Skip to main content

ระบบป่วยเสียเอง อะไรจะขนาดนั้น

คอลัมน์/ชุมชน





















































เมื่ออาทิตย์ก่อน (17 ก.ย. 47) ที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆ เกี่ยวกับหมอ ๆ และกระทรวงสาธารณสุขคือ ประธานและรองประธานชมรมแพทย์ชนบท (ทั้งสองคนมีเรื่องงัดข้อกับอดีตปลัดที่ถูกให้ออกไปแล้วนั่นแหละ) ได้เข้าพบรัฐมนตรีสาธารณสุข คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ประการด้วยกัน คือ

 

1. ขอให้วางหลักการในการกระจายงบประมาณตามการปฏิรูประบบราชการ และมีแผนรองรับในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณที่ชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามแนวคิดของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

2. ขอให้ถือว่าเงินเดือนเป็นต้นทุนการให้บริการ ห้ามแยกเงินเดือนออกจากงบประมาณรายหัว ที่จะกระจายลงไปให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ และ

 

3. เงินเดือนของบุคลากรในโรงพยาบาลจะต้องถูกหักมาจากเงินรายได้อื่นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะผู้ที่เข้าไปใช้บริการทางการแพทย์ไม่ใช่ผู้ที่ลงทะเทียนในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น

 

ที่น่าสังเกตคือ ทำไม ชมรมแพทย์ชนบท จึงต้องออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ และเรา ๆ ประชาชนทำไมต้องสนใจ

 

แน่นอนเพราะมันเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นความตายของเราแต่ละคน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน (ภาษีประชาชน) ให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ และจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นคนจัดสรรงบประมาณนี้ในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ (เพราะไม่รวมคนงานในประกันสังคมและข้าราชการพร้อมครอบครัว) ทั้งหมดดำเนินการภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด) ทำหน้าที่กำกับทางนโยบาย และมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐานสำหรับทุกคน

 

การที่ชมรมแพทย์ชนบท เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่กำหนดโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างโปร่งใส ยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นไปตามนโยบายการปฏิรูประบบราชการ ที่รัฐบาลนี้คุยนักหนาว่าจะทำอย่างเต็มที่นั้น น่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับทิศทางการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข

 

เกิดการเจ็บป่วยในระบบ เกิดการลุแก่อำนาจของผู้บริหารระดับสูง เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างแพทย์ในชนบทกับแพทย์ในเมืองหรืออย่างไร และเกิดการใช้งบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมในการให้บริการประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ (ชื่อเล่น ๆ ที่ควรลืมได้แล้วว่า 30 บาท) กับระบบอื่น ๆ คือ ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจหรืออย่างไร

 

ทางชมรมแพทย์ฯ จึงเสนอให้ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลควรนำเงินรายได้จากระบบอื่น ๆ มาเป็นเงินเดือนให้หมอ พยาบาล ด้วยไม่ใช่ใช้จากระบบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ขออำนาจการบริหารงบประมาณรายหัวในระดับจังหวัด ไม่ใช่จัดสรรเบ็ดเสร็จในระดับกระทรวง ที่สำคัญยืนยันหนักแน่นว่าให้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว

 

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านงงกันบ้างไหมคะ เดี๋ยวพูดเรื่องกระทรวงสาธารณสุข เดี๋ยวพูดเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เดี๋ยวพูดเรื่องการจัดสรรเงิน ไม่เห็นพูดเรื่องการรักษาเลย นี่แหละที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์ชีวิต+สุขภาพนี้อย่างต่อเนื่อง คุยกันครั้งสองครั้งไม่ได้หรอกค่ะ เรื่องมันยาว

 

ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปี ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชน หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข
ประชาชนยากจนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการรักษาฟรี เสียค่าธรรมเนียม 30 บาท แต่หมอพยาบาล ทำงานหนักมากขึ้น ถูกติดตามตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขถูกลดอำนาจจากเป็นผู้กุมทั้งระบบการรักษา มาเป็นเพียงผู้ให้บริการ (เป็นเจ้าของโรงพยาบาล) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีเครือข่ายครอบคลุมมากที่สุดเท่านั้น

 

ส่วนการจัดสรรเงินการดูแลให้ประชาชนมีสิทธิรักษา และเข้าถึงการรักษาเป็นหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ นี่คือที่มาของข้อเสนอจากชมรมแพทย์ชนบทในข้างต้นที่กล่าวถึง ให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ของตนเองให้ดี มีความยุติธรรมต่อหมอพยาบาลที่อยู่ในเมืองและชนบท มีนโยบายชัดเจนไม่ใช่ขึ้นกับอำนาจคนเพียงคนเดียว

 

ดังนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพจะไปรอดหรือไม่ รัฐบาลนี้จะทำอย่างไรกับนโยบายนี้ที่ใช้ได้ผลมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึง รัฐบาลจะพูดอย่างไรในเรื่องนี้ คงต้องมาติดตามกันต่อไปอาทิตย์หน้านะคะ