Skip to main content

หยั่งรากรักด้วยการสื่อสารอย่างสันติ

คอลัมน์/ชุมชน

"เธอไม่เคยฟังฉันเลย !!"
"
ทำไมจะไม่ฟัง เธอน่ะคิดมากไปเองต่างหาก
!"

คนที่มีแฟนหรือเคยมี คงรู้สึกคุ้นเคยกับการเถียงกันไปเถียงกันมาอย่างไม่สามารถหาจุดจบได้ ตามหลักของสันติวิธีแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของความเป็นมนุษย์ค่ะ แต่ความขัดแย้งนั้น จะกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเราไม่สามารถแปรเปลี่ยนมันเป็นความเข้าใจได้ ยิ่งถ้าเป็นความขัดแย้งกับคนรัก ที่เราต้องพบต้องเจอกันทุกวัน อาจทำให้เราวนเวียนอยู่ในวังวนของการกล่าวโทษ การตัดสิน และการวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน นานวันเข้าความรักอาจกลายเป็นความชัง ชีวิตคู่อาจลงเอยที่การเลิกรา หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้นคืออาจเกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นได้


แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าในท่ามกลางความขัดแย้งนั้น เราสามารถคงความรักความกรุณาต่อคู่รักของเราไว้ได้ จะช่วยให้เราแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งได้


วันนี้จะขอแนะนำเครื่องมือหนึ่งที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อให้สามารถคงความรักความกรุณาไว้ได้ แม้ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งรุนแรง เครื่องมือนี้เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ หรือ Nonviolent Communication ค่ะ


การสื่อสารอย่างสันติพัฒนาขึ้นโดยดร.มาแชล โรเซนเบอร์ก (Marshall Rosenberg) ซึ่งการสื่อสารบน พื้นฐานของความกรุณานี้ได้รับการนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งมาแล้วในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งในโรงเรียน องค์กร การสาธารณสุข บริษัทธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหลาย และใช้ได้ดีสำหรับ ความรักความสัมพันธ์ด้วย การสื่อสารอย่างสันติมี 4 องค์ประกอบหลัก คือ การสังเกต ความรู้สึก ความต้องการ และการขอร้อง


ถ้าคุณและคู่รักของคุณกำลังเผชิญกับความขัดแย้งหรือเกิดความขัดแย้งต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลานาน คุณสามารถลองใช้การสื่อสารอย่างสันติสื่อสารกับคู่ของคุณ ยกตัวอย่างว่า คุณมีเรื่องกลุ้มใจในที่ทำงานมาก และอยากจะเล่าให้แฟนของคุณฟัง แต่พอคุณเริ่มเอ่ยปาก เธอก็เดินไปเปิดวิทยุฟังทันทีโดยไม่สนใจคุณ ทำให้คุณรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีก คุณอาจสื่อสารโดยใช้ 4 องค์ประกอบของการสื่อสารอย่างสันติได้ดังนี้


1.การสังเกต เวลาเราไม่พอใจใครสักคนแล้วเราอยากจะบอกเขา บ่อย ๆ ครั้งคำพูดแรกที่พูดออกมาคือ การว่าว่าเขาทำไม่ดีอย่างไรบ้าง ซึ่งนี่จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ และเกิดอาการไม่อยากฟังคุณตั้งแต่แรก การสื่อสารอย่างสันติเสนอให้คุณกล่าวอ้างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้อีกฝ่ายได้รับทราบ โดยพยายามบรรยายสิ่ง ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เฉพาะเจาะจง และเป็นกลาง เหมือนกับเป็นกล้องวีดีโอถ่ายภาพที่กำลังเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่ใส่คำตัดสิน การประเมิน หรือการตีความ ลงไปด้วย


เช่นในกรณีนี้ ถ้าคุณบอกว่า "เมื่อเช้าคุณไม่สนใจฟังฉัน" แฟนของคุณอาจรู้สึกถูกตัดสินและไม่อยากฟัง คุณพูดต่อ เเต่ถ้าคุณพูดว่า "เมื่อเช้า ตอนที่ฉันกำลังเล่าเรื่องที่ทำงานให้คุณฟัง คุณเดินไปเปิดวิทยุฟังข่าว" อีกฝ่ายอาจระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และจะช่วยให้เธอสามารถฟังในขั้นแรกนี้ได้โดยไม่ต้องการโต้ตอบ และยินดีที่จะฟังคุณต่อไป


ขั้นตอนแรกนี้สำคัญค่ะ เพราะการทำตัวเป็นกล้องวีดีโอจะช่วยให้คุณสามารถเปลี่ยนจิตรับรู้ของคุณได้ คุณจะเริ่มรู้ทันการตัดสินที่เกิดขึ้นภายในได้เร็วขึ้น พอรู้ทันแล้วจะช่วยให้วางมันลงก่อนที่จะไปพูดกับคนที่ คุณรัก การพูดโดยตัดสิน ว่ากล่าวอีกฝ่าย ก็เปรียบเหมือนกับเราใส่นวมเดินเข้าไปหาอีกฝ่าย อีกฝ่ายเห็น ดังนั้นแล้วก็คงจะต้องยกนวมขึ้นตั้งรับหรือไม่ก็ชกคุณก่อนเป็นการป้องกันตัว ในทางกลับกันการทำตัวเป็น กล้องวีดีโอจะช่วยให้อีกฝ่ายพร้อมที่จะนั่งฟังคุณมากกว่า


2.ความรู้สึก ใช่แล้วค่ะ บอกความรู้สึกของคุณให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วย สื่อสารกันด้วยใจจะช่วยให้เราคง ความเข้าใจกันไว้ได้ค่ะ ความรู้สึกในการสื่อสารอย่างสันติ หมายถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางกายและใจ เกี่ยวเนื่องกับความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้าความต้องการได้รับการ ตอบสนอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้สึกในเชิงบวก เช่น ดีใจ อบอุ่น สบายใจ โล่งใจ แต่ถ้าความ ต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะออกมาในเชิงลบ เช่น เสียใจ กระวนกระวายใจ เศร้า เบื่อ กังวล เจ็บ


สิ่งที่เราจะทำในขั้นตอนนี้ก็คือ จับความรู้สึกและให้ชื่อความรู้สึกนั้น กุญแจหลักในการแสดงความรู้สึกคือ ใช้คำที่แสดงความรู้สึกของเรา ไม่ใช่คำตีความการกระทำของผู้อื่น (ดูรายการความรู้สึกได้ที่ด้านล่างค่ะ)


เช่น "เมื่อเช้า ตอนที่ฉันกำลังเล่าปัญหาในที่ทำงานให้คุณฟัง คุณเดินไปเปิดวิทยุฟังข่าว ฉันรู้สึกผิดหวัง" เป็นการแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน แต่ "ฉันรู้สึกว่าคุณไม่ใส่ใจฉันเลย" เป็นการตีความความรู้สึกของอีกฝ่าย ซึ่งถ้าพูดอย่างหลังนี้อีกฝ่ายก็อาจจะอยากเถียงแล้วว่า ฉันใส่ใจนะยะ หรืออีกฝ่ายอาจจะรู้สึกว่าเธอต้องมา แบกภาระรับผิดชอบความรู้สึกของคนรัก


เมื่อเราสามารถแสดงความรู้สึกได้ นั่นเท่ากับเราเริ่มรับผิดชอบต่อประสบการณ์ของเราเอง การทำเช่นนี้จะ ช่วยให้อีกฝ่ายได้ยินสาระสำคัญที่เราสื่อออกไป โดยไม่มีคำวิจารณ์หรือตำหนิ ซึ่งจะช่วยให้เธอคนนั้นเกิด ความเข้าใจและต้องการสนใจจะฟังเรามากขึ้น


3.ความต้องการ ในการสื่อสารอย่างสันติ ความต้องการหมายถึง สิ่งที่มีชีวิตชีวาที่สุดในตัวเรา เป็นคุณค่า และความต้องการที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์มีร่วมกัน เช่น ทุกคนต้องการน้ำ อาหาร การพักผ่อน ความสัมพันธ์ กับผู้อื่น ความรัก การยอมรับ ฯลฯ (ดูรายการความต้องการได้ที่ด้านล่างค่ะ) แล้วความต้องการนี้เอง ที่เป็นตัวก่อให้เกิดความรู้สึกในขณะหนึ่ง ๆ


กุญแจหลักในการระบุและแสดงความต้องการก็คือ เน้นคำพูดที่บรรยายความต้องการร่วมของมนุษย์ โดย ไม่ใช้คำพูดที่บรรยายวิธีการหรือแผนการเฉพาะเจาะจงที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของเรา เช่น "เมื่อเช้า ตอนที่ฉันกำลังเล่าปัญหาในที่ทำงานให้คุณฟัง คุณเดินไปเปิดวิทยุฟังข่าว ฉันรู้สึกผิดหวัง เพราะฉันต้องการความใส่ใจและความเข้าใจ" ความใส่ใจและความเข้าใจแสดงถึงความต้องการร่วมของ มนุษย์ค่ะ เพราะไม่ว่าใครคนไหนก็มีความต้องการเช่นนี้ อาจจะมากหรือน้อยในเวลาต่าง ๆ กัน


เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ค่ะ การที่เราพูดถึงความต้องการร่วมของมนุษย์นั้น จะเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเข้าใจเราได้ เพราะอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์ที่มีความต้องการเช่นเดียวกับเรา และขณะเดียวกัน เมื่อเราสามารถเข้าใจตัวเอง ได้ชัดว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร จะช่วยให้เราปล่อยวางวิธีการที่เรายึดเอาไว้ได้ เช่น เราอาจจะอยาก ให้เธอฟังเราทุกครั้งที่เราจะพูดกับเธอ ซึ่งคงไม่มีใครสามารถทำได้ทุกครั้ง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าการที่เราอยากให้ เธอฟังเรานั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่มาตอบสนองความต้องการความใส่ใจ ความเข้าใจของเรา เราจะสามารถ หาหลากหลายวิธีการมาตอบสนองความต้องการของเราได้ เราอาจจะมานั่งคุยกับอีกฝ่ายว่า เออ จริง ๆ แล้วฉันต้องการอย่างนี้นะ เธอจะช่วยฉันได้อย่างไรบ้าง หรือเราอาจจะตอบสนองความต้องการของเราเอง ด้วยการใส่ใจ หรือให้ความเข้าใจตัวเอง


4.การขอร้อง การขอร้องเป็นการบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่า อะไรจะทำให้ความต้องการของเราได้รับการตอบสนอง บ้าง เช่น "เมื่อเช้า ตอนที่ฉันกำลังเล่าปัญหาในที่ทำงานให้คุณฟัง คุณเดินไปเปิดวิทยุฟังข่าว ฉันรู้สึกผิดหวัง เพราะฉันต้องการความใส่ใจและความเข้าใจ ตอนนี้คุณจะช่วยนั่งฟังฉันก่อนสัก 10 นาที ได้ไหม"


การที่อีกฝ่ายจะตอบสนองความต้องการของเราหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาเป็น อย่างไร หัวใจของการขอร้องก็คือ เราเต็มใจเปิดรับการปฏิเสธ และยังพร้อมที่จะดำเนินการสนทนาต่อไป เพื่อหาหนทางให้ความต้องการของทุกฝ่ายบรรลุผล การสื่อสารอย่างสันติเชื่อมั่นว่ามนุษย์เรามีศักยภาพที่จะแสวงหาวิธีการอันสันติมาตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้


ปฏิกิริยาที่เราแสดงออกหลังจากคำขอของเราถูกปฏิเสธ เป็นตัวชี้ว่าเราขอร้องหรือเราออกคำสั่ง ถ้าเราออก คำสั่ง เราจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดหรือตำหนิที่ไม่ทำตามเรา แต่ถ้าเราขอร้อง เราจะสนทนาหรือถามคำถาม อีกฝ่ายเพิ่มขึ้น อาจใช้เวลาเพิ่มขึ้น แต่การพูดคุยกันจะยิ่งทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้นค่ะ


เมื่อเราพูดทั้ง 4 องค์ประกอบครบแล้ว คราวนี้เราก็จะมาฟังอีกฝ่ายพูดบ้าง เธออาจจะอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น กับเธอตอนนั้น เช่น "เมื่อเช้ากำลังตามข่าวภาคใต้อยู่ เลยไม่ทันได้สังเกตว่าคุณอยากจะเล่าอะไรให้ฟัง เอาล่ะตอนนี้มีเวลานั่งฟังได้แล้ว" หรือถ้าแฟนคุณปฏิเสธว่าไม่ต้องการฟัง เพราะเธอฟังมามากแล้ว คราวนี้คุณอาจจะเป็นฝ่ายรับฟังความรู้สึกและความต้องการของเธอก่อน คุณอาจสะท้อนกลับว่า "คุณเบื่อ (ความรู้สึก) รึเปล่าที่ต้องฟังปัญหาซ้ำ ๆ เพราะคุณก็อยากได้ยินเรื่องที่ทำให้สบายใจ (ความต้องการ) บ้างใช่ไหม" เมื่ออีกฝ่ายรับรู้ว่าคุณเข้าใจ เธอจะเปิดใจรับฟังคุณมากขึ้นเช่นกัน


ด้วยความเข้าใจกันและกันเช่นนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณหยั่งรากลึกและเติบโตต่อไปได้


ถ้าอ่านแล้วยังงง ๆ หรือสงสัยว่าวิธีสื่อสารอย่างสันตินี้จะใช้ได้จริงหรือไม่ ขอเชิญมาเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติ การ "เพื่อให้รักงดงาม" ในวันเสาร์- อาทิตย์ ที่ 8-9 กันยายนนี้ ที่สวนเงินมีมา คลองสาน กรุงเทพ งานนี้ต้อนรับทุกท่าน ไม่ว่าจะมีคู่ โสด หรืออกหัก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด รักเพศใดก็ตาม


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  เสมสิกขาลัย สำนักงานรามคำแหง ติดต่อ ฐิติรัตน์ จันทร์เนียม หรือ สาวิตรี กำไรเงิน 
หมายเลขโทรศัพท์ 
02-314 7385- 6 e-mail address  semsikkha_ram@yahoo.com
หรือ
http://www.semsikkha.org/semmain/activities%20update/love_8-9_9_50.php


ดูรายละเอียดการสื่อสารอย่างสันติได้ที่ www.cnvc.org


* ตัวอย่างความรู้สึกและความต้องการ


ความรู้สึกเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง
รัก เห็นใจ มีพลัง ดีใจ มั่นคง ปลอดภัย ใส่ใจ มีความสุข สบายใจ โล่งอก ผ่อนคลาย ตื่นเต้น กระตือรือร้น ขอบคุณ ภูมิใจ วางใจ ไว้ใจ สงบ มั่นใจ ยินดี ปลื้มใจ ปล่อยวาง นิ่ง สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ตลกขบขัน สนุกสนาน สงสัยใคร่รู้ มีกำลังใจ เข้มแข็ง


ความรู้สึกเมื่อความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง
เศร้า หดหู่ เสียใจ หมดหวัง ใจเสีย สับสน ลังเล งง ละอายใจ ขายหน้า เครียด กลุ้มใจ กังวล หงุดหงิด เคืองใจ รำคาญ อึดอัด เหินห่าง ไม่แยแส เบื่อ เย็นชา บาดหมาง ผิดใจ ล้า เพลีย อ่อนแรง หมดไฟ ท้อ เหนื่อย เหี่ยวเฉา อ่อนแอ ไม่มั่นคง โกรธ แค้น เจ็บใจ โมโห เกลียด ชิงชัง เจ็บปวด กลัว ลำบากใจ กระวนกระวาย ประหม่า ตกใจ หนักใจ ร้อนใจ สิ้นหวัง ทุกข์ใจ อิจฉา น้อยใจ เหงา งอน ว้าเหว่


ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
เป็นตัวของตัวเอง เลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ปัจจัย 4 การพักผ่อน สัมผัส ความรัก ความเอาใจใส่ การสร้างสรรค์ การยอมรับ การชื่นชม ความใกล้ชิด มิตรภาพ ความเข้าใจ ความหมายของชีวิต คุณค่าในตัวเอง ความสนุกสนาน การหัวเราะ ความงดงาม ความสมดุล ความสงบสุข แรงบันดาลใจ ความจริงใจ การสนับสนุน


ความปลอดภัยทั้งทางกาย-ใจ การช่วยเหลือผู้อื่น แสดงความเสียใจเมื่อเป็นทุกข์ ความปรองดอง สันติภาพ กำลังใจ ความเคารพ การเติบโตเรียนรู้ อิสรภาพ การพึ่งพิงตนเอง ความมีประสิทธิภาพ ความซื่อสัตย์ ความไว้ใจ ความเห็นใจ