Skip to main content

ทำไมเด็กเวียดนามจึงชอบเรียนคณิตศาสตร์ แต่เด็กไทยไม่?

คอลัมน์/ชุมชน

ข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า "เด็กนักเรียนเวียดนามชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์กันมาก เพราะเรียนแล้วรู้สึกสนุก" เพื่อนผมคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังเมื่อสิบปีก่อนหลังจากกลับมาจากการเยือนมหาวิทยาลัยในเวียดนามว่า "เด็กเวียดนามได้เหรียญทองในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกเป็นเข่งเลย" ในขณะที่เมื่อเวลานั้นเด็กไทยไม่เคยได้รับ จะเพิ่งมาได้บ้างก็ในระยะหลังๆ นี้เอง

หันมาดูการเรียนคณิตศาสตร์ในบ้านเราเองกันบ้าง แม้ว่าเราไม่สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลได้ แต่เราคงทราบกันดีว่า คณิตศาสตร์เป็น "ยาขม" สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ผมเคยเห็นคะแนนสอบโอเนตในวิชาคณิตศาสตร์ (ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชนิดอย่างง่าย) ปีล่าสุด พบว่าคะแนนเฉลี่ยในวิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 24 เท่านั้น ทั้งๆ ที่ข้อสอบเกือบทั้งหมดเป็นการเลือกคำตอบที่ถูกเพียง 1 ตัวเลือกจากทั้งหมด 4 ตัวเลือก ถ้าคิดกันตามหลักความน่าจะเป็นแล้ว คนที่ไม่มีความรู้เลยก็น่าจะมีโอกาสทำคะแนนได้ถึงร้อยละ 25


ข้อมูลนี้สะท้อนอาการขั้นโคม่าของการศึกษาคณิตศาสตร์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน


เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้ถามนักศึกษาชั้นปีที่ 1 (ที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์) จำนวน 3 คนว่า "สูตรพื้นที่วงกลมคืออะไร" ปรากฏว่านักศึกษาทั้ง 3 คน ตอบไม่ถูกเลย พวกเขาลังเลว่า "ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับ สองเท่าของรัศมีหรือรัศมียกกำลังสองกันแน่" ผมถามกลับไปว่า "ถ้าเป็นพื้นที่มันหมายถึงอะไรคูณอะไร แล้วหน่วยของมันเป็นอะไร และถ้าเป็นความยาวของเส้น หน่วยมันควรจะเป็นอะไร" พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้อีก นี่ก็สะท้อนความล้มเหลวทั้งความจำและความเข้าใจของผู้เรียน



ผมเองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชาคณิตศาสตร์มานานกว่า 30 ปี ได้พบว่าปัญหานี้รุนแรงเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ผมเคยร้องเรียนต่อผู้หลักผู้ใหญ่และบอกกล่าวกับสังคมมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอะไรอย่างเป็นระบบ ที่พยายามกันมากหน่อยก็คือการจัดสอนแบบเข้าค่ายติวเข้มให้กับนักเรียนที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกซึ่งก็ได้ผลดีขึ้นระดับหนึ่ง การคัดตัวนักเรียนมาแข่งโอลิมปิกก็เหมือนการเลือกช้อนเอาแต่กะทิขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ แต่สำหรับนักเรียนธรรมดาทั่วไปทั้งประเทศเรากลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเอาเสียเลย


ไม่กี่วันมานี้ ผมหยิบเอาหนังสือคณิตศาสตร์ชั้นประถมปีที่ 5 (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอกชน) ขึ้นมาดู พบว่าเนื้อหาทั้งเล่ม ว่าด้วยการบวก ลบ คูณ หาร เท่านั้น แม้ว่าเนื้อหาจะดูสัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่น เรื่องกำไร ขาดทุน แต่มันเป็นเรื่องของการคิดหาคำตอบที่เป็นตัวเลขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


นอกจากนี้แม่ของเด็กเจ้าของหนังสือเล่มนี้บอกว่า "ลูกต้องเรียนพิเศษตลอดเลยทั้งปี" ถ้าวิธีการสอน การสอนพิเศษ และการบ้านที่ให้เด็กทำเป็นอย่างนี้ แล้วเด็กที่มีหัวจิตหัวใจเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไหนจะมาชอบคณิตศาสตร์


เพื่อให้กระจ่างมากขึ้น ผมค้นเข้าไปในอินเตอร์เน็ต พบว่าการเรียนของประเทศเวียดนามมีอะไรน่าสนใจที่แตกต่างจากของบ้านเรา ผมเอาตารางสอนของเด็ก ป.5 เวียดนาม มาเทียบกับมัธยมศึกษาชั้นที่ 1 ของเมืองไทย (เพราะผมหาชั้น ป.5 ไม่ได้) พบว่า


เด็กเวียดนามเรียนสัปดาห์ละ 23 คาบๆ ละ 40 นาที มีรายวิชาทั้งหมด 9 วิชา คือ วิชาว่าด้วยเรื่องเวียดนาม (Vietnamese) 8 คาบ คณิตศาสตร์มีความสำคัญในระดับสองคือ 5 คาบ แรงงาน (Labour) 3 คาบ ธรรมชาติและสังคม 2 คาบ ที่เหลืออีก 5 วิชาๆ ละ 1 คาบคือ จริยธรรม, ขับร้อง-ดนตรี, วาดเขียน, สุขศึกษา และ ยิมนาสติก (ผมไม่ทราบรายละเอียดมากกว่านี้ เช่น เอาเวลาที่เหลือไปทำอะไร)


สำหรับเด็กชั้น ม.1 ของไทย เรียนสัปดาห์ละ 35 คาบๆ ละ 55 นาที โดยแต่ละวันมีกิจกรรมหน้าเสาธงเวลา 7.45 จนเลิกเรียน 16.20 ในจำนวนนี้เรียนคณิตศาสตร์สัปดาห์ละ 4 คาบ


นี่ยังไม่นับการเรียนพิเศษในตอนเย็นและวันเสาร์ อาทิตย์ เมื่อเด็กไทยต้องใช้เวลากับการเรียนมากมายถึงเพียงนี้ ถามว่าเด็กจะไม่เครียดได้อย่างไร


ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป. 5 มีแต่เรื่อง บวก ลบ คูณ หาร หรือการคำนวณเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคณิตศาสตร์หลายท่านจะรู้สึกดีใจเมื่อลูกของตนสามารถคิดเลขได้เร็ว คูณเลขได้หลายหลัก แต่นั่นไม่ใช่หัวใจของคณิตศาสตร์ครับ


นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่า "คณิตศาสตร์คือศาสตร์ของการจัดรูปแบบและลำดับ (Mathematics is a science of pattern and order.)" ความสามารถในการเข้าใจรูปแบบคือกุญแจสำคัญของการคิดทางคณิตศาสตร์ การศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของสิ่งต่างๆ รอบๆตัวนักเรียนคือหัวใจสำคัญการคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา ไม่ใช่รูปแบบของตัวเลข แต่เป็นตรรกะในการจัดรูปแบบของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ศิลปะ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ที่อยู่ใกล้ตัว


เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่างข้อสอบของเด็กเวียดนามชั้น ป.5 ที่น่าสนใจมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักสี่ข้อครับ


ข้อแรก เป็นเรื่องของการสังเกตและเปรียบเทียบว่า สิ่งใดมีน้ำหนักมากที่สุด




ข้อต่อมา ถามว่าจะต้องใช้รูปที่หนึ่งจำนวนกี่รูปจึงจะมีพื้นที่เท่ากับรูปที่สอง



ข้อที่สาม จงหาพื้นที่สวนที่มีขนาดดังรูป ข้อนี้แม้จะต้องมีการคำนวณ แต่ก็ต้องมีการจัดรูปแบบหรือจัดหมวดหมู่กันก่อน ว่าส่วนใดเป็นวงกลม ส่วนใดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า (แต่ตัวเลือกไม่ค่อยสมเหตุสมผลไปหน่อย)



ข้อสุดท้าย (จากทั้งหมด 50 ข้อ) เป็นเรื่องของการจัดหมู่ ถามว่ามีกี่วิธีที่จะสามารถนำจำนวนสี่จำนวนมาทำเป็นจำนวนเศษส่วนแท้




อนึ่ง ข้อสอบของเด็กเวียดนามชุดนี้ก็ยังมีเรื่องของการบวก ลบ คูณ หาร เหมือนกันครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่เขามีความหลายหลายในเนื้อหา และวิธีการคิดที่สอดคล้องความหมายของวิชาคณิตศาสตร์ที่ว่า คณิตศาสตร์คือศาสตร์ของการจัดรูปแบบและลำดับ ความสามารถในการเข้าใจรูปแบบคือกุญแจสำคัญของการคิดทางคณิตศาสตร์


และถ้าเราเป็นเด็กที่ต้องเรียนวิชานี้ เราพอจะนึกออกไหมครับว่า อย่างไหนน่าสนุก อย่างไหนน่าเบื่อกว่ากัน.