Skip to main content

คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านวนิยาย

คอลัมน์/ชุมชน

ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มักถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ มากกว่าที่จะเห็นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยทัศนคติของความเห็นใจ เข้าใจ ด้วยความเมตตา ที่จะหาแนวทางแก้ไขให้เพื่อนมนุษย์จำนวนหนึ่งที่เป็นคนชายขอบ ซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ได้มีสิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นพลเมือง และสิทธิมนุษยชน ดังปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยและสมาชิก UN ทั่วโลก ลงนามรับสัตยาบัน


คุณแมว จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง จะแนะนำหนังสือที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เข้าใจสิทธิของคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติในประเทศไทย เชิญติดตามค่ะ



หนังสือคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย


"เวลาที่เผชิญกับปัญหาหนัก ๆ ในชีวิต คุณเคยคิดอยากจะหายตัวไปจากโลกนี้สักพักบ้างไหม?" แล้วถ้าดิฉันจะบอกว่า ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่ใช้ชีวิตเหมือนเป็นมนุษย์ล่องหน ไร้ตัวตนอยู่ตลอดเวลา คุณจะเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่


หนังสือ "คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย" เป็นอีกหนึ่งสารที่เป็นความพยายามของกลุ่มคนเล็ก ๆ อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ทนายความ นักศึกษาปริญญาโท และสื่อมวลชน ซึ่งล้วนทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ใช้สื่อให้สังคมรับรู้ถึงสภาวะขมขื่นของคนจริง ๆ ที่มีชีวิตราวกับนิยาย โดยที่มิอาจรู้ว่า ใครเป็นคนเขียนบทให้พวกเขาต้องแสดงไปเช่นนั้น


ความเชื่อมโยงของผู้เขียนทั้งหมด นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายในการทำงานที่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พวกเรายังมีความเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับบุคคลคนเดียวกัน "รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสิทธิคนสำคัญ ที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในนาม อาจารย์แหวว      

ก่อนที่ดิฉันจะมีโอกาสพบปะกับตัวจริงของอาจารย์แหวว ก็ได้ยินชื่อเสียงที่ทำให้ค่อนข้างหวาดหวั่นว่า อาจารย์แหววเป็นคนดุ เจอหน้าใครเป็นต้องบ่นต้องว่า ไม่เว้นเลยสักราย การพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับอาจารย์แหววจึงเริ่มต้นด้วยการที่ดิฉันถูกต่อว่า เพราะขับรถโฟร์วีลคันโตของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จากจังหวัดเชียงรายข้ามเขาไปยังอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่เพียงลำพัง ตอนนั้นฉันรู้สึกกลัวอาจารย์มากและไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า



ขั้นตอนเริ่มต้นของการดำเนินการเรื่องขอสัญชาติ คือ พิมพ์ลายนิ้วมือ


บทพิสูจน์แรกของดิฉันคือ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานค้นหาข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านอำเภอแม่อายจำนวน ๑,๒๔๓ คน ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร คดีประวัติศาสตร์เรื่องสัญชาติที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุดคดีหนึ่ง หน้าที่ของดิฉัน(ซึ่งเป็นตัวแทนมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา) รับผิดชอบสืบค้นรายละเอียดของผู้ถูกถอนชื่อฯ จำนวนหนึ่ง ร่วมกับคนทำงานไร้รัฐ ไร้สัญชาติจากหลายส่วน อาทิ อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และอาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ คุณสรินยา กิจประยูรและคุณชุติ งามอุรุเลิศ จากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ คุณมานะ งามเนตร์ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน จากมูลนิธิกระจกเงา รวมทั้งแกนนำกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อายอีกหลายคน การทำงานเริ่มตั้งแต่ศึกษาจากเอกสารที่ชาวบ้านส่งมา จากนั้นเป็นการตรวจสอบความถูกต้องกับฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่อาย ด้วยความแออัดของสถานที่ พวกเราจึงต้องนั่งกับพื้นห้องทะเบียนเพื่อค้นหาข้อมูลจากตู้เอกสาร เมื่อรวบรวมข้อเท็จจริงทางเอกสารแล้ว มีการพูดคุยและเลือกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ แล้วติดตามหาเจ้าตัวเพื่อสัมภาษณ์ในเชิงลึกต่อไป



ในช่วงนั้น ทีมงานต้องเดินทางไปๆมาๆ ระหว่างที่ทำงานของตน อำเภอแม่อายและกรุงเทพฯ โดยพวกเราใช้สถานที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นจุดนัดหมายและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานซึ่งมีอาจารย์แหววเป็นแม่ทัพนำทีมเพื่อใช้ประกอบการประชุมกับกรมการปกครอง หลายครั้งหลายหนที่ต้องทำงานกันจนดึกดื่นเที่ยงคืนแต่พวกเราก็ไม่เคยย่อท้อ จนสามารถผ่านบททดสอบมาได้ระดับหนึ่ง คนทำงานในรุ่นนั้นจึงค่อนข้างมีความผูกพันกันมาก



ชนเผ่าที่หลากหลายในประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องสัญชาติ


ขณะที่คดีของแม่อายยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ดิฉันมีโอกาสติดตามอาจารย์แหวว อาจารย์วรรณทนีและอาจารย์สิทธิพร เข้าพื้นที่บ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านที่ชาวบ้านทั้งหมดตกหล่นไปจากความรับรู้ของฝ่ายทะเบียนอำเภอสบเมย โดยการประสานงานของคุณสันติพงษ์ มูลฟอง ดิฉันได้พบกับน้องมึดาเป็นครั้งที่สองหลังจากเวทีเด็กที่จังหวัดพะเยา และเริ่มคิดที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของเธอออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่ด้วยภาระหน้าที่อื่น ๆ ทำให้ดิฉันไม่อาจเขียนเรื่องของเธอได้


ดิฉันเริ่มงานเกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นภาระรับผิดชอบโดยตรงในเวลาไล่เลี่ยกันถึงสองกรณีใหญ่ ๆ อันมีชีวิตของผู้คนมากมายเข้ามาผูกพันอยู่ คือ กรณีของครอบครัวแซ่ลี แห่งบ้านปางสาที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎรทั้งครอบครัวจำนวน ๑๓ คน กับกรณีของผู้ถือบัตรลาวอพยพและบัตรสีต่าง ๆ แห่งลุ่มน้ำโขงที่กินพื้นที่ตั้งแต่อำเภอเชียงของถึงอำเภอเวียงแก่น และมีคนไร้สัญชาติจำนวนมากที่อยู่ในกรณีหลังนี้



เวทีเด็กไร้สัญชาติที่จังหวัดเชียงราย


การเป็นผู้ติดตาม คอยสังเกตการณ์และช่วยเหลืองานบางอย่าง กับการเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยตรง ค่อนข้างแตกต่างกันมาก เพราะต้องเจอกับภาวะที่ถูกกดดัน ทวงถามความคืบหน้าจากผู้ร้องเรียนอยู่ตลอดเวลา ประการสำคัญตัวดิฉันเองที่เรียนจบมนุษยศาสตร์ สาขาบ้านและชุมชน เคยทำงานในหมู่บ้านและติดต่อประสานงานกับผู้คนมาก็มาก แต่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลยโดยเฉพาะกฎหมายสัญชาติซึ่งมีความจำเป็นต่องานอย่างยิ่งยวด อาจารย์แหววจึงขอร้องแกมบังคับ ให้เริ่มต้นตั้งแต่อ่านหนังสือ ค้นหาทางอินเตอร์เน็ต และเข้าร่วมอบรมความรู้ทางกฎหมาย รวมไปถึงตัวอาจารย์เองเป็นผู้สอนกฎหมายสัญชาติจากกรณีศึกษาจริง ๆ แก่ดิฉัน


ห้วงเวลาที่ติดตามทีมงานคนไร้รัฐฯและดิฉัน ลงทำงานในพื้นที่แม่อายกับเชียงของ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายปะปนกันอยู่หลายกลุ่ม เช่น คนไทยตกหล่น บุตรของคนต่างด้าว บุคคลที่เข้าเมืองมา ฯลฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เหตุการณ์สึนามิในจังหวัดภาคใต้ พวกเราถูกอาจารย์แหววมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามทักษะของตน พร้อมกับตั้งชื่อทีมให้ ดิฉันกับพรรคพวกที่ทำงานเกาะอยู่ในพื้นที่ โดยมากจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนและแกนนำชาวบ้าน รับบทบาทเป็น "ทีมขุดศพ" ค้นหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของคนไร้รัฐ จำแนกแยกแยะเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือในช่องทางต่าง ๆ หากเป็นกรณีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก เช่น กรณีของเดือน อุดมพันธ์ ซึ่งเป็นคนไทยโดยการเกิดมีหลักฐานเป็นเอกสารที่ชัดเจนระบุว่าเกิดในไทยจากบิดามารดาที่เกิดในไทย ชุดขุดศพก็สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้เลย


หากเป็นกรณีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เรื่องของน้องแวว สุขนวน ที่มีบิดาเป็นคนถิ่น เกิดในไทยแต่ไปทำมาหากินในลาว และกลับมาอยู่ในศูนย์อพยพ ต่อมาหลักฐานถูกไฟไหม้ จนต้องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและแปลงสัญชาติในที่สุด เมื่อคุณสรินยาและคุณชุติทราบเรื่องจึงทำการสืบค้นข้อเท็จจริงในเบื้องต้น จากนั้นจึงส่งต่อทีมแพทย์ที่มีนักกฎหมายเป็นหลักร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ช่วยกันเยียวยาแก้ไข จนลุล่วงไปได้


ส่วนกรณีที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมาก เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนมากมาย เช่น กรณีชาวบ้านแม่อาย ๑,๒๔๓ น ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร นอกจากตัวผู้เสียหาย ยังมีญาติพี่น้อง ข้าราชการ คนที่เข้ามาช่วย จึงต้องมีการระดมทีมแพทย์ชุดใหญ่ที่มีอาจารย์แหววเป็นหมอใหญ่ด้านกฎหมายสัญชาติประสานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนดังที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ


ช่วงทำงานขุดศพอยู่นี่เองที่อาจารย์แหววเริ่มสังเกตพบว่า ดิฉันชอบขีด ๆ เขียน ๆ จึงเคี่ยวเข็ญให้ลองถ่ายทอดเรื่องราวของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่พบเจอออกมาเป็นบทความ ที่ผนวกเอาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความรู้สึกให้คนอ่านอ่านง่าย โดยเริ่มจากเผยแพร่ในเว็บไซต์ของอาจารย์เอง www.archanwell.com กรณีที่เร่งด่วนและน่าสนใจอาจารย์จะส่งต่อไปยังคอลัมน์คติชน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากคุณภาสกร จำลองราช ดูแลต้นฉบับ ให้เผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้อาจารย์จะคอยกระตุ้นและเป็นกำลังใจตลอดมา งานเขียนในช่วงทำงานกับทีมคนไร้รัฐของดิฉันจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง


การทำงานกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างเข้มข้น แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นาน นับเป็นประสบการณ์สำคัญที่ทำให้ดิฉันได้พบกับคนทำงานหลากหลายสาขาอาชีพที่มีคุณภาพ ได้เจอผู้คนที่ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เรื่องราวของพวกเขาแต่ละคนล้วนเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า ได้แนวทางการทำงานที่ดิฉันปรับใช้ได้ในเวลาต่อมา ก่อนเริ่มงานช่วยเหลือกรณีใด ๆ ก็แล้วแต่ ดิฉันจะขอสัญญา ๓ ประการจากผู้ประสบปัญหา กล่าวคือ ) ห้ามโกหก เพราะข้อมูลทุกเรื่องมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์เพื่อหาทางช่วยเหลือ หากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง จะทำให้การช่วยเหลือผิดพลาดไปด้วย) อย่าท้อถอย เพราะทุกปัญหาย่อมไม่ใช่เรื่องราวที่แก้ไขได้ด้วยเวลาอันสั้น กระบวนการอาจมีความซับซ้อน ซ้ำซาก ผู้เป็นเจ้าของปัญหาจึงต้องอดทนอย่างมาก และ ) เมื่อเรื่องราวของตนได้รับการแก้ไขจนลุล่วงไปได้แล้ว จะต้องนำบทเรียนของตนไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน


แม้ในเวลาปัจจุบัน ดิฉันจะถอยห่างจากทำงานร่วมกับทีมคนไร้รัฐออกมาพอสมควร เมื่อได้รับการติดต่อจากน้องปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ที่รับภาระหนักในการเป็นบรรณาธิการรวบรวม เรียบเรียงงานเขียนของคนทำงานที่ค่อนข้างกระจัดกระจายทั้งที่อยู่อาศัยและภาระหน้าที่ ให้เชื่อมร้อยเป็นหนังสือที่จัดวางอย่างลงตัวดังเช่น "คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย" ดิฉันจึงรู้สึกขอบคุณเธอเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกเหนือจากการเรียกความรู้สึกผูกพันกับทีมคนทำงานเดิม ๆ  ยังช่วยก่อแรงบันดาลใจให้ดิฉันทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาอีกครั้ง พร้อมถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือดังที่ผ่านตาผู้อ่านมาแล้ว


ดิฉันจึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ "คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย" ที่จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยบริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด จะไม่เป็นเพียงสื่อที่ถูกอ่านจากคนทำงานช่วยเหลือคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ หรือตัวคนไร้รัฐที่ซุกซ่อนตัวอยู่ทั่วรัฐไทย หากแต่กลุ่มคนที่ดิฉันอยากให้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาศึกษา คือ บรรดาข้าราชการตั้งแต่ระดับนโยบายระเรื่อยลงมาถึงฝ่ายปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับงานคนไร้รัฐ เพื่อให้เกิดมุมมองที่อาจจะแตกต่างในการทำหน้าที่ของท่าน


หากผู้อ่านสนใจ "คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในรัฐไทย" และไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป กรุณาติดต่อโดยตรงได้ที่ บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด โทรศัทพ์ 02-9969471-3 โทรสาร 02-9969474 หรือที่ e-mail : winyuchon_w@hotmail.com หรือสนใจเข้าชมหนังสืออื่น ๆ ของสำนักพิมพ์ ได้ที่เวปไซด์ www.winyuchon.co.th