Skip to main content

"การบ้านครูกับความเจ็บปวดของหนู"

คอลัมน์/ชุมชน

เช้าวันแรกของสัปดาห์ที่ใกล้ถึงวันพ่อแห่งชาติ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ซึ่งมีลูกสาววัย ๘ ขวบ เดินมาหาผู้เขียนด้วยสีหน้าที่ไม่สบายใจและเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า …


เพื่อนร่วมงาน : "เมื่อวานสงสารลูกมากเลยพี่"
ผู้เขียน : "เกิดอะไรขึ้นกับเค๊าล่ะ"
เพื่อนร่วมงาน : "คือว่า ครูเขาให้ทำการบ้าน โดยให้ทำการ์ดวันพ่อ ที่มีรูปเขากับพ่อน่ะสิพี่ หนูต้องไปค้นหานานมากเลย กว่าจะได้มารูปหนึ่ง เก่ามาก ตั้งแต่สมัยที่แกอายุพึ่งจะ ๔ ขวบเอง …เฮ้อ"


ผู้เขียนคิดว่า ผู้อ่านอาจจะนึกไม่ออกว่า การบ้านง่าย ๆ แค่นี้จะสร้างความทุกข์ทรมานใจให้เด็กน้อยและแม่ของเธอได้อย่างไร หรือบางท่านอาจจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมรูปถ่ายกับพ่อใบเดียวจึงหายากจัง??


หลังจากปลอบใจกันไปตามเรื่องตามราวแล้ว ผู้เขียนกลับมานั่งคิดต่อว่า ผ่านไปเกือบ ๓๐ ปี ทำไมการบ้านจากคุณครู เกี่ยวกับเรื่องความหมายของ "ครอบครัว" จึงไม่เคยเปลี่ยน และคุณครูจะรู้บ้างไหมหนอว่า สิ่งที่คุณครูคิดว่าเป็นเรื่องง่ายจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากใจ และสร้างความเจ็บปวดในใจของเด็กน้อยบางคน


สมัยที่ผู้เขียนอายุ ๘ ขวบ พ่อกับแม่ตัดสินใจแยกทางกันด้วยเหตุผลว่า พ่อกับแม่ทัศนคติไม่ตรงกัน ซึ่งแปลว่า เขาทั้งคู่รู้สึกไม่รักกันแล้ว และไม่อยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไป จากความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา จึงเปลี่ยนเป็นอดีตสามีภรรยา แต่ความเป็นพ่อกับแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้เขียนในตอนเด็กจึงรู้สึกว่า พ่อกับแม่ยังรักเราเหมือนเดิม และดีเสียอีกที่มีบ้านให้ไปเที่ยวที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง…


แต่พอหลังจากนั้น ผู้เขียนจึงพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมวันพ่อและวันแม่ของทุกปีเป็นเรื่องยุ่งยากจริง ๆ สมัยก่อนนั้น (ไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ยังมีไหม) คุณครูจะต้องให้นักเรียนพาพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่มาให้ลูกเอาพวงมาลัยดอกมะลิกราบแทบเท้าท่านบนเวที


จำได้ว่าปีแรก ผู้เขียนและน้องต่างดิ้นรนให้พ่อและแม่มาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยกัน แต่พอปีต่อมา "เรา" (ผู้เขียน น้อง พ่อและแม่) จึงมานั่งคุยกันว่า คงไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมกิจกรรม หลัง ๆ พ่อและแม่ของผู้เขียนและน้องจึงกลายเป็นลุงกับป้าที่ขายขนมหน้าโรงเรียนแทน (อิอิ)


ต่อเมื่อผู้เขียนเติบโตขึ้น จึงได้เรียนรู้ว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ไม่ใช่มีเพียงแค่เป็นเด็กที่มี "องค์ประกอบพ่อแม่ลูกครบ" เท่านั้น แต่ขึ้นกับ "การเลี้ยงดูเด็ก" ด้วยความรักและเข้าใจจากผู้ใหญ่ใจดีต่างหาก ซึ่งอาจจะเป็นใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ หรือแม่ ญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา เจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์ สถานพินิจ หรือแม้แต่พระสงฆ์ เป็นต้น เพราะในสมัยนี้รูปแบบของความเป็นครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว…


การเข้าใจความหมายของคุณภาพ "ครอบครัว" เช่นนี้ จะทำให้หญิงชายคู่หนึ่งไม่จำเป็นต้องทนที่จะใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันต่อไป เพียงเพราะเหตุผลว่า ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา (เลยหันไปหายาเสพติด หรือไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร) ถึงแม้ว่า เด็กที่มีพ่อแม่อยู่ครบ แต่พ่อแม่กลับไม่เคยมีเวลาใส่ใจ พูดคุยกับลูก หรือทะเลาะกันต่อหน้าลูกบ่อย ๆ ทุกวัน เด็กคงคิดในใจว่า ถ้าพ่อแม่เป็นแบบนี้เลิก ๆ กันไปเสียที (ยังดีเสียกว่า)


ดิฉันจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมลูกสาวเพื่อนจึงไม่มีความสุขกับการบ้านของครูในวันพ่อปีนี้ แต่คุณครูจะรู้ไหมนะว่า เด็กนักเรียนในห้องกว่าครึ่งที่พ่อแม่แยกทางกัน บางคนพ่อหรือแม่ตาย บางคนไม่รู้ว่าพ่อแท้ ๆ ของตัวเองเป็นใคร บางคนมีพ่อหรือแม่ที่ไปทำงานไกลในต่างจังหวัด และนักเรียนที่มีทั้งพ่อและแม่บางคนไม่เคยมีโอกาสไปเที่ยว หรือถ่ายรูปด้วยกันเป็น "ครอบครัว" …


เอ…อยากรู้จังว่า ถ้าให้การบ้านคุณครูวาดรูปวันพ่อปีนี้ คุณครูจะวาดรูปอะไร?