Skip to main content

หรือประชามติ เป็นเพียงโพลล์ทดสอบคะแนนนิยม

คอลัมน์/ชุมชน

1


ผมไม่รู้ว่า รัฐบาลสุรยุทธ์ , คมช., ... และ กกต. เขาต้องใช้เงินลงทุนไปเท่าไหร่ กับการให้ได้มาซึ่งการลงประชามติ ให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ว่า ตัวผมเองต้องใช้เงินงบประมาณของตัวเองหมดไปประมาณพันบาท กับการเดินทางกลับไปลงประชามติที่บ้านเกิดที่เชียงดาว ไม่ว่าจะเป็นค่าเติมน้ำมันรถ ค่าอาหาร ค่าอะไรอีกจิปาถะฯลฯ


แน่นอน - -เป็นเงินส่วนตัว ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด


วันนั้น (18 ..) ผมขับรถกลับไปบนถนนสายโชตนา เชียงใหม่- ฝาง พอตกย่ำค่ำ เมื่อเข้าไปในเขตพื้นที่ของ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระหว่างทางแยก ทางสามแพร่งในหลายๆ จุด ผมพบเห็นกำลังทหารหลายนายยืนถือปืนสงคราม ประจำตามทางแยก ในหมู่บ้าน ในวัด ฯลฯ


"เป็นไงบ้างที่บ้านเรา เหมือนกับเลือกตั้งที่ผ่านมามั้ย ...แล้วเขาแจกตังค์มั้ย ..." ระหว่างทางผมโทรศัพท์แหย่ถามพี่สาว


"ได้ตังค์ได้เติงอะไร มีแต่ทหารอยู่เต็มวัดนิ ..." เสียงพี่สาวบอกเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย


จากการสอบถามชาวบ้าน พวกเขาบอกว่า ก่อนวันลงประชามติ ได้มีกำลังพลของทหารหลายร้อยนาย วางกำลังอยู่ตามหมู่บ้าน ถนนสายโชตนา เชียงใหม่ - ฝาง บริเวณเขต อ .เชียงดาว ก่อนมีการถอนกำลังในช่วงเช้ามืด เพราะต้องรีบกลับไปลงประชามติให้ทันก่อนปีดหีบ


ชาวบ้านคนหนึ่ง (ไม่ขอเปิดเผยนาม- -เพราะทุกคนยังหวั่นกลัวว่าจะถูกเพ่งเล็ง เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งความกลัวมิใช่หรือ) บอกกับผมว่า เนื่องจากพื้นที่ อ.เชียงดาว ถือได้ว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกจับตามอง รองจากพื้นที่ อ.สันกำแพง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ พ...ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชียงดาวก็เป็นพื้นที่ฐานเสียงของไทยรักไทยที่หนาแน่นอีกพื้นที่หนึ่ง (ที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เคยเป็น ส..ไทยรักไทย มาแล้วหนึ่งสมัยกับอีกกี่วันจำไม่ได้แล้ว) และเคยเป็นพื้นที่ฐานเสียงของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้เป็นพ่อและเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มไทยรักไทย ในอดีตมายาวนาน)


ว่ากันว่า ในคืนวันที่ 18 .. ก่อนวันลงประชามติ ทางอำเภอได้มีการกำชับไปยังกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการโทรศัพท์เข้าไปเช็คว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันหรือไม่ ซึ่งแหล่งข่าวคนหนึ่งบอกว่า ทางอำเภอคงไม่ไว้วางใจกำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางกลุ่มที่เคยเป็นฐานเสียงไทยรักไทยมานาน


ไม่มีใครรู้ว่า การลงประชามติในครั้งนี้ ได้ให้อะไรกับชาวบ้านบ้าง ...


แต่ที่แน่ๆ ผมเห็นบางสิ่งบางอย่างลอยวนอยู่ในหลายหมู่บ้าน ชุมชน หลายพื้นที่อำเภอของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของอำนาจที่ต่อสายจากข้างบนลงไปถึงรากหญ้า ทว่าบางครั้งอำนาจนั้นไม่เข้มข้นพอ จึงทำให้เส้นเลือดอุดตันคากิ่งใดกิ่งหนึ่ง ทำให้ลงไปไม่ถึงรากแก้วรากฝอย


และผมเห็นความขัดแย้งของคนในหมู่บ้านแตกออกมาสองสาย ...
สายหนึ่งคือ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ที่ต่อท่ออำนาจมาจากอำเภอ จังหวัด ... รัฐบาล, คมช.
อีกสายหนึ่ง คือ นายก อบต., อบต. ที่รู้ตัวว่าจะต้องถูกรีดอำนาจให้ลีบลงในอนาคต


จึงทำให้ผมเห็นว่าผู้นำท้องถิ่นสองกลุ่มนี้ พยายามแย่งกันเข้าไปบอกเล่าให้ลูกบ้านของตน (ซึ่งก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน) ให้กาเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในคราเดียวกัน



ผมเห็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. บางคนใช้วิธีเดินสายกระซิบข้างหูลูกบ้าน บอกให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น จะได้เลือกตั้งเร็วๆ


ผมเห็น อบต. บางคน ทำสีหน้าเคร่งเครียด พร้อมกับบ่นว่า มันจะทำให้กลับไปเป็นเหมือนยุคก่อนเก่า ก่อนไปกระซิบข้างหูบอกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าว่า ให้กาข้างขวาเน้อ ...( ก็ผู้อาวุโสของหมู่บ้านได้รับเงินเดือนเบี้ยชราจาก อบต.นี่นา ) ก่อนที่จะพยักหน้าอือออๆ


แต่ก็รู้สึกดี ระคนแปลกใจ ที่มี อบต.บางคน หยิบเอาเอกสารของเครือข่ายที่ไม่เอารัฐประหาร และค้านไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาอ่าน แล้วยื่นให้ผมดู


"อ่านหรือยัง เล่มนี้…"


ที่บอกว่ารู้สึกดี ก็เพราะว่า ยังดีที่คนระดับผู้นำในท้องถิ่นยังเปิดกว้าง ศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญให้รอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่อ่านแค่ข้อดีในหนังสือเล่มเหลืองเล่มเดียวเท่านั้น


บางครอบครัว ถึงกับพูดคุยกันแบบเปิดอกและเปิดกว้างในสิทธิความคิดเห็นอย่างอิสระ เสรี ...


"พ่อ ตกลงผมไม่รับนะ ...แต่บอกก่อนว่า ที่ไม่รับไม่ใช่เหตุผลเพราะรักทักษิณนะ แต่ผมมีเหตุผลส่วนตัวของผม เพราะมันไม่มีความชอบธรรม ..."
"ตกลง พ่อไปลงเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยล่ะเนี่ย ..." หญิงสาวคนหนึ่ง เอ่ยถามพ่อ หลังจากไปลงประชามติ
"พ่อกาเห็นด้วย ...เพราะอยากให้เรื่องมันจบๆ จะได้เลือกตั้งเสียที ..."
"แต่พ่อรู้มั้ยว่า ...ถึงเราไม่รับ ไม่เห็นด้วย แต่ยังไงเสียมันก็ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี ..." เธอบอกพ่อ
"เอ้า เหรอ ...รู้งี้ไม่กาเห็นด้วยดีกว่าเนาะ ... เพราะไม่ค่อยชอบทหารเท่าไหร่หรอก"
"อ่าว ..." เธอส่ายหน้า ก่อนพึมพำไปมา
"ถ้าเรากลับบ้านก่อนล่วงหน้า คงจะมีโอกาสบอกชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องนี้ และเชื่อว่าชาวบ้านไม่รับร่างนี้หรอก" เธอบ่นให้ผมฟัง หลังกลับจากไปลงประชามติ


2


ชัดๆ อีกครั้ง , ในที่สุด ... ผลประชามติก็ออกมาอย่างเป็นทางการ ...







 ภาพจาก ประชาไท

ที่น่าสนใจก็คือ "เชียงใหม่" บ้านเกิดของผม ที่ผลประชามติออกมา ...ไม่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ...

























จังหวัด


จำนวนพลเมือง / คน


คนที่มีสิทธิ์ใช้เสียง


เห็นชอบ


ไม่เห็นชอบ


บัตรเสีย


เชียงใหม่


1,658,298


1,173,018


337,011


439,696


22,780


ที่มา : สำนักข่าวชาวบ้าน


แน่นอน ...ย่อมมีหลายคน ( โดยเฉพาะทหารและกองทัพ) ตั้งคำถามพร้อมระคนสงสัย ...ทำไมและทำไม !?
ทั้งที่เป็นพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึก


ซึ่งทำให้ผมนึกไปถึงอารมณ์ขันแบบเจ็บๆ ของผู้อ่านประชาไท ที่ชื่อ Elizabeth ที่โพสลงใน ความคิดเห็นต่อข่าวบทความ : ลงประชามติแบบไทยๆ ในมุมมองของสื่อนอก









ตาดำ กับทิดมีแกเดินแบกจอบ
ผ่านเหล่าทหารกลุ่มใหญ่ที่ตบเท้าพรึ่บพรั่บ
เข้าแถวรับนาย

อดไม่ได้ที่จะผุดยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก
ขณะที่เดินผ่าน แกไม่แยแสสนใจ
สุ้มเสียงก่นด่า "ทำงานประสาอะไรวะ !?"

แม้เสียงผรุสวาทยังแว่วมาให้ได้ยิน
เมื่อแกเดินลับมุมทิวไผ่มาแล้ว

แกปล่อยก๊าก ๆ ๆ


"กูสะจายโว้ย ๆ ๆ ...."




ที่มา : Elizabeth
ความคิดเห็นต่อข่าว /บทความ : ลงประชามติแบบไทยๆ ในมุมมองของสื่อนอก


วกกลับมานั่งอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ พล..จิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่เปิดเผยถึงผลประชามติฯ ในเขตภาคเหนือ (ในมติชน, 22 . .2550) ว่า ...


"การลงประชามติครั้งนี้ พบว่ามีการชี้นำที่บิดเบือนโดยใช้เงิน ถือเป็นการดำเนินการทางการเมืองที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย มีการชี้นำที่เบี่ยงเบน ได้แก่  การออกใบปลิวโจมตีต่างๆ ทำให้ผลการออกประชามติของภาคเหนือไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ..."


ในขณะที่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ ในรายการ "ข่าวเช้าโมเดิร์นไนน์" โดยในตอนหนึ่งบอกว่า ...ที่จังหวัดที่ไม่เห็นชอบ เพราะต่อต้านคมช. หรือไม่ พลเอกสนธิ กล่าวว่า ส่วนตัวมองในแง่ที่ไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า คิดว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 70 ยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเลย  (มติชนรายวัน 22 ..2550)


ผมอ่านไปแล้วก็อดครุ่นคิดไปต่างๆ นานาไม่ได้ ...และแน่นอน - - ย่อมมีคนตั้งคำถามกันแบบนี้ ...


"แหงล่ะ ...ก็เป็นจังหวัดบ้านเกิดทักษิณนี่นา ..."


ซึ่งผมก็ยอมรับว่า ...เพราะชาวบ้านเขารักทักษิณ ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ผมคิดว่าถูกส่วนหนึ่ง ... แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดที่ผลประชามติที่คนเชียงใหม่ออกมาไม่รับ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ...


ส่วนหนึ่งที่คนเชียงใหม่ไม่เห็นด้วย ...ผมเข้าใจว่า น่าจะมาจากการรณรงค์ของกลุ่มนักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการจาก ม.เที่ยงคืน, มช. หรือนักองค์กรพัฒนาเอกชนหลายฝ่ายในเชียงใหม่ ที่ต่างออกมาจัดเวที รณรงค์ให้เห็นถึงข้อเสียของ ร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้กันอย่างหนักและต่อเนื่อง ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้เป็นฉบับร่างทรงคมช., ฉบับอมาตยาธิปไตย, ฉบับสืบทอดอำนาจ, ฉบับรับใช้เผด็จการ ฯลฯ เมื่อนำไปเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540


แข่งกับกระแสการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของฝ่ายรัฐ , คมช., กกต., ...ให้อ่านหนังสือเล่มเหลืองกันอย่างครึกโครมเช่นเดียวกัน


ส่วนหนึ่งที่คนเชียงใหม่ไม่เห็นด้วย ...บางคนบอกว่า เพราะว่าเขาไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเล่มเหลืองนั้นมากกว่า


ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ ประธาน คมช. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ... คนไทยมากกว่าร้อยละ 70 ยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเลย


"อ่าว ...ก็แล้วทำไมไปรีบร้อนจัดลงประชามติให้เร็วไปทำไม ... ในเมื่อรู้ว่าชาวบ้านไม่มีทางได้ศึกษาร่างฯ ได้ทันหรอก ทำไมไม่ให้เวลาชาวบ้านอ่านให้มากกว่านี้ล่ะ ..." ชาวบ้านบางคนตั้งคำถามกลับ


"แน่จริง ให้ลงประชามติในวันที่ 19 กันยา ... น่าจะเหมาะที่สุด ก็ครบรอบวันรัฐประหารพอดีเลย" ใครคนหนึ่งสอดแทรกขึ้นมา