Skip to main content

๙ เดือนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อได้ทราบว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 242 คน โดยดิฉันเป็น 1 ใน 5 ของอดีต สว.ชุดแรกที่ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง ที่ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ คือ มรว.กำลูนเทพ เทวกุล พี่โสภณ สุภาพงษ์ ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจที่จะได้ทำหน้าที่เพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

รัฐธรรมนูญฉบับ พ..2549 ฉบับชั่วคราว มาตรา 5 กำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา สามารถเสนอกฎหมายได้โดยจำนวน 25 คนขึ้นไปเข้าชื่อกัน ตั้งกระทู้สดได้เพื่อให้รัฐบาลตอบในสภาเมื่อมีปัญหาเร่งด่วน เสนอญัตติเพื่อให้สภาร่วมกันอภิปรายหรือตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติได้


ภารกิจของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสภาตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งนายพลทหาร ตำรวจ ปลัดกระทรวง อธิบดี นักวิชาการชั้นนำคือ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภาคธุรกิจ กับภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ซึ่งทุกท่านมีวุฒิภาวะ บรรยากาศการทำงานร่วมกันจึงเป็นการทำงานด้วยความเคารพและเข้าใจกันด้วยดี การประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและการประชุมกรรมาธิการจึงเป็นไปด้วยความสุภาพ เรียบร้อย แม้มีความแตกต่างทางความคิดบ้าง แต่ก็พยายามประนีประนอมกันด้วยดี


ดิฉันอยู่ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมประชากรเกือบทุกกลุ่มในประเทศ ที่ประชุมเลือกให้ครูหยุยเป็นประธาน ดิฉันเป็นรองประธานคนที่ 1 และพลอากาศโทวัลลภ มีสมศัพท์ เป็นรองคนที่ 2 ครูมุกดา อินต๊ะสาร เป็นเลขานุการ ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เช่น คุณกัญจนา ศิลปอาชา ป้าบัญญัติ ทัศนียเวช ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ครูชบ ยอดแก้ว และ ดร.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นต้น


คณะกรรมาธิการเด็กฯมีผลงานที่น่าภูมิใจ คือ การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว และด้านสวัสดิการสังคมรวมทั้งร่าง พรบ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคของชายหญิงโดยมาจากการทำงานหนักของ 7 อนุกรรมาธิการ


ท่านอดีตเอกอัครราชทูต กำธร อุดมฤทธิรุจ กรุณาชวนดิฉันมาอยู่ในคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ ติดตามมติที่ประชุมและการตรวจรายงานการประชุม ซึ่งดิฉันชื่นชมในความรู้ความสามารถและมิตรภาพที่ดีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาวุโสและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรุ่นหนุ่ม เช่น อาแถมสิน รัตนพันธุ์ พลเรือเอกประเสริฐ บุญทรง พี่เชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ พี่ทรงพล ทิมาศาสตร์ พี่จักราวุธ นิตยสุทธิ ดร.ทวี สุรฤทธิกุล ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ซึ่งหลังประชุมมักชวนกันไปกินข้าวกลางวันเป็นประจำ ทำให้เรียนรู้และคุ้นเคยกันมาก


ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย (วิ ’ไร้สถานะ)เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 9 คนและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 8 คน เป็นการทำงานต่อเนื่องจากอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ที่วุฒิสภาชุดที่แล้ว ซึ่งครูหยุยเป็นประธาน


ดิฉันได้รับเกียรติให้เป็นประธานวิ’ไร้สถานะ โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร (อาจารย์แหวว) แห่งคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นรองประธานคนที่สอง


วิ’ไร้สถานะ ได้กำลังหลักจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เช่น นักกฎหมายสัญชาติ คือ อาจารย์แหวว อาจารย์วันทนีย์ รุ่งเรืองสภากุล จาก มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ ผู้แทนจากกรมการปกครอง นายไกรลาส แก้วดี จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ พี่ต๋อยวีรวัฒน์ ตันปิชาติ จากสภาทนายความ คุณสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา ดร.นฤมล อรุโณทัย พี่ประหยัดศักดิ์ บัวงาม จากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ครูนิด ยินดี ห้วยหงส์ทอง จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเป็นเลขานุการผู้เข้มแข็ง



กรรมาธิการวิ’ไร้สถานะลงพื้นที่เกาะเหลา(ชาวมอแกน) .ระนอง


เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อธิการบดีแม่ฟ้าหลวง คุณวันชัย ศิริชนะ ครูตวง อันทะไชย คุณสมชาย แสวงการ ครูมุกดา อินต๊ะสาร และครูหยุยที่ปรึกษาที่แสนดี รวมทั้ง ผอ.ศิริพร ภิญโญศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ประสานงานทุกด้านได้เป็นเลิศ จึงทำให้งานก้าวหน้าด้วยดี

คณะอนุกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น 2 คณะ คือ อนุกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริง กับอนุกรรมาธิการเร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งอนุกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงของปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปัญหา คือ ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมรับบัตรแรงงานต่างด้าว ทร.38/1 ที่จังหวัดระนองปัญหาผู้ถือบัตรคนไทยพลัดถิ่นกับชาวมอแกน ปัญหาของชาวแม่อาย ที่มีการตีความคำพิพากษาศาลปกครองไม่เป็นคุณต่อชาวบ้าน ที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัญหาผู้ถือบัตรลาวอพยพ ที่จังหวัดตราด ปัญหาคนเชื้อสายไทยเกาะกง ที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่าย


ดิฉันศรัทธาและชื่นชมในความเป็นผู้นำองค์กรของท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯพณฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นเลิศ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านสิทธิมนุษยชน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีเมตตาต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้อ่อนอาวุโสและประสบการณ์ เมื่อพวกเราติดขัดในการทำงานเรื่องใด นำไปปรึกษาท่าน ก็จะได้ทางออกที่สว่างไสวทุกเรื่อง


เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย มีดำริจะเสนอแก้ พ...สัญชาติ พรบ.การทะเบียนราษฎร เพื่อแก้ปัญหาที่ได้พบจากทุกภาคของประเทศ ท่านประธานมีชัยกรุณาเข้าประชุมร่วมกับ กมธ.เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ซึ่งถือเป็นวันที่มีคุณค่าสำหรับ กมธ. ทุกคน ทำให้เกิดฉันทามติที่จะเสนอแก้ พรบ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ จาก กมธ. ที่มาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น คุณวีนัส สีสุข คุณดลเดช พัฒนรัฐ จากกรมการปกครอง คุณฉัตรชัย บางชวด จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดิฉันชื่นชมในความเป็นข้าราชการที่มีจิตใจเพื่อประชาชนของทุกท่านที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมาธิการ


ร่างพ...สัญชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบของสภา ฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 โดยรัฐบาลรับไปพิจารณา เพื่อเสนอร่าง พ...ของรัฐบาล ภายใน 30 วัน ตามข้อบังคับการประชุม ส่วนร่าง พรบ. การทะเบียนราษฎร จะเข้าสู่สภาในวันที่ 15 สิงหาคม 2550 ซึ่งดิฉันหวังว่าสภาฯ จะมีมติเห็นชอบเช่นเดียวกัน และหวังว่าจะได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและเห็นชอบให้ประกาศเป็นกฎหมายอย่างราบรื่นทันอายุงานของรัฐบาลและสภาชุดนี้


การสัมมนานอกสถานที่ทั้ง 4 ครั้ง เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ สนิทสนมคุ้นเคยกัน ครั้งแรกคือการปฐมนิเทศบทบาทหน้าที่ สนช. และงานของสำนักงาเลขาธิการวุฒิสภา ที่รอแยลคลิฟ พัทยา ครั้งที่สองรับฟังผลงาน ประสบการณ์ที่หลากหลายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ โรงแรมไอยรา อุทัยธานี ซึ่งดิฉันได้รับความเมตตาจากท่านประธานมีชัย มอบให้พูดเรื่องงานคนไร้สัญชาติเป็นเวลา 15 นาที


 
สัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ โรงแรมไอยราปาร์ค โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จ.อุทัยธานี


ครั้งที่ 3 สัมมนาเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ชะอำ เพชรบุรี และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2550 ที่โรงแรมรอแยลคลิฟ พัทยา สัมมนาระดมความคิดเรื่องร่างพ...ประกอบรัฐธรรมนูญ คือ ร่างพ...พรรคการเมือง ร่างพ...คณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่างพ...การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา


การนั่งรถบัสไปด้วยกัน การร้องเพลงหรือฟังเพลงหลังจากการประชุม การสนทนาระหว่างมื้ออาหาร การอภิปรายในบรรยากาศสบายๆ นอกสภา ทำให้ สนช. ได้รู้จักกันในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งรู้จักสมาชิกครอบครัวที่พามาด้วยอย่างดี

ท่านรองจรัล กุลละวณิชย์ และท่านรองพจนีย์ ธนวรานิช ช่วยแบ่งเบาภารกิจของท่านประธานมีชัย ฯ ได้ดี ให้ความเป็นกันเองกับ สนช.อย่างอบอุ่น ท่านรองจรัลรับงานด้านต่างประเทศ ส่วนท่านรองพจนีย์ช่วยงานบริหารซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัด


ท่านประธานมีชัยเป็นหลักชัยในการประชุมทุกครั้ง ท่านช่วยให้ สนช.ประชุมโดยไม่ออกนอกทาง ตรงประเด็น ไม่ใช้เวลาสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของสภา จึงเป็นประโยชน์แก้ไขปัญหาทุกด้านในสังคมได้จริง สร้างสังคมคุณภาพ คุณธรรม ทั้งกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สถิติถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2550 มีกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว 71 ฉบับ ร่าง พรบ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการอีก 52 ฉบับ


ร่าง พรบ.ป่าชุมชนได้เริ่มประชุมคณะ กมธ.วิสามัญ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ครูหยุย เป็นรองคนที่ 1 ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ปรมาจารย์ด้านป่าชุมชนเป็นรองคนที่ 2 ดิฉันเป็นเลขานุการ และคุณหมออำพล จินดาวัฒน์ เป็นโฆษก


ขณะนี้การพิจารณาก้าวหน้าไปมากเหลือเพียงการทบทวนมาตรา 25 เพื่อให้ชุมชนที่ดูแลจัดการป่าในเขตอนุรักษ์มาก่อนการประกาศตั้งให้ป่าผืนนั้นเป็นเขตอนุรักษ์ แม้ที่ตั้งชุมชนจะอยู่นอกเขตอนุรักษ์ แต่มีพฤติกรรม วิถีชีวิต ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกับป่าอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการดูแลจัดการป่าชุมชนอย่างชัดเจน ก็ให้มีสิทธิขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ เช่นเดียวกับชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์


ป่าชุมชนต้นแบบซึ่งก่อให้เกิดร่าง พ...ป่าชุมชน ล้วนอยู่ในเงื่อนไขเป็นชุมชนนอกเขตอนุรักษ์ที่ได้รักษาป่าจนอุดมสมบูรณ์ ได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ เพื่อเป็นป่าต้นน้ำที่ใช้ในการเกษตร เช่น ป่าศิลาเพชร ศิลาแลง จังหวัดน่าน ป่าชุมชนแม่ทา แม่ออน หากไม่ได้ปรับสาระของกฎหมายให้ตรงกับความเป็นจริง พรบ.ป่าชุมชน ก็จะไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงในการคุ้มครองสิทธิชุมชน


กระทู้เรื่องโครงการมารีนา ที่เกาะยาว จ.พังงา ซึ่งดิฉันถามในสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22กุมภาพันธ์ 2550 เป็นกระทู้ที่ดิฉันภูมิใจที่สุดเพราะได้รับคำตอบจากฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจนมีผลคุ้มครองชาวประมงพื้นบ้าน บ้านแหลมสน ที่ได้ทำหน้าที่อนุรักษ์หญ้าทะเลและป่าชายเลนมานาน แต่กลับถูกรุกรานโดยสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ท่าจอดเรือ เพื่อคนรวยจำนวนน้อย ซึ่งจะทำลายความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และทำลายวิถีชีวิตชุมชน


รัฐมนตรีช่วยว่าการการะทรวงมหาดไทยตอบกระทู้ในสภาว่าโครงการนี้จะถูกระงับแน่นอน เพราะมีผลกระทบทำลายพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์หญ้าทะเลโดยกระทรวงทรัพยากร ฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีว่าสิทธิของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรและวัฒนธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ


การได้ร่วมเดินทางไปงานฉลองสภาผู้แทนราษฎรครบรอบ 100 ปี ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ กับท่านประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยคำเชิญของประธานรัฐสภาฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 - 8 มิถุนายน 2550 เป็นความประทับใจในชีวิต ที่ได้เห็นบทบาทเวทีสากลของท่านประธานมีชัย ซึ่งท่านทำหน้าที่ด้วยความสุขุม สุภาพอ่อนโยน ทั้งในการปราศรัยบนเวที ทั้งในยามเจรจากับผู้นำรัฐสภาประเทศต่างๆ


ฯพณฯมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะไปร่วมงานฉลอง
สภาผู้แทนราษฎรครบรอบ ๑๐๐ ปี ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์


ท่านกำธร อุดมฤทธิรุจ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของท่านประธานมีชัย ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างดี ดิฉันชื่นชมในความรอบรู้ของทั้ง 2 ท่าน


ความประทับใจในสภานิติบัญญัติมีมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จเกิดได้เพราะการทำหน้าที่กองหลังสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ทุกคนในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นำโดยท่านเลขาธิการผู้ใจดี และติดดิน คือ พี่หมู สุวิมล ภูมิสิงหราช


สื่อมวลชนประจำสภา ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนภาพ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง สนช. กับประชาชนได้อย่างดี ขอขอบคุณทุกคนค่ะ


กำลังใจจากประชาชนที่ส่งความเห็น เรื่องร้องทุกข์ คำติชม และกำลังใจมาให้ สนช. และกรรมาธิการคณะต่างๆ แสดงถึงความตื่นตัวและความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมืองที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น เป็นความหวังว่าการเมืองไทยจะเติบโตได้ด้วยหลักธรรมาภิบาลที่อยู่ในใจของทุกคน