Skip to main content

ยุทธการปราบเมียน้อย : ใครเป็นเมียน้อยยกมือขึ้น

คอลัมน์/ชุมชน

1


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่รักขา ถ้าช่วงนี้ดิฉันมาช้าไปบ้างก็อย่าเพิ่งก่นด่ากันนะคะ ก็แหม ดิฉันก็ต้องไปหาลู่ทางในการทำมาหากินบ้างสิคะ เพราะคาดว่าอนาคตการเขียนหนังสือคงไม่รุ่ง (น่าจะไปเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นรุ่งรวี เผื่อดวงอาจจะเปลี่ยน) ขืนยังดันทุรังต่อไป อาจจะอดตายได้ ก็เลยต้องตระเวนหางานทำ ดีกว่าจะมาช่วยแม่ขายข้าวแกงเป็นไหน ๆ เพราะอย่างน้อยการเป็นมนุษย์ทำงาน ที่ตึกสูงใหญ่ใจกลางเมือง ก็ยังได้พานพบประสบผู้ชาย (หล่อๆ) ในชุดทำงานฟิตเปรี๊ยะ เดินไปเดินมาเป็นอาหารตา คาดว่าคงเจริญหูเจริญตากว่าวินมอเตอร์ไซค์ที่หน้าปากซอยบ้านดิฉัน เห็นด้วยไหมคะ คุณผู้อ่านที่รักขา


แต่โชคชะตาก็ช่างกลั่นแกล้งผู้หญิงสวย ๆ อย่างดิฉัน เพราะเดินสมัครงานมาหลายสัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววของการเรียกไปสัมภาษณ์แต่อย่างใด จนดิฉันเองก็เริ่มเหนื่อยและท้อแท้ เวทนาในชะตาชีวิตของผู้หญิงสวยอย่างตัวเอง พลันดิฉันก็คิดได้ว่า มีงานอะไรบ้างที่สบาย ๆ มีเงินใช้ มีความสุข และได้แต่งตัวสวย ๆ คิดไปคิดมา ดิฉันก็คิดได้ดั่งบรรลุธรรมว่า ผู้หญิงสวย ๆ อย่างดิฉันจะมัวไปเดินสมัครงาน ตื่นเช้า โหนรถเมล์อยู่ใย เหนื่อยเปล่า ๆ ปลี้ ๆ เงินเดือนรึก็น้อยนิด ควรจะหันมายึดสุภาษิตโบร่ำโบราณที่ว่า


เรียนไป (ทำงานไป) ก็ปวดหัว มีผัวดีกว่า !


เห็นด้วยไหมคะ คุณผู้อ่านที่รัก ก็แม่ดิฉัน ยายดิฉันก็ชอบพูดบ่อยว่า ๆ เป็นผู้หญิงน่ะ จะเรียนไปทำไมมากมาย จบมาก็หาผัวเหมือนกัน สู้เอาเวลาเรียนไปหาผัวดี ๆ รวย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ และไม่ใช่ว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับแม่หรือยายของดิฉันนะคะ แต่ดิฉันก็นำคติเหล่านั้นมา apply ให้เข้ากับชีวิตผู้หญิงสมัยใหม่ ก็คือ ใช้เวลาไปเรียนนั่นแหละในการหาผัว อูย เด็กมหาลัย พ่อแม่มันรวย ๆ ทั้งนั้นแหละค่ะ ยิ่งมหาลัยดัง ๆ แล้วล่ะก็ ทั้งหล่อทั้งรวย เก๋ไหมคะคุณผู้อ่านที่รัก วิธีหาผัวแบบประยุกต์ของดิฉัน


แต่เมื่อคิดไปแล้ว ครั้นจะเปลี่ยนสถานภาพตัวเองจากผู้หญิงไปเป็นเมีย (ใครบอกว่าผู้หญิงกับเมียเป็นสถานภาพเดียวกัน ไม่จริงนะคะ ) ก็กลัวว่า สถานภาพเมียนั้นจะสร้างความยุ่งยาก หากจะต้องแต่งงานดิฉันก็คงต้องกลายมาเป็นแม่บ้านคอยซักกางเกงในให้ผัว หากมีลูกก็ต้องกระเตงให้นมมันจนนมยาน คิดมากมายสาระตะแล้ว ก็เกิดบรรลุธรรมขึ้นมาอีกขั้นว่า เป็นเมียแบบนี้มันไม่ได้ช่วยให้ดิฉันได้อย่างที่หวังไว้เลย แล้วเมียแบบไหนล่ะ ที่สบายกว่าเมียหลวง


ก็เป็นเมียน้อยไงคะ ! สบายกว่าเป็นไหน ๆ เมื่อพูดถึงการเป็นเมียน้อยแล้ว ก็คงต้องพูดถึงละครเรื่องนี้ "ยุทธการปราบเมียน้อย" เป็นละครทางช่อง 3 ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ บทประพันธ์โดยไพโรจน์ สังวริบุตร บทโทรทัศน์โดย ตุณย์ นำแสดงโดย จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ จันทร์จิรา จูแจ้ง ยุทธการปราบเมียน้อย เป็นละครแนวคอมเมดี้ ที่มีเนื้อหาเหมือนละครน้ำเน่าอื่น ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวเมียหลวง เมียน้อย แย่งผัวคนเดียวกัน (ที่ไม่หล่อแล้วยังอ้วนอีกต่างหาก) ก่อนที่เราจะไปสำรวจความคิดในละครเรื่องนี้ ก็ขอเขียนถึงเรื่องราวอย่างย่อ ๆ ของละครน้ำเน่า แบบเมียหลวงเมียน้อยเรื่องนี้ก่อนแล้วกันนะคะ


2


ยุทธการปราบเมียน้อย เป็นเรื่องราวของครอบครัวสุพล กับบุษบา คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ เรื่องราวการปราบเมียน้อยเกิดขึ้นเมื่อสุพล มีความสัมพันธ์กับเลขาสาวหน้าห้องสุมาลี แล้วส่งเสียเลี้ยงดูกันในฐานะ "เมียน้อย" แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็ถึงหูของบุษบาจนได้ บุษบาขอหย่าจากสุพล แต่สุพลไม่ยอมพร้อมกับสัญญาว่าจะเลิกกับสุมาลี


แต่ความจริงแล้ว สุพลยังคงติดต่อกับสุมาลีอยู่ พร้อมกับจัดแจงผ่อนดาวน์บ้านให้อยู่ จนบุษบาทราบความจริง จึงได้ไปบังคับเจ้าของโครงการให้โอนชื่อเป็นชื่อของตัวเอง เมื่อสุมาลีรู้ว่าบ้านตกเป็นของบุษบาแล้ว ก็โกรธมากจนระงับสติไม่อยู่ เอาไม้ฟาดรถเก๋งของสุพลและเพื่อน ๆ จนพัง บุษบาต้องการจะเอาผิด จึงหลอกล่อทางโทรศัพท์จนทำให้สุมาลีเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสุมาลีก็ถูกตำรวจจับ


สุพลพาสุมาลีไปงานแต่งงานของเพื่อนอย่างออกหน้าออกตา แต่บุษบาก็ตามมาคุม จนเมื่อสุพลต้องขึ้นไปกล่าวอวยพร แต่สุพลไม่ได้เตรียมตัว บุษบาจึงอาสาขึ้นไปแทน พร้อมกับร่ายยาวด่าบรรดาเมียน้อยทั้งหลายที่มาในงาน จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตทางหน้าหนังสือพิมพ์ บุษบากลายเป็นเมียหลวงตัวอย่างที่บรรดาเมียหลวงทั้งหลายต่างโทรมาให้กำลังใจ


สุมาลีโกรธมากที่บุษบาร้องเรียนหัวหน้าตน จนถูกย้ายด่วนภายใน 24 ชั่วโมง จึงคิดจะใช้แผนตั้งท้อง บุษบาจับได้ว่าสุพลยังติดต่อกับสุมาลีคาหนังคาเขา บุษบาเข้าไปด่าแหลก แต่สุมาลีก็อ้างว่าตัวเองท้องกับสุพลแล้ว บุษบาจึงตอกกลับว่าสุพลเป็นหมัน


สุมาลีย้ายไปอยู่กับ ดาว กะเทยเจ้าของร้านเสริมสวย ที่อยู่กับผัวหนุ่มคือต้อม สุมาลีต้องการแย่งสุพลกลับมา จึงแกล้งเป็นแฟนกับต้อม เพื่อให้สุพลหึง แต่สุพลคิดว่าคงไม่มีทางหย่ากับบุษบาได้ จึงตัดใจ จนเมื่อต้อมไปบอกความจริงกับสุพล สุพลกับสุมาลีก็กลับมาครองรักกันอีกครั้งหนึ่ง บุษบารู้เรื่องเข้าจึงตามมาอาละวาด จนสุมาลีได้รู้ความจริงว่าสุพลนั้นหลอกลวงตนเองมาตลอดจึงตัดสินใจตัดความสัมพันธ์


เป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่าเรื่องราวในละครเรื่องยุทธการปราบเมียน้อยคงไม่ไปตรงกับชีวิตจริงของใครเข้านะคะ (เพราะบางคนก็บอกว่าละครนั้นก็เขียนมาจากชีวิตจริง) แต่จะเขียนให้ใครเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสุดท้ายมันก็ต้องเสริมเติมแต่งเพื่อให้เป็นละคร จริงไหมคะ ส่วนในละครนั้น จะสะท้อนเรื่องอะไรก็เป็นอีกส่วนที่ผู้เขียนบท "จงใจ" จะให้เป็นอยู่แล้ว ละครเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน



3


ก่อนอื่นดิฉันขอตั้งข้อสังเกตตามประสาผู้หญิงที่คิดมากก่อนว่า ชื่อตัวละครผู้หญิงในละครเรื่องนี้น่าจะมีที่มา สุมาลี เมียน้อยตัวร้ายในเรื่อง คำว่า "สุ" นั้นคงเป็นคำย่อมาจากคำว่า สุวรรณ ที่แปลว่า "ทอง" ส่วนมาลีนั้น ไม่ต้องย่อ แปลว่าดอกไม้ สุมาลี หรือเมียน้อยตัวร้ายในละคร จึงหมายถึง ผู้หญิงดอกทอง แย่งผัวชาวบ้าน (อันหลังนี่ ดิฉันเติมเองนะคะ) ส่วนนางเอกหรือเมียหลวงในเรื่อง บุษบา ชื่อของเธอ นอกจากจะมีความหมายถึง "ดอกไม้" เหมือนสุมาลีก็ตาม แต่ในอีกความหมายหนึ่ง บุษบานั้นคงหมายถึง นางบุษบาในอิเหนา นางบุษบาผู้เลอโฉม และที่สำคัญความหมายของนางบุษบาคือผู้หญิงผู้มาก่อน (นางจินตราวาตี) หรือเมียหลวงนั่นเอง


นัยยะแห่งชื่อตัวละครที่เป็นผู้หญิงทั้งสองคน ก็เป็นตัวบ่งบอกสถานะ หรือลักษณะบางอย่างที่ผู้เขียนได้จัดวางเอาไว้แล้ว พร้อมด้วยอคติ และความเชื่อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำว่า "เมียน้อย" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเมียน้อยประเภทไหน อย่างไร สุดท้ายแล้วความเป็นเมียน้อยก็ต้องตกอยู่ภายใต้วาทกรรม "ผู้หญิงดอกทอง" ที่แย่งผัวชาวบ้านอยู่ร่ำไป แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นนางเอก หรือตัวร้าย เมียหลวง หรือเมียน้อย ก็เป็นเพียง "ดอกไม้" ของผู้ชายเท่านั้นเอง


ด้วยความโชคดีที่ดิฉันเรียนกฎหมาย (อ้อ ลืมบอกไปว่า ดิฉันเรียนจบแล้วนะคะ ถึงจะจบมาได้อย่างกะท่อนกะแท่นเต็มทีก็ตาม ) จึงทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของเมียน้อยในทางกฎหมายบ้างเล็กน้อย ถึงแม้เราอาจจะไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเมียน้อยคนแรกเป็นใคร (และมันก็ไม่สำคัญ) ในประวัติศาสตร์ชาติสยาม แต่เราก็รู้มาว่าในอดีตนั้น สถานะของเมียน้อยได้รับการรับรองโดยกฎหมาย และเมียน้อยก็มีการจัดแคตตาล็อกไว้เรียบร้อยว่าถ้าคุณจะเป็นเมียน้อย คุณจะเป็นเมียน้อยแบบไหน เมียน้อยที่มาจากไพร่ เมียน้อยที่มาจากทาส เมียน้อยที่มาจากการประทานให้เป็นของขวัญ


ในประเด็นนี้ ดิฉันขอวางอุดมการณ์เรื่องความเป็นวัตถุกับความเป็นผู้หญิงไว้ก่อน เพื่อที่จะพิจารณาว่า แท้จริงแล้ว เมียน้อยไม่ใช่ "กระแสรอง" หรือถูกผลักให้ออกจากระบบศีลธรรม ระบบสังคม และระบบกฎหมายอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เมียน้อยในสมัยก่อนที่จะมีการรับกฎหมายสมัยใหม่จากชาติตะวันตกเข้ามา เป็นเมียน้อยที่มี "ตัวตน" จริง ทั้งในทางสังคมและกฎหมาย ลูก ๆ ของพวกเธอ ก็มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อเช่นเดียวกันกับลูกเมียหลวง ถึงแม้ว่าในประเด็นนี้จะถูกพวกเฟมินิสต์อีกหลายสำนักค่อนขอดว่า ถึงอย่างไรความเป็นเมียก็ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม (และสังคม) ในระบบชายเป็นใหญ่ก็ตาม แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่าเมียน้อย สำเนียงในการพูดของสมัยนั้นกับสมัยนี้คงต่างกัน เคยมีใครไหมที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า "ฉันเป็นเมียน้อยค่ะ "


ความเป็นเมียน้อยในสังคมสมัยใหม่ (ตามระบบกฎหมายสมัยใหม่) เมียน้อยจึงถูกผลักออกจากระบบสังคม กฎหมาย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยหากจะคิดกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ถึงแม้คำว่าศีลธรรมอันดีนั้น ขึ้นอยู่กับสังคมหนึ่ง ๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามจริตคนไทยแล้ว ความเป็นไทย (ที่ดี) มักจะมีการสืบย้อนไปถึงโคตรเหง้าเหล่าตระกูลยิ่งไกล และยาวนานได้เท่าไหร่ยิ่งดี ความเป็นไทยจะยิ่งเลอค่า สูงค่า และควรค่าการเป็นไทยมากขึ้นเท่านั้น


แต่ในกรณีนี้ เรากลับลืมไปว่า ความเป็นเมียน้อยในสมัยร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้รับการยอมรับ (ในแง่ของการมีตัวตน) จากทางสังคมและกฎหมาย และที่สำคัญ มาตรวัดทางศีลธรรมที่ไม่ได้เข้มข้นดังเช่นในปัจจุบันนี้ แต่การเปลี่ยนระบบกฎหมายตามตะวันตก เพื่อให้สยามประเทศนั้นทันสมัย เป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว เพื่อง่ายต่อการจัดการระบบครอบครัว และมรดกที่ซับซ้อน ทำให้เมียน้อยกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง และผิดบาปอย่างมหันต์ทางศีลธรรมและสังคม ด้วยเพราะประเทศไทยต้องการตามก้นฝรั่ง ให้เป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว จะได้เป็นประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว (ไหน คนไหนมันชอบบอกว่าตะวันตกบ้าเซ็กส์ คนไทยเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ยกมือขึ้นหน่อยสิคะ)


ภาพของการเป็นเมียน้อยในปัจจุบันจึงบิดเบี้ยว กลายเป็นผู้หญิงที่ร่านสวาท นมใหญ่ เซ็กส์จัด ขี้เกียจทำงาน แต่ไปจับผัวชาวบ้านมาเป็นผัวตัวเอง ตามยื้อยุดฉุดสวาทกับเมียหลวง ตบกันได้ทุกครั้งที่เจอกัน กลายเป็นผู้หญิงที่ไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง (นอกจากเรื่องเซ็กส์และนมใหญ่ ) เมียน้อยในยุคสมัยปัจจุบัน จึงถูกปิดตายจากสังคม ศีลธรรม ความเป็นแม่ และระบบครอบครัว ด้วยการสร้างภาพเช่นนี้เพื่อให้ระบบครอบครัวในการผลิตประชากรของชาติ เป็นระบบที่สงวนไว้เฉพาะผู้หญิงดี เพื่อเป็นแม่ที่ดี และประชากรของชาติจะได้เป็นอนาคตที่ดีต่อไป เพราะพ่อแม่มันดีนี่เอง


ความเป็นเมียน้อยจึงถูกทำให้หายไป เพื่อ "การสร้างชาติ" จากสยามประเทศ เป็นประเทศไทยที่มีความศิวิไลซ์ ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ (ตะวันตก) ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมายหรือทางสังคม ที่บางครั้งประเทศไทยเองเป็นตัวกระทำที่พยายามบีบขับประชาชนในชาติ เพื่อที่จะจัดการความเป็นระบบระเบียบ เพื่อจัดการชาติให้เป็นรูปเป็นร่าง และง่ายต่อการจัดการแทรกแซง โดยการสร้างวัฒนธรรม หรือมาตรฐานทางศีลธรรมขึ้นมา เพื่อกำจัดบางพวกบางกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์ ที่เป็นตัวขัดขวางในการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น และศิวิไลซ์ตามตะวันตก และเมียน้อยเองก็คือหนึ่งในเหยื่อภายใต้วาทกรรมของการสร้างชาติให้สมัยใหม่


4


ดิฉันไม่ได้มาชวนคุณผู้อ่านให้มาเป็นเมียน้อย หรือออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้กับการเป็นเมียน้อย เห็นอกเห็นใจ หรืออะไรเทือกนั้น เพียงแต่ดิฉันต้องการจะทำให้เห็นว่า การมีอยู่ของเมียน้อย ไม่ว่าจะเป็นภาพเสนอในละครโทรทัศน์หรืออื่น ๆ และการถูกทำให้หายไปของเมียน้อยในสังคมสมัยใหม่นั้น มีความเป็นมาอย่างไรในเชิงประวัติศาสตร์ชาติ โดยไม่ว่าเราจะเอาอะไรเป็นมาตรวัดก็ตาม จะใช้มาตรวัดทางศีลธรรม เราก็เห็นกันแล้วว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ศีลธรรมก็ไม่สามารถที่จะวัดความดีเลวของการเป็นเมียน้อยได้ เพราะศีลธรรมเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างชาติ แล้วเหตุใดเมียน้อยสมัยนี้จึงถูกศีลธรรมจ้องที่จะกลืนกินอยู่ตลอดเวลา


แต่สิ่งที่น่าหัวเราะมากไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่เฟมินิสต์สายอื่น ๆ กำลังบอกว่า สถานะเมียหรือสถานะเมียน้อยเป็นการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุ แต่เมื่อเราหันกลับมาพิจารณา เรื่องราวในละครที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผัว เมียหลวง และเมียน้อยนั้น จะเห็นได้ว่า "การแย่งผัว" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของละครแนวนี้ ที่เมียหลวงและเมียน้อยจะต้องตบตีแย่งชิงกันตลอดทั้งเรื่องนั้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้ชายก็ถูกทำให้กลายเป็น "วัตถุ" เช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะวัตถุ "ชิ้น" นี้กำลังถูกยื้อแย่งเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของ ความมีกรรมสิทธิ์เหนือจากแต่ละฝ่าย เพียงแต่ว่า วัตถุชิ้นนี้อาจจะมี "ค่า" บางอย่างที่ทำให้ผู้หญิงสองคนจะต้องแย่งชิงกัน (คงจะรู้นะคะว่า "ค่า" นั้น คืออะไร )


เรื่องราวที่น่าสนใจในละครเรื่องยุทธการปราบเมียน้อยนั้น ไม่ใช่มีเพียงการแย่งผัวกันระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก คือตัวละครอย่าง "ดาว" กะเทยช่างเสริมสวย ที่มีผัวเป็นผู้ชายทั้งแท่ง ทั้งหนุ่มและหล่อ การเสนอเรื่องราวของดาวก็เหมือนกับเรื่องเล่าที่เราได้ฟังอยู่บ่อย ๆ ก็คือ กะเทยใช้เงินเลี้ยงผู้ชาย แล้วพอนาน ๆ ไปผู้ชายก็หนีไปเอากับผู้หญิงจริง ๆ แล้วกะเทยก็อกหักช้ำรัก ดาวก็เช่นเดียวกัน เธอเลี้ยงดูต้อม ผัวหนุ่มของเธออย่างกับเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ที่คอยให้ข้าวให้น้ำ ตามใจ แต่ไม่ให้ทำอะไรเลย นอกจากสถานะของการเป็น "ผัว" ของฉันเท่านั้นเอง


ละครเรื่องนี้ไม่ได้เสนอภาพของผัวหนุ่มที่ชั่วช้า เตะถีบกะเทยแก่เพื่อเอาเงินไปหาผู้หญิง แต่เป็นการเสนอภาพของการไม่เข้าใจสถานะ "ผัว" ของกะเทยอย่างดาวว่าผัวก็เป็นคน และผัวคนนี้ก็เป็นผู้ชายที่อยากเป็นผู้นำ อยากมีอาชีพเลี้ยงตัวเอง อยากเป็นผัวแบบที่เมียเป็นผู้ตาม ไม่ใช่แบบที่กะเทยเป็นผู้นำ (แต่ใจจริงอาจจะอยากเป็นผัวที่มีเมียเป็นผู้หญิงนั่นแหละ) แล้วเราก็ได้เห็น และเห็นใจผัวกะเทยแก่อย่างต้อมว่าถูกกระทำในฐานะความเป็น "ผู้ชาย" อย่างไร เพราะเราเองและคนอื่น ๆ ก็มีความคิดถึง "ความเป็นผู้ชาย" ไว้แล้วว่าจะต้องเป็นแบบที่ต้อมโหยหาต้องการ เพราะฉะนั้นการที่ต้อมเริ่มเบื่อเมียกะเทยแก่ ด้วยเพราะอยากเป็นผู้ชาย (เพราะผู้ชายไม่ใช่แค่เป็นผู้นำ แต่ผู้ชายต้องเอาผู้หญิงไม่ใช่เอากะเทยไงคะ)


ดิฉันไม่ได้เพียงสนใจแค่เรื่องการนำเสนอความเป็นผู้ชายกับการเป็นผัวของกะเทย หรือความเป็นกะเทยกับการเป็นเมียของผู้ชาย แต่ที่ดิฉันสนใจมากกว่านั้นก็คือ ความเป็น "คุณม้า อรนภา" กับความเป็นกะเทย เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ม้า อรนภา เป็นกะเทยที่แปลงเป็นหญิงแล้ว แต่สุดท้าย สัจธรรมแห่งอุดมการณ์เพศก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้ กะเทยก็เป็นกะเทยวันยังค่ำ ม้า อรนภา เธอแสดงละครเรื่องอะไร เธอก็ได้รับบทที่เป็นกะเทย ถึงแม้ว่ารูปร่างหน้าตา สรีระ ของเธอจะเป็นผู้หญิงแล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังต้อง "แสดง" เป็น "กะเทย"


น่าตลกสิ้นดีกับการที่ "กะเทย" ต้องมาแสดงเป็น "กะเทย" สุดท้ายแล้วคำว่า "การแสดง" นั้นไม่ได้มีความหมายเหมือนในตัวของมันเอง การแสดงไม่ใช่การแกล้งเป็น ใช่ การที่คน ๆ หนึ่งจะแสดงบทบาทที่ไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง คุณอาจจะแสดงเป็นคนบ้าได้ ถึงแม้คุณเป็นปกติ คุณอาจจะแสดงเป็นคนชั่วได้ ถึงแม้คุณเป็นคนดี แต่คุณไม่อาจจะแสดงเป็นผู้ชายได้ หากคุณเป็นผู้หญิง คุณไม่อาจจะแสดงเป็นผู้หญิงได้ หากคุณเป็นผู้ชาย และคุณก็ไม่อาจจะแสดงเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายได้ หากคุณเป็นกะเทย เพราะคติ ความเชื่อ ในการเป็นเพศนั้นผูกติดคุณไว้แน่นหนา แม้คำว่าการแสดงที่เป็นศาสตร์แห่งศิลปะในการแสร้งเป็นก็ไม่อาจจะพังทลายกำแพงนั้นได้


ม้า อรนภา เธอก็ต้องแสดงเป็นกะเทยไปจนตาย เพราะเธอเป็นกะเทยนั่นเอง