Skip to main content

ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง (2)

คอลัมน์/ชุมชน

ชอมี เอาะ โอ บะ ชอ เดอ ก่อ เต่อ ดิ อะ ล่อ เลอ เลอ เปลอ

ไก่ป่ขันเรียกไก่บ้าน แผ่นดินม่เหมือนแต่ก่อน


(ธา-บทกวีคนปกาเกอะญอ)




ยุคต่อมาในมุมมองของคนปกาเกอะญอเรียกว่า ยุค กอ ลา วา หรือยุคมิชชั่นนารี ในภาษาปกาเกอะญอ เรียก ฝรั่งทางยุโรปหรือคนตะวันตกว่า "กอ ลา วา" ยุคกอ ลา วา จึงหมายถึงยุคที่ฝรั่งเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาหรือยุคมิชชั่นนารีนั่นเอง


ก่อนหน้าที่มิชชั่นนารีจะเข้ามา คนปกาเกอะญอล้วนนับถือศาสนาดั้งเดิมที่เชื่อว่า สถานที่ทุกหนทุกอย่างมีเจ้าของ เช่นน้ำ จะมีเทพแห่งน้ำคอยดูแล ป่าจะมีเทพแห่งป่าคอยดูแล โดยมนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกับอำนาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเหล่านั้นโดยผ่านพิธีกรรมซึ่งต้องผ่านบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีคือ ฮี่โข่ หรือผู้นำหมู่บ้าน ผู้บุกเบิกชุมชนนั่นเอง



แต่เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ ปี 2492 ได้มีคณะมิชชั่นนารีทั้งทางยุโรปและอเมริกา พร้อมกับชาวปกาเกอะญอจากประเทศพม่าที่ประกาศตัวเป็นผู้รับใช้พระคริสต์เจ้า ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาทั้งนิกายโปรแตสแตนท์ และโรมันคาทอลิค ในชุมชนปกาเกอะญอประเทศไทย ทำให้ชาวปกาเกอะญอมากมาย ได้มีการต้อนรับและประกาศตัวเป็นคริสเตียน


การเข้ามาของคณะมิชชั่นนารีมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ การนับถือคริสต์ต้องนับถือพระเจ้าองค์เดียวคือ พระเยซูคริสต์ พระเจ้าผู้สร้างโลก สรรพสิ่งล้วนเป็นของพระเจ้า สรรพสิ่งล้วนเป็นของพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ



ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อดั้งเดิมที่มีเทวาอารักษ์หลายองค์ ธรรมชาติที่แวดล้อมมนุษย์ล้วนมีทุกเทวาดาเป็นเจ้าของไม่ใช่พระเจ้าองค์เดียว


ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนมานับถือคริสต์ต้องตัดพิธีกรรมดั้งเดิมออกนั่นหมายถึง การลบล้างความนึกคิดเกี่ยวกับเจ้าหลายองค์ออก โบสถ์จึงกลายเป็นแหล่งรวมศูนย์กลางความศรัทธาแห่งใหม่ของชาวปกาเกอะญอที่เป็นคริสเตียน ผู้นำทางความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนานั้นจากเดิมที่ฮี่โข่เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ในชุมชม แต่เมื่อมานับถือคริสต์ผู้นำเปลี่ยนมาเป็นศิษยาภิบาลแทน ทำให้ความเชื่อในศาสนามีความแตกต่างกันเกิดขึ้นในชุมชน


อย่างไรก็ตาม ความเชื่อคริสต์ศาสนาและศาสนาดั้งเดิมก็มิได้ขัดแย้งแตกต่างกันทั้งหมด คนในชุมชนที่เป็นคริสเตียนยังคงมีเชื่อความคล้ายคลึงกันในส่วนของความเชื่อที่ว่า ชาวปกาเกอะญอนั้น ไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของธรรมชาติ ผู้เป็นเจ้าของคือพระเจ้า มนุษย์มีหน้าที่ใช้และรักษา ดังนั้น คนปกาเกอะญอต้องให้ความเคารพเกรงกลัวต่อพระเจ้าผู้มีฐานะสูงส่ง ผู้มอบความกรุณาให้ชาวปกาเกอะญอได้ใช้


นอกจากการเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในชุมชนปกาเกอะญอแล้ว คณะมิชชั่นนารียังได้มีแผนงานอื่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตปกาเกอะญอให้ดีขึ้น เพื่อให้ชาวปกาเกอะญอจะได้สำนึกในพระคุณของพระเจ้าผู้ทรงเมตตาผ่านทางมิชชั่นนารี


ชาวปกาเกอะญอจะได้เป็นพยานและเชิญชวนพี่น้องปกาเกอะญอคนอื่นมานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่ม จึงมีแผนงานหลักในการปฏิบัติงาน 3 แผนงานหลักคือ


แผนงานแรก แผนงานด้านเผยแพร่ศาสนาในกลุ่มชาวปกาเกอะญอ โดยการไปจัดตั้งคริสตจักรต่าง ๆ ในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ เช่น คริสตจักรภาคมูเจะคี คริสตจักรภาคแม่สะเรียง คริสตจักรภาคเชียงราย คริสตจักรภาคเชียงใหม่ เป็นต้น



ส่วนทางนิกายโรมันคาทอลิกได้มีกาจัดตั้งศูนย์แห่งแรกที่บ้านแม่ปอน เขตอำเภอจอมทอง


โดยการใช้ภาษาปกาเกอะญอในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในคริสตจักร มีการแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นภาษา ปกาเกอะญอ ทำให้คนปกาเกอะญอบ้านแจ่มน้อยได้อ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลในภาษาปกาเกอะญอได้ รวมทั้งอ่าน เขียน บันทึกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนด้วยภาษาตนเองได้


แผนงานที่สอง เป็นแผนงานด้านการศึกษาโดยจะมีการไปตั้งโรงเรียนคริสเตียนตามคริสตจักรภาคต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสหมิตรวิทยา ในคริสตจักรภาคมูเจะคี โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา ในคริสตจักรภาคเชียงราย โรงเรียนแม่ปอน ในหมู่บ้านแม่ปอน เป็นต้น


และมีการสร้างหอพักนักเรียนเพื่อรองรับการเข้าไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของเด็กชาวปกาเกอะญอในตัวเมืองที่ใกล้เคียง เช่น หอพักนักเรียนกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ เชียงใหม่ โดยเด็กนักเรียนในโรงเรียนและอยู่ในหอพักเหล่านี้จะได้รับการศึกษาทั่วไปและหลักคำสอนของคริสต์ศาสนาควบคู่ไปด้วย


แผนงานที่สาม แผนงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากการศึกษาและศาสนาแล้ว องค์กร


มิชชั่นนารี ได้มีโครงการสนับสนุนด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวปกาเกอะญอที่นับถือคริสต์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนอกจากการผลิตเพื่อยังชีพแล้ว โครงการได้มีการสนับสนุนการผลิตเพื่อขาย มีเงิน มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องงมงายกับสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้า


เมื่อปกาเกอะญอที่เป็นคริสต์มีเศรษฐกิจดีจะได้สำนึกถึงพระคุณของพระเจ้า และเป็นพยานที่จะชักจูงผู้อื่นมาเชื่อพระคริสต์มากขึ้น โดยมีโครงการเกษตร เช่น ปลูกกาแฟ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงโค


สมัยนั้นคนปกาเกอะญอมีการเพาะปลูกตามการส่งเสริมแต่ก็ไม่ได้ปลูกอย่างจริงจัง อย่างคงรักษาวิถีการทำไร่หมุนเวียนเช่นเดิมที่มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน



ในการเข้ามาของมิชชั่นนารีนอกจากเข้ามาทำงานตามแผนงานสามด้านที่กล่าวมาแล้วยังมีการนำยาปฏิชีวนะมาเผยแพร่ในการรักษาคนในพื้นที่ด้วยโดยมีประโยคในการักษาที่ว่า เราเป็นผู้ให้ยา แต่พระเจ้าเป็นผู้รักษา ทำให้คนชาวปกาเกอะญอได้ใช้ยาปฏิชีวนะเช่นยาแก้ปวดพาราเซตตามอล ยาแก้อักเสบ แอสไพริน เป็นต้น จนการรักษาตนเองโดยการใช้สมุนไพรได้ลดลงไป



นับแต่นั้นมาชาวปกาเกอะญอเริ่มมีการแลกเปลี่ยนติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น มีระบบความเชื่อทางศาสนาที่เปลี่ยนจากเดิมมากขึ้น การผลิตในชุมชนจากเดิมที่มีแต่การผลิตเพื่อยังชีพคือ การทำไร่ ทำนา ได้มีการผลิตเพื่อสร้างรายได้ตามการส่งเสริมจากภายนอกเพิ่มขึ้นมา มีการบริโภคปัจจัยที่มาจากข้างนอกมากขึ้นเช่นยารักษาโรค