Skip to main content

หญิงรักหญิงในสังคมจีน

สัปดาห์นี้ ขอพักเรื่องอิเหนาและตากาล๊อคก่อนนะคะ ผู้เขียนได้อ่านนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดและประเด็นที่น่าสนใจมากของประเทศจีน นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์แบบเพศที่สามหรือหญิงรักหญิงของสังคมจีนที่มีมานานแล้ว และเป็นที่ยอมรับในประเพณีและวัฒนธรรมที่สร้างสมสืบเนื่องกันในยาวนาน เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดเป็นนิยายยอดนิยม โดย ลิซา ซี (Lisa See) นักเขียนหญิงอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ในอเมริกาในยุคแรกจนกระทั่งเป็นสังคมไชน่าทาวน์ในอเมริกา




นิยายเรื่องนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า "Snow Flower and the Secret Fan" ได้รับรางวัล Best Novel ปี 2005 จาก The Southern California Booksellers Association และถูกแปลและขายลิขสิทธิ์ไปแล้ว 30 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งมีชื่อในภาษาไทยชื่อว่า "จดหมายลับไป่เหอ" โดย นักแปลคุณภาพ วิภาดา กิตติโกวิท ซึ่งมีเชื้อสายจีน มีความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมจีนอย่างดีเยี่ยม เธอถ่ายทอดความเป็นจีนมาจากภาษาอังกฤษได้อย่างกลมกลืน และผู้อ่านได้ความรู้เกี่ยวกับสังคมจีนเพิ่มเติมจากผู้แปลอย่างมากมายด้วย ซึ่งได้กำไรเป็นสองเท่า


กว่าจะได้นิยายเรื่องนี้ ลิซา ซี ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลเชิงวิจัยถึงประเทศจีนเป็นเวลานาน เพื่อเก็บเรื่องราวความลับระหว่างผู้หญิงกับวัฒนธรรมจีนในช่วงศตวรรษที่ 19 เธอพบว่า การมัดเท้า, ตัวอักษร "หนี่ซู", ความสัมพันธ์ระหว่าง "เหล่าถง" และผู้หญิงจีนภายใต้กรอบคำสอนของผู้ชาย "วัยลูกสาวเชื่อฟังพ่อ ออกเรือนเป็นเมียเชื่อฟังสามี สามีตายเชื่อฟังลูกชาย" มีความเกี่ยวพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เธอได้ถ่ายทอดชีวิตของผู้หญิงออกมาผ่านวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคมจีนได้อย่างลึกซึ้งกินใจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ "เหล่าถง" อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคน ที่เป็นมากกว่าเพื่อนร่วมสาบานอย่างที่เล่าปี่ เตียวหุย และกวนอู สาบานเป็นพี่น้องร่วมน้ำสาบานกันเสียอีก ความสัมพันธ์แบบเหล่าถงนี้จะยั่งยืนไปตลอดชีวิต ใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถผูกสัมพันธ์เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับใครได้อีก ถ้าทำเช่นนั้นถือว่า ทรยศและนอกใจ


ผู้เขียนอ่านนิยายเรื่องนี้จบลงด้วยความสะเทือนอารมณ์ ความสัมพันธ์ที่ไม่ลับแต่ลึกลับ เพราะสังคมจีนยอมรับในประเพณีผูกสัมพันธ์ระหว่างเด็กผู้หญิงในแบบ "เหล่าถง" และพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีว่า ความสัมพันธ์แบบนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นไร แก่เด็กผู้หญิงที่ต้องผูกพันแน่นแฟ้นไปตลอดชีวิตของทั้งคู่ เพราะความใกล้ชิดแบบเหล่าถงจะเริ่มตั้งแต่เริ่มผูกพันกันเป็นเหล่าถงในวัยเด็ก แม้ว่า ทั้งคู่จะต้องแต่งงานแยกครอบครัวไปตามวิถีของตนเองแล้ว ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่อาจจบลงจนกว่าจะตายจากกันไป แม้แต่สามี พ่อแม่สามี พ่อแม่ของตนต้องยอมรับในความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนั้น

การยอมรับและรู้แก่ใจว่า ลูกสาวตนจะรู้สึกอย่างไรต่อเหล่าถงถูกถ่ายทอดผ่านตัวละคร ผู้เป็นแม่ของไป่เหอ ที่ตักเตือนลูกสาวเมื่อต้องออกเรือนแต่งงาน ด้วยถ้อยคำที่แฝงความหมายว่า แม่หวังว่าเจ้าจะยังจำได้นะไป่เห่อ ว่าบางครั้งเราก็หนีความน่าเกลียดไม่พ้น เจ้าต้องกล้า พวกเจ้าได้สัญญากันว่าจะเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดชีวิต จงเป็นสตรีที่เจ้าสมควรจะเป็น....เพราะว่า ความรักและผูกพันของเหล่าถงนั้นไม่ธรรมดา แต่ก็เป็นความน่าเกลียดที่จะยอมรับออกมาอย่างตรงไปตรงมา คำเตือนของแม่จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะกำกับให้ลูกสาวปฏิบัติตนเช่นผู้หญิงในวัฒนธรรมจีนทั่วไปโดยไม่แหกประเพณี คือ ต้องทำหน้าที่ เมีย แม่ และแม่หม้าย ไปตลอดจนจบชีวิต


นั่นหมายถึง เหล่าถง จะทรมานกับความรู้สึกภายในของตนเองไปตลอดชีวิตด้วย ดั่งเช่น ไป่เหอและเสว่ฮวา


ผู้เขียนมองว่า ลิซา ซีถ่ายทอดถึงความเข้มงวดของประเพณีจีนที่มีต่อผู้หญิง ชีวิตที่ถูกจำกัดและไร้ตัวตนภายใต้กรอบของความเป็นชาย การสร้างประเพณีเหล่าถงและตัวหนังสือหญิง "หนี่ซู" เปรียบเสมือนพื้นที่หนึ่งให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง มีพื้นที่ในการระบายความทุกข์ระทมจากความกดดันของประเพณีและสังคมได้ ....แต่สุดท้าย พื้นที่ดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นการกักขังความรู้สึกของพวกเธอ ภายใต้กรอบของความเป็นชายอย่างทุกข์ทรมาน อีกครั้งเช่นกัน .......