินเฉียดกันมา หรือเพราะว่าจอนกับที เป็นคู่รักเพศเดียวกัน แต่ทรายกับทัศน์ หรือนุ่นกับอิทธิ์ เป็นคู่รักต่างเพศ ซึ่งการแสดงให้เห็นว่ามีเซ็กส์กันเป็นเรื่องปรกติ แต่การแสดงให้เห็นว่าคู่รักเกย์มีเซ็กส์กันเป็นเรื่องที่สังคมที่เปิดรับเกย์มากขึ้นรับไม่ได้


4


ดิฉันไม่ได้เรียกร้องให้รักแปดพันเก้า เสนอภาพให้เห็นว่าจอนกับทีมีเซ็กส์กันฉันแฟน (แต่ถ้าเป็นไปได้คงเปรี้ยวไม่หรอก) แต่เพียงตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าภายใต้คำพูดที่บอกว่า สังคมไทยยอมรับเปิดรับเกย์มากขึ้นนั้นเป็นการยอมรับในบริบทของอะไร แบบไหน ไม่ต้องถึงขั้นให้เห็นว่ามีเซ็กส์กัน แต่ให้เห็นว่าเขายังคงเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกทางเพศ อยากกอด อยากหอม อยากจูบ อยากแสดงความรัก อยากมีเซ็กส์ อยากอื่น ๆ อย่างที่คู่รักเพศเดียวกันพึงแสดงได้ภายใต้ขอบเขตสื่อสังคมไทย (เพราะดิฉันไม่สามารถเรียกร้องอะไรให้ได้มากกว่านี้ )


แต่ในรักแปดพันเก้า ในสังคมไทย ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า หากคุณจะเป็นเกย์ในสังคมไทย และเป็นเกย์ที่ได้รับการยอมรับ การชื่นชม คุณจะต้องเป็นเกย์ที่ปราศจากคาวโลกีย์ ปราศจากเรื่องราวแห่งเพศรส บริสุทธิ์ราวกับนักบวช และเมื่อใดก็ตาม หากคุณเสนอภาพเป็นเกย์ที่มีเรื่องเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อใด ภาพเสนอของความเป็นเกย์ของคุณก็จะตกไปสู่กลุ่มเกย์สำส่อน ที่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังกับความรัก และอาจฆ่าตัวตาย


แล้วคุณล่ะเลือกที่จะเป็นเกย์แบบไหน ?