Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ

คอลัมน์/ชุมชน





















































พูดเรื่องหลักประกันสุขภาพ หลายคนคิดถึงนายหน้าขายประกันชีวิตที่แต่งตัวเนี้ยบ ผูกไทเท่ หรือชุดสวยมีระดับของนายหน้าผู้หญิง ที่ตระเวนมาขอพูดคุยเพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพ

 

เดิมการขายประกันสุขภาพยังไม่ฮิตมากเท่ากับการขายประกันชีวิต คำพูดที่ทำให้ใจอ่อนต้องซื้อประกันชีวิตโดยถ้วนหน้าคือ การสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับคนในครอบครัว ให้มีเงินก้อนใช้ยามที่ตนเองเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนำเสนอว่าเป็นความรับผิดชอบที่น่ายกย่องสรรเสริญ หลายคนจึงตัดสินใจซื้อประกันฯ ยอมจ่ายเงินเป็นเดือน เป็นปี ยาวนานตั้งแต่ 10 ปีถึง 20 ปีขึ้นไป โดยวงเงินเอาประกันเริ่มตั้งแต่ไม่กี่หมื่นบาท เป็นแสน สองแสน สำหรับเรา ๆ ชาวบ้าน ส่วนคนรวยนั้นวงเงินว่ากันเป็นล้าน ๆ สิบล้านก็มี ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะจ่ายเบี้ยประกัน

 

ต่อมา ในสังคมก็เห็น ๆ ปัญหากันอยู่ว่า ไม่ต้องรอให้เสียชีวิตแล้วคนข้างหลังได้เงินก้อนค่าประกัน แต่ขณะกำลังเจ็บป่วย นอนโรงพยาบาล ก็มีปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา หรืออยากนอนห้องพิเศษ หรือมีหมอพิเศษ หรือประกันการเจ็บป่วยเฉพาะโรค เช่น มะเร็ง ซึ่งต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันแยกกันเป็นส่วน ๆ ไป การขายประกันสุขภาพจึงมีพัฒนาการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ผู้เขียนเองก็เคยซื้อประกันสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันปีละหมื่นกว่าบาท ส่งไปได้สักปี สองปี ชักลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องยอมแพ้เลิกรากันไป เพราะหาเงินมาจ่ายเบี้ยไม่ไหว แล้วก็ไม่เจ็บป่วยด้วย ก็เลยยอมเสี่ยงไม่มีหลักประกันใด ๆ

 

แต่ก็มานั่งคิดว่าบริษัทประกันเขาได้กำไรอย่างไรในการทำธุรกิจนี้ ก็ลองถาม ๆ ดูก็ได้ความว่า เพราะจำนวนคนที่ซื้อประกันนั้นจะมีคนที่ป่วยต้องใช้เงินประกันไม่มากนักในแต่ละปี บริษัทกันเงินไว้จ่ายค่ารักษาให้คนที่ป่วยแล้ว ยังเหลือเบี้ยประกันของคนอื่น ๆ อีกมากพอที่จะเอาไปลงทุนจนได้กำไรงอกเงย มาหล่อเลี้ยงการทำธุรกิจนี้ต่อ ๆ ไป ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะได้กำไรเยอะด้วย ดูนายหน้าขายประกันต่างรวยๆ มีรายได้เปอร์เซ็นต์กันเยอะๆ

 

เพื่อนหลายคนเลิกอาชีพงานประจำมาทำการขายประกันอย่างเดียว ซื้อรถ ซื้อบ้าน เที่ยวเมืองนอกกันเป็นว่าเล่น ที่น่าสังเกตก็คือบริษัทประกันใหญ่ ๆ จะเป็นของต่างชาติไปเยอะแล้ว ดูจากชื่อที่จะมีชื่อไทยชื่อฝรั่งปนกันในแต่ละบริษัท แสดงว่ารายได้ก็จะไปอยู่ในมือบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย

 

คนที่แย่ที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือคนจน คนไม่มีรายได้ประจำ ที่เมื่อยามเจ็บป่วยแล้วไม่มีเงินรักษา ต้องกู้หนี้ยืมสิน ขายที่ดิน ขายบ้าน รักษากันจนหมดเนื้อหมดตัว หากครอบครัวใดมีคนป่วยหนัก ป่วยเรื้อรังสักคน ส่งผลให้คนอื่น ๆ ล้มละลายไปด้วย เพราะขายที่ดินทำกินเพื่อรักษากันจนตายจากไปข้าง อย่างนี้ถือว่าชุมชนไม่มีหลักประกันสุขภาพ มีเพียงบางคนที่สามารถมีหลักประกันได้ด้วยการใช้เงินส่วนตัวซื้อ ส่วนคนจนก็ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมที่เกิดมาจนเอง

 

ซึ่งชุมชนที่มีสุขภาพดีย่อมไม่ปล่อยให้เกิดสภาพอย่างนี้ เพราะทุกคนในชุมชนมีสิทธิมีชีวิตอยู่ ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รัฐบาลจึงมีหน้าที่สร้างหลักประกันให้กับคนในชุมชนทุกคน รัฐต้องทำหน้าที่จัดหาหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน จึงเป็นที่มาของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรัฐบาลประเทศไหน ๆ ก็ทำกัน หากเป็นรัฐบาลที่ตระหนักว่าประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เมื่อยามเจ็บป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพเหมาะสมต่อการดำรงชีพ

 

นโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยว่าด้วยโครงการ 30 บาท ก็ได้ใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ขณะเดียวกันอย่าหลงคิดว่า รัฐบาลนี้คิดได้เพียงคนเดียวเรื่องสร้างหลักประกันสุขภาพ ก่อนหน้าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีองค์กรประชาชน องค์กรเอ็นจีโอ หมอหัวก้าวหน้าในกระทรวง ได้คิดเรื่องนี้มาอย่างหนัก ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ ทำการร่างกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ ทำการรณรงค์หารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือว่าประจวบเหมาะกัน เนื่องจากเป็นสภาพการณ์ที่สุกงอม ประชาชนต้องการ รัฐต้องการแสดงผลงาน จึงทำให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพกำเนิดเกิดขึ้นได้ในต้น ๆ สมัยของรัฐบาลชุดนี้

 

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยทุกคนมีหลักประกันว่า เมื่อเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะรัฐได้ซื้อหลักประกันให้แล้ว

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมาคือ ความเข้าใจที่ผิด ความสับสน ความไม่รู้ ความไม่ลงรอยกัน ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถูกมองว่าเป็นเพียงการหาเสียงของรัฐบาล เป็นการดำเนินการที่ไม่ยุติธรรมปล่อยให้คนรวยมาแย่งคนจนใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์

 

ตลอดจนการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นการรื้อถอนระบบของกระทรวงสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดแรงต้านแรงเสียดทานจากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนการจำกัดงบประมาณในการดำเนินการ จึงส่อให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะป่วยเสียเอง

 

เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกยาว คราวนี้เอาพอเริ่มต้น คอลัมน์นี้จะหยิบยกเรื่องนี้มาคุยต่ออีกสักสองสามตอนต่อไป หากท่านผู้อ่านอยากร่วมแสดงความเห็นด้วยก็ยินดี ส่งให้บรรณาธิการของ " ประชาไทดอทคอม" ได้เลยค่ะ อาทิตย์หน้า มาดูรายละเอียดระบบหลักประกันสุขภาพต่อค่ะ