Skip to main content

ชีวิตหลากลีลา : หนึ่งวันบนท้องถนนในกรุงจาการ์ตา

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่มีประชากรหนาแน่นเกือบ 9 ล้านคน (..2547) มีพื้นที่ 661 ตารางกิโลเมตร ผู้คนจึงแออัดกันในอัตรา 13,920 คนต่อตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบหกล้านคน ความแออัดของประชากรต่อพื้นที่จึงมีอัตราน้อยกว่ากรุงจาการ์ตา คือ 3,623 คนต่อตารางกิโลเมตร


อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก วิถีชีวิตและภาษาของผู้คนแตกต่างกันอย่างมาก นั่นเป็นเสน่ห์อันยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย หากจะย่ออินโดนีเซียด้วยการมองผ่านกรุงจาการ์ตา คงไม่อาจทำได้เพราะไม่สามารถมองเห็นอินโดนีเซียได้ทั้งหมด แม้ภาพของกรุงจาการ์ตาจะเหมือนเมืองหลวงอื่นๆ คือ เป็นแหล่งรวมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จึงเป็นแหล่งรวมของผู้คนจากทั่วสารทิศของอินโดนีเซีย และเป็นแหล่งรวมวิถีชีวิตของคนแต่ละภูมิภาค สะท้อนจากวัฒนธรรมด้านอาหารการกินที่มีทั้งแบบ ปาดัง (ออกรสมันเลี่ยน เน้นพริกแกง) บาหลี (เผ็ดร้อนแรงยิ่งกว่าปักษ์ใต้บ้านเรา) ยอกยาการ์ตา (หวานมัน) ปัตตาเวีย (ครบทุกรสชาติ คล้ายอาหารไทยมากที่สุด) สุราเวสี  (เผ็ดร้อน) ฯลฯ


ในกรุงจาการ์ตาจึงหลากหลายลีลาและสีสันของชีวิตผู้คน ส่วนหนึ่งทำให้จาการ์ตามีภาพความขัดแย้งสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผู้เขียนลองใช้เวลาหนึ่งวันไปตามถนนสายหลักของจาการ์ตา คือ สุดริมาน (Sudirman) ได้เห็นหลากลีลาชีวิตบนท้องถนนจาการ์ตาในหนึ่งวัน จึงขอบรรยายด้วยภาพ ซึ่งฉายให้เห็นชีวิตชัดเจนกว่า



ถนนสุดริมาน ถนนสายเศรษฐกิจของกรุงจาการ์ตา เปรียบเสมือนถนนสีลม เพลินจิต
ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนข้ามชาติของกลุ่มทุนจากกลุ่มประเทศตะวันตก มาเลย์ และสิงคโปร์




ทางด่วน (express way) ผ่าใจกลางเมืองบนถนนหลักสุดริมาน เร็วเหมือนรถไฟลอยฟ้าและใต้ดินบ้านเรา ประมาณสิบห้านาทีถึงจุดหมายปลายทาง เป็นเส้นทางที่เชื่อมจากตะวันออกของจาการ์ตาไปตะวันตก รวมเวลาไม่ถึงสามสิบนาที



อีกด้านหนึ่ง รถบัสหรือรถเมล์ประจำทางที่วิ่งวนทั่วกรุงจาการ์ตา แต่แน่นเหมือนปลากระป๋อง สภาพรถเก่าและไม่มีแอร์คอนดิชั่น ราคาตั๋ว 5 บาท แต่วิ่งอ้อมเส้นทาง ใช้เวลาชั่วโมงถึงสองชั่วโมง ถึงที่หมาย (โดยเฉพาะเมื่อรถติด)



พลาซ่า อินโดนีเซีย สุดยอดของโรงแรมและห้างสรรพสินค้าครบครัน เป็นหน้าตาของอินโดนีเซียในแง่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่พื้นที่ข้างๆ พลาซ่า อินโดนีเซีย กลุ่มเอ็นจีโอมักจะใช้เป็นพื้นที่ปักหลักในการประท้วงรัฐบาลในทุกประเด็น เป็นนัยบอกอะไรบ้างอย่าง ระหว่าง พลาซ่า อินโดนีเซีย สัญลักษณ์ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและ???? (ในเครื่องหมายคำถาม)



พื้นที่ด้านข้างและหน้าของ พลาซ่าอินโดนีเซีย และอนุสาวรีย์ประชาชน มีกลุ่มประท้วงอยู่เสมอ วันนี้ก็มีกลุ่มหนึ่ง เป็นการประท้วงของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาของอินโดนีเซีย


  
หลังการคว่ำอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของชาวอินโดนีเซียนสูงมาก และกลุ่มนักเรียน นักศึกษาก็ตื่นตัวในทางการเมืองสูง ซึ่งมีรากเหง้าการต่อสู้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ยุคเผด็จการและยุคกดขี่ของทุนนิยมในปัจจุบัน (คำอธิบายของเพื่อนเอ็นจีโอ)




เพราะฉะนั้น รถตำรวจจึงพร้อมเสมอ ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งต้องมาควบคุมสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน




อีกมุมหนึ่ง คนตัดต้นไม้ก็ยังคงทำหน้าที่ของเขาไปอย่างปกติสุข ไร้กังวล




ตึกสูงชื่อว่า Davinci เป็นห้องสูท ห้องพักระดับเฟิร์สคลาสของชนชั้นสูงในอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ สนนราคาเริ่มต้นที่ห้องละ 50 ล้านบาท ช่วงที่ผู้เขียนถ่ายรูปตึกบนสะพานลอยอีกฟากหนึ่ง ยามของตึกเห็นเข้า พวกเขากวักมือเรียกด้วยท่าทีเข้มข้น ส่งสัญญาณห้ามถ่าย ประหนึ่งว่า ได้ไปแอบถ่ายค่ายทหารยามศึกสงคราม




หลังถนนใหญ่ ตามซอกตึกใหญ่ ภาพของชุมชนแออัดมีให้เห็นทั่วไป สลับกับตึกสูง




สภาพบ้านเรือน ในชุมชนมีความหนาแน่น มีความหลากหลายของกลุ่มคนปะปนกัน ทั้งระดับเศรษฐกิจดี ปานกลาง และหาเช้ากินค่ำ แต่ทุกชุมชนจะมีมัสยิด ซึ่งแล้วแต่ความจำเป็นและจำกัดของพื้นที่ ชุมชนนี้อยู่ติดกันกับที่พักของผู้เขียน ได้ยินเสียงสวดทุกเช้าและทุกค่ำชัดเจน



  
แถบจาการ์ตาตะวันตก ช่วงสถานีสุดท้ายของ express way สิ้นสุดถนนสุดริมาน กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พึ่งพิงทางเท้าของสถานีรถด่วน ขายของ พวกเขาอาศัยในแถบชุมชนแออัดย่านนั้น



  
ป้ากับสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาขายริมทางเท้า ก่อนเริ่มต้นไปสู่ถนนสุดริมาน กับความสนใจในข่าวสารบ้านเมืองของแก ในมือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาบาฮาซา หัวใหญ่ของอินโดนีเซียในเครือ kompas