Skip to main content

ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง (3)

คอลัมน์/ชุมชน

เก่อ ลอโดะ เฮ ธ่อ ตือ ปกา ยู เหน่ เปอ โพ หมื่อ โพ ควา

งูเหลือมยักษ์มาเยือนหมู่บ้าน ได้กลืนลูกชายลูกสาวเรา


(ธา-บทกวีคนปกาเกอะญอ)


อีกยุคต่อมาในมุมมองของคนปกาเกอะญอเรียกว่า ยุคโครงการหลวงแฮนึ หรือยุคโครงการหลวงพัฒนา


ภายหลังจากเหตุการณ์การนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลปราบปราม "ผู้ก่อการร้าย" โดยใช้กำลังอาวุธและความรุนแรง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์พยายามเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์สังคมนิยมสู่พื้นที่ชนบทห่างไกลจากอิทธิพลของอำนาจรัฐ


ชาวบ้านและชาวเขาในเขตป่าบางส่วนได้เข้าเป็นแนวร่วมในการต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากถูกกดขี่ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนภายใต้อำนาจและข้อกฎหมายของรัฐบาล สหายพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่มมากขึ้นต่างจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ


รัฐบาลจึงมีโครงการพัฒนาชนบทขึ้นด้วยเหตุในการสร้างความมั่นคงของชาติ พยายามแทรกแซงและชักจูงให้ชาวบ้านในชนบทรวมทั้งสหายชาวเขาหันกลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทยและต่อต้านคอมมิวนิสต์ในที่สุด


เขตพื้นที่ชุมชนคนปกาเกอะญอในอดีตหลายแห่งเคยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของทหารป่าและของผิดกฎหมายจึงมีกองกำลังทหารไทยประจำการตลอดเวลาแม้กระทั่งในปัจจุบัน



ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าของ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ในพื้นที่บนภูเขาต่างๆ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของประชาชนจึงโปรดเกล้าให้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎร ชาวไทยภูเขาให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ถูกปลุกระดมจากฝ่ายตรงข้ามและการทำผิดกฎหมาย เช่น การปลูกและเสพยาเสพติด การซ่องสุมโจรผู้ร้าย


มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขึ้นและดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายของมูลนิธิโครงการหลวงที่มีสำนักงานอยู่ในเชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาชุมชนคนปกาเกอะญอหลายแห่งได้ถูกผนวกอยู่ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาของโครงการหลวง



การเข้ามาของโครงการหลวงมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนมูเจะคีให้ดีขึ้น และอยู่บนผืนแผ่นดินไทยภายใต้กฎหมายและวัฒนธรรมไทย โดยมีแผนงานหลักคือ การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ควบคู่กับเกษตรอื่น ๆ การหารายได้จากทรัพยากรป่าไม้


การเข้ามาดำเนินงานของโครงการหลวงในพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมป่าไม้ ได้มีการประกาศให้พื้นที่ชุมชนต่างๆ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอุทยานแห่งชาติ ไม่สามารถมีการผลิตแบบระบบไร่หมุนเวียนได้ การทำไร่หมุนเวียนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ภายใต้ความร่วมมือของโครงการหลวงกับหน่วยจัดการและป้องกันป่าไม้ มีคำสั่งให้ชุมชนยุติการทำไร่หมุนเวียนซึ่งมองว่าเป็นการทำลายป่า


ให้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชพาณิชย์ในพื้นที่เดิมที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร เช่น การปลูกฟักทองญี่ปุ่น ปลูกสาลี พลับ บ๊วย พลัม อาโวคาโด เป็นต้น ที่ต้องอาศัยกลไกตลาดของโครงการหลวง เนื่องจากมองว่าไร่หมุนเวียนนั้นเป็นไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกทำลายป่าที่ต่อเนื่องใช้การควบคุมแต่สำหรับพื้นที่เป็นที่นา ที่มีการทำซ้ำที่เดิมสามารถทำกินได้ต่อไปภายใต้เงื่อนไข ไม่บุกรุกป่าเพิ่ม


ชุมชนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ซ้อนทับกับการผลิตอาหารสิ่งของจำเป็น ตามระบบเศรษฐกิจเพื่อยังชีพเดิม


เมื่อโครงการหลวงได้เข้ามาในพื้นที่ จึงมีโครงการอื่น ๆ ตามเข้ามามากมาย อาทิ มีโรงเรียนประถมขยายโอกาสของรัฐ มีการตัดถนนรถยนต์จากเมืองเข้าสู่ชุมชนปกาเกอะญอ โดยสำนักเร่งรัดพัฒนาชนบท ทำให้คนปกาเกอะญอ สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้สะดวกยิ่งขึ้น


มีโครงการพระธรรมจาริก จากกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้คนปกาเกอะญอหันมานับถือพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทย ทำให้คนปกาเกอะญอใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการศึกษาธรรมะ และบุตรหลานคนปกาเกอะญอยังได้มีโอกาสเพื่อบวชเรียนหนังสือด้วย


ทำให้ชุมชนปกาเกอะญอมีศาสนาที่หลากหลายมากขึ้น คือ มีทั้งคริสต์ พุทธ และศาสนาดั้งเดิม คนที่นับถือพุทธส่วนใหญ่ก็ยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมควบคู่ไป ส่วนผู้ที่นับถือคริสต์ก็พยายามปรับรูปแบบคริสต์ศาสนาให้สอดคล้องกับวิถีและวัฒนธรรมตนเองให้มากที่สุด โดยยังยืดถือความเชื่อดั้งเดิมหลายอย่างอยู่ เช่น การต้องขออนุญาตใช้ทรัพยากรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งสูงสุดก่อนลงมือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีการสร้างสถานีอนามัยมาตั้งในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะในยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนปกาเกอะญอจึงรู้จัก พาราเซตตามอล รู้จักยาแก้อักเสบ แอสไพริน กันมากขึ้น



การจัดระบบความสัมพันธ์ในชุมชน ได้มีการนำเอารูปแบบการปกครองแบบทางการมาใช้ในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ โดยมีการนำระบบการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ที่ตราขึ้นในรศ.116 (..2440)


มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุดคือ หมู่บ้าน ระดับใหญ่กว่าหมู่บ้านคือ ตำบล อำเภอ และจังหวัด เรียงตามลำดับ การปกครองระดับหมู่บ้านนี้เองที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง ส่วนระดับตำบลมีกำนัน ระดับอำเภอมีนายอำเภอ ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด ตามลำดับสายบังคับบัญชา


ซึ่งระเบียบการปกครองรูปแบบนี้มีผลทำให้อำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบจารีตของชุมชนปกาเกอะญอที่มีฮี่โข่และผู้อาวุโสในชุมชนเป็นผู้นำและเคยมีอิสระอย่างมากในการปกครองดูแลชุมชนของตนเอง ต้องถูกจัดระเบียบการปกครองใหม่โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองและขึ้นต่อรัฐไทย


ทำให้ผู้นำตามจารีตในชุมชนปกาเกอะญอต้องเปลี่ยนแปลงไป มีผลกระทบต่อรูปแบบการจัดความสัมพันธ์ในชุมชนปกาเกอะญอ ทำให้ผู้นำตามประเพณีคือ ฮี่โข่ และผู้อาวุโส ซึ่งเคยมีอำนาจในชุมชนแต่เดิมลดลง จนบางชุมชนได้ยกเลิกตำแหน่งผู้นำตามประเพณีคือ ฮี่โข่ แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีการสืบทอดตำแหน่งฮี่โข่ต่อจากบรรพบุรุษเรื่อยมา


นับแต่นั้นมาชุมชนปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น มีรูปแบบการผลิตที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ซ้อนทับกับการผลิตอาหารและสิ่งของจำเป็น ตามระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ