Skip to main content

เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน: ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือ

คอลัมน์/ชุมชน

เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านอาจมิได้หมายถึงสิ่งของที่ทำไว้เพื่อใช้ในการจับปลาเท่านั้น แต่เครื่องมือหาปลายังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งในชุมชน และนอกชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ การหาปลาได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในชุมชนและต่างชุมชน หากจะกล่าวว่าการใช้เครื่องมือหาปลาเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นก็คงไม่ผิดแปลกเท่าใดนัก

โดยทั่วไปแล้ว ในอดีตเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านจะทำมาจากวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น การทำเครื่องมือหาปลาจึงถือเป็นการนำความรู้ของถิ่นที่มีอยู่มาปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต


เครื่องมือหาปลาบางชนิดอาจคล้ายกันทั้งประเทศ แต่บางชนิดก็มีใช้เฉพาะท้องถิ่นนั้น เช่น มองปลาบึก มองจับปลาบึกจะมีใช้เฉพาะทางภาคเหนือเท่านั้น เพราะมองชนิดนี้ถูกทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการจับปลาบึกอย่างเดียว


เมื่อลองจำแนกเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่หลากหลายออกเป็นประเภทแล้วจะได้ดังนี้


เครื่องมือประเภทดักปลา เครื่องมือประเภทนี้ใช้โดยวางเครื่องมือเอาไว้ในบริเวณที่สังเกตว่าปลาอาจเดินทางผ่าน หรือเป็นแหล่งที่หากินของปลา รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะมีการวางไข่ เครื่องมือหาปลาเหล่านี้บางชนิดก็ใช้เหยื่อ แต่บางชนิดก็ไม่ใช้ เช่น ตุ้มปลาเอี่ยน (ปลาไหล) ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมด้านล่างจะกว้างกว่าด้านบน และมีงาอยู่ตรงด้านล่าง เวลาใช้คนหาปลาก็จะเอาเครื่องมือนี้ไปวางไว้ตามหนองในทุ่งนาหรือริมห้วยที่มีโคลนแฉะ ก่อนจะวางเครื่องมือคนหาปลาจะเอาเหยื่อคือ ไส้เดือน หอยหรือปูเน่า ใส่เข้าไปในด้านในของงาที่ยาวลงมาในตัวตุ้ม หลังจากใส่เหยื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะวางตุ้มบริเวณจุดหมายเป็นลำดับต่อไป


เครื่องมือประเภทที่ใช้ล่อปลา เครื่องมือประเภทนี้ส่วนมากจะใช้เหยื่อ ซึ่งเหยื่อก็มีทั้งลูกปลา ไส้เดือน แมงแม้ (ด้วงไม้ไผ่) เครื่องมือประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นพวกเบ็ดต่างๆ


เครื่องมือที่ใช้จับปลา เครื่องมือประเภทนี้ใช้จับปลาโดยวิธีการสังเกตว่า บริเวณใดจะมีปลาอาศัยอยู่จึงใช้เครื่องมือเหล่านี้ในบริเวณนั้นๆ การใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ต้องอาศัยเทคนิคและความรู้ประสบการณ์ เพราะการใช้เครื่องมือประเภทนี้ไม่ต้องใช้เหยื่อแต่อย่างใด เครื่องมือประเภทนี้ ส่วนมากจะเป็นเครื่องมือประเภทแหชนิดต่างๆ


นอกจากจะใช้เครื่องมือดังที่กล่าวมาแล้ว คนหาปลาบางคนก็มีความเชื่อในการหาปลา และในเครื่องมือหาปลา เช่น ตอนที่ไปเอาไส้เดือนมาทำเป็นเหยื่อจะแสดงท่าทางรังเกียจไม่ได้ เพราะถ้าทำจะทำให้หาปลาไม่ได้ บางคนก็เชื่อว่า ถ้าจะทำแห ในการก่อแหครั้งแรกต้องทำในวันที่หมู่บ้านมีคนตาย การก่อแหครั้งแรกนั้น บางคนก็นิยมทำที่บ้านของตัวเอง บางคนก็นิยมนำไปทำที่บ้านที่มีคนตาย การทำอย่างนี้ คนหาปลาเชื่อว่าจะทำให้หาปลาได้เยอะหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘หมาน’ นั่นเอง


คนหาปลาบึกเชื่อว่า เมื่อจะใช้เครื่องมือหาปลาจับปลาบึกก็ต้องรู้เรื่องพิธีกรรมในการจับปลาบึกด้วย คนหาปลาทุกคนก่อนลงจับปลาบึกต้องบวงสรวงเครื่องมือของตัวเอง บวงสรวงเจ้าที่ บนบานให้จับปลาบึกได้ จับปลาบึกได้แล้วก็ต้องแก้บน เอาไก่ตัวเป็นๆ ฟาดไปตามเครื่องมือหาปลาแล้วเอาไก่ไปต้ม แล้วเอากลับมาทำพิธีแก้บนอีกครั้ง


ในส่วนของทางภาคเหนือแล้ว เครื่องมือที่มีใช้เฉพาะมีอยู่หลายประเภท เช่น มองปลาบึก แซะ สะเบ็ง ไซหัวหมู นาม กวัก เป็นต้น เครื่องมือหาปลาเหล่านี้สามารถที่จะหาวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาทำได้


เครื่องมือหาปลานอกนอกจากจะใช้เพื่อหาปลาแล้ว เครื่องมือหาปลายังได้แบ่งสิทธิในการเข้าถึงเครื่องมือหาปลาไว้อย่างชัดเจน เครื่องมือหาปลาบางชนิด เช่น จ๋ำ (สะดุ้ง) หิง (สวิง) แซะ ซึ่งใช้ตามริมห้วย หนอง หรือทุ่งนา ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการทำและใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้คือกลุ่มผู้หญิงที่สร้างและใช้เครื่องมือด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือหาปลาบางชนิดมากกว่าผู้ชายนั้น อาจจะมาจากเครื่องมือหาปลาที่ผู้หญิงใช้จะมีน้ำหนักเบา และเป็นเครื่องมือหาปลาที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ปลาที่จับตามห้วย หนอง เป็นปลาชนิดที่มีขนาดเล็ก และจับเพื่อเป็นอาหารของครอบครัวเป็นหลัก หากเหลือก็จะขายเป็นรายได้เข้าครอบครัวหรือแปรรูปขาย เช่น นำมาแอ๊บ (ลักษณะคล้ายห่อหมกแต่ต่างกันตรงที่แอ็บไม่ใช้เครื่องปรุงมากเหมือนห่อหมก) เป็นห่อขายในชุมชน บทบาทของผู้หญิงในเรื่องเครื่องมือและการหาปลาจึงเกี่ยวข้องกับความมั่งคงทางอาหารของครอบครัวในชุมชนสองฝั่งของไปด้วย


เครื่องมือหาปลานอกจากจะใช้หาปลาแล้วยังเป็นสิ่งเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชนเข้าหากันและพึ่งพาอาศัยกัน เห็นได้ชัดเจนจากการไหลมองปลาบึก ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ต้องทำหลายคน เมื่อได้ปลาแล้วคนหาปลาก็จะแบ่งปลาหรือเงินที่ได้จากการขายปลาอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย


เครื่องมือหาปลาชนิดจากการยืนยันของคนหาปลาบอกกล่าวตรงกันว่า ระบบนิเวศในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนมาก ปลาในแม่น้ำของมีจำนวนลดลงไป ทำให้เครื่องมือหาปลาบางชนิดต้องเลิกใช้ แต่ก็มีเครื่องมือหาปลาบางชนิดที่เลิกใช้ เพราะมีเครื่องมือแบบใหม่เข้ามาแทนเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน คนหาปลาจึงเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือหาปลาไปด้วย


อ้ายสุขสันต์ ธรรมวงค์ คนหาปลาบ้านหาดบ้ายเล่าว่า "อ้ายเคยคิดนะว่าอยากจะเก็บรักษาเครื่องมือหาปลาที่เคยใช้ไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการของมัน แต่คิดไปแล้วจะเป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ ตอนนี้ลูกหลานในหมู่บ้านบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปลาที่กินอยู่เรียกว่าปลาอะไร ใช้เครื่องมืออะไรจับ ยิ่งตอนนี้จับปลาก็ยากขึ้น เครื่องมือพวกนี้ก็ค่อยๆ หายไป เสียดาย เคยใช้มาแต่ปู่แต่ย่า"


แม้ความคิดของเขาจะยังไม่เป็นจริง แต่วันนี้เขายังคงเป็นคนหาปลาที่ใช้เครื่องมือหาปลาแบบพื้นบ้านอยู่เช่นเดิม และยังคงเป็นคนหาปลาที่รอบรู้เรื่องการทำและการใช้เครื่องมือ รวมทั้งมีความรู้ในเรื่องของปลา และพื้นที่ในการหาปลาอีกด้วย


แต่ความรู้เหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร ในเมื่อภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นยังคงถูกมองข้าม ความรู้ท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นเพียงความรู้ของชาวบ้าน ความรู้ของคนไม่รู้หนังสือ หลักสูตรการศึกษาเองก็เขียนขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งแล้วนำมาใช้กับคนทั้งหมดของประเทศ หลักสูตรสำเร็จรูปเช่นนี้จำกัดการเรียนรู้ของคนท้องถิ่นในเรื่องของรากเหง้าตนเอง


ยิ่งในวันนี้ที่สายน้ำถูกคลื่นการพัฒนาถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ผู้คนให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่นน้อยลง วันนี้คนหาปลา เครื่องมือหาปลา และความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ก็กำลังจะเลือนหายไป


ในอนาคตเราอาจเห็นเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านกลายเป็นเพียงเครื่องประดับที่ห้อยอยู่ตามร้านอาหารหรือในผับเพื่อชีวิตเท่านั่นเอง...