Skip to main content

บริษัทข้อมูลเครดิต ( เครดิตบัวโร)






















































































 

 

สัปดาห์นี้ ผมได้รับเชิญจากธนาคารโลกให้มาพูดให้กับผู้เข้าประชุมจากประเทศทั่วโลกเรื่องการออกกฏหมายข้อมูลเครดิต

 

ก็ขอเล่าเรื่องการจัดการข้อมูลเครดิตในเมืองไทยให้ท่านได้ทราบถึงความเป็นมา

 

ความจริงแล้วในสมัยท่านผู้ว่าดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านได้มีวิสัยทัศน์เรื่องความสำคัญของการใช้ข้อมูลเครดิตให้เป็นประโยชน์ในการดูแลสินเชื่อ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งข้อมูลของลูกค้าที่ได้รับการปล่อยสินเชื่อมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนกฎให้ธนาคารรายงานสำหรับสินเชื่อที่มากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทในปีต่อ ๆ มา และเช่นเดียวกับบริษัทเงินทุนก็ต้องรายงานการปล่อยสินเชื่อให้กับกระทรวงการคลังเช่นเดียวกันในปี ๒๕๑๙

 

แต่การรายงานเป็นการรายงานภายในรู้กันเฉพาะธนาคารชาติและกระทรวงการคลัง ก็เลยมีแนวความคิดที่จะมีบริษัทข้อมูลเครดิตขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้สถาบันการเงินได้ใช้และร่วมกันใช้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการปล่อยสินเชื่อ

 

จะได้รู้ว่าลูกค้ารายไหนมีประวัติการชำระสินเชื่อดีแค่ไหน

 

ระหว่างที่เริ่มคิดก็ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ แนวความคิดในการจัดตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตยิ่งจำเป็นมากขึ้นเพราะข้อมูลว่าใครได้สินเชื่อเป็นเท่าไร ใครเบี้ยวหนี้บ้างยิ่งจำเป็น

 

เพราะในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา บริษัทข้อมูลเครดิตจำเป็นมากในการพิจารณาสินเชื่อต่าง ๆ เช่น จะซื้อบ้าน หรือซื้อรถ แม้กระทั่งการเช่าอพาร์ทเมนต์

 

ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิตก็เลยเกิดขึ้น โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร และมีการแก้ไขในประเด็นของต้องให้เจ้าของข้อมูลยินยอม โดยวุฒิสภามีแนวคิดในการป้องกันข้อมูลของลูกหนี้ ไม่อยากให้เจ้าหนี้ไปเปิดเผยข้อมูลโดยที่ลูกหนี้ไม่ยินยอม เกรงว่ามีการขอข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตเพื่อเอาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น หมิ่นประมาท หักหลัง ตบทรัพย์ ฯลฯ

 

มีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่วุฒิสภาแก้ไข และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิต ในปีที่ผ่านมา ปรากฎว่าบริษัทข้อมูลเครดิตสองบริษัทในเมืองไทยคือ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และบริษัทข้อมูลกลาง จำกัด ก็ต้องประกาศหยุดกิจการชั่วคราว และกรรมการบริษัทได้ลาออกเพราะกลัวติดคุก

 

เหตุผลทั้งสองบริษัทที่ต้องปิดเพราะ ในมาตรา ๔๘ และ ๕๑ มีว่า สมาชิกคือสถาบันการเงิน ต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในเวลา ๓๐ วัน หลังจากที่ได้ส่งข้อมูลให้กับบริษัทข้อมูลเครดิต และบริษัทข้อมูลเครดิตจะเปิดเผยข้อมูลต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน มิฉะนั้นจะต้องโทษจำคุกห้าปีถึงสิบปี

 

บริษัทและสมาชิกก็เลยกลัวติดคุก เพราะลูกค้าเจ้าของข้อมูลเครดิต มีจำนวนเป็นแสน เกรงว่าจะเกิดการผิดพลาดทางปฏิบัติ

 

อีกประการหนึ่งการที่ต้องได้รับหนังสือยินยอมจากลูกค้าในการเปิดเผยข้อมูลก็ไม่ทันการ เพราะต้องส่งรายการจำนวนมาก

 

ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังก็ได้ประชุมร่วมกัน และผ่อนผันในหนังสือยินยอมจากลูกค้าให้ใช้รายงานทางคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมทั้งคลายกฎระเบียบในเรื่องของการรายงานเป็นระยะ

 

หลังจากที่ได้คลายกฎระเบียบบริษัททั้งสองก็ได้เปิดดำเนินการ แต่ก็ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิต ในประเด็นของโทษจำคุกที่รุนแรง รุนแรงกว่าประเทศไหนๆ ในโลก

 

ผมได้สอบถามกระทรวงการคลังว่า ในร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรทำไมออกกฎลงโทษรุนแรงถึงห้าปีในการที่เปิดเผยข้อมูลเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหล ซึ่งประเด็นนี้ ทางกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า ตอนออกกฎหมายนั้นต้องการควบคุมบริษัทข้อมูลเครดิต ไม่ให้เกิดขึ้นมากเกินไป และต้องการควบคุมการใช้ข้อมูลให้มากที่สุด

 

อีกไม่นานราว ๆ ปีหน้า ก็จะมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลเครดิต มาแก้ไขในรัฐสภาอย่างแน่นอน ก็ต้องคอยดูว่าร่างฯ ที่เสนอจากสภาผู้แทนราษฎรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ส.ว.กำลังติดตามเรื่องการควบรวมบริษัทข้อมูลเครดิตทั้งสอง ว่าจะมี การผูกขาดและทำให้ลูกค้าเดือดร้อนหรือไม่

 

ประการที่สำคัญก็คือการแก้กฎหมายนี้จะมีผลกระทบอย่างไรทั้งกับประชาชน สถาบันการเงิน และบริษัทข้อมูลเครดิต

 
ซึ่งผมจะมาเรียนให้ทราบเมื่อมีกฎหมายนี้เข้าสู่สภา