Skip to main content

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่กับหลักประกันสุขภาพ

คอลัมน์/ชุมชน





















































สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ดิฉันรอการประชุมคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่อังคารที่แล้ว จนมาถึงอังคารที่ 28 ก.ย.47 ที่ผ่านมา เพราะลุ้นว่าใครจะได้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ซึ่งก็ได้เห็นบรรยากาศที่บรรดาหมอต่าง ๆ รวมทั้งแพทยสภา (ซึ่งไม่เข้าใจเลยว่าหน่วยงานควบคุมจริยธรรมหมอ มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร) ออกมาเคลื่อนไหว กดดันรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าไม่ยอมแน่ ๆ หากจะแต่งตั้งคนที่ไม่ใช่หมอมาเป็นปลัด ทั้งนี้เนื่องจากมีคนที่เหมาะสมอยู่สามคน หนึ่งในนั้นเป็นเภสัชกรแต่อาวุโสสูงสุด และอยู่ในตำแหน่งรองปลัดด้วย ที่สุดก็ได้หมอเหมือนเดิมค่ะมาเป็นปลัดคนใหม่ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิบดีกรมอนามัย เช้าวันที่ 29 ว่าที่ปลัดก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) อย่างเต็มที่ ซึ่งดิฉันจะเฝ้าติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

 

เรามาคุยกันต่อเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพของบ้านเรากันนะคะ จากเดิมที่ได้แสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพนี้ จะมีการแยกบทบาทการทำงานอย่างชัดเจนระหว่างองค์กรเดิมคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับองค์กรใหม่คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดหาให้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นโครงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้แบบเดิม ๆ ที่ทำมา

 

จึงควรมีการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการ คือมีคนทำหน้าที่ให้บริการ ( ในที่นี้หลัก ๆ คือ สธ.และโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน) จัดทำโรงพยาบาล จัดบริการให้มีคุณภาพ จัดหาบุคลากรให้เพียงพอ จัดให้มี รพ.อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ชายขอบ ทุรกันดาร ห่างไกล อยู่เกาะ และมีฝ่ายทำหน้าที่จัดการ จัดหาบริการ จัดหาเงิน จัดทำสัญญาการให้บริการ เพื่อรับประกันว่าประชาชนทุกคนที่มีสิทธิสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะเดียวกันภาคประชาชน ซึ่งคือคนที่ใช้บริการดูแลรักษาก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพนี้ เป็นองค์ประกอบ 3 ฝ่าย

 

ทั้ง 3 ฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเพื่อก่อให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ โดยฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เจรจากับผู้ให้บริการให้จัดบริการที่ดี ที่มีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียมให้กับประชาชน โดยทำหน้าที่ออกเกณฑ์และจ่ายเงินให้หน่วยบริการคือจ่ายให้ สธ. ไปตามจำนวนหัวประชากรที่ต้องดูแล บางส่วนจ่ายให้ รพ.เอกชน ที่เข้ามาร่วมให้บริการ ดังนั้น สธ. ต้องนำเงินที่ได้รับไปจัดสรรให้เหมาะสมกับขนาดของ รพ. และสภาพความเป็นจริงของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น โดยเงินที่ได้รับนี้รวมค่าให้บริการของบุคลากร (เงินเดือน) ด้วยแล้ว และเป็นค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและการรักษาเมื่อป่วย

 

ที่ผ่านมางบในส่วนสร้างเสริมสุขภาพจะเป็นส่วนที่โรงพยาบาล และสถานีอนามัยจะใช้ในการทำงานสร้างสุขภาพ เพื่อลดการเข้ารักษา (ซ่อมสุขภาพ) บางจังหวัดเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยก็ได้รับงบจัดสรรให้ทำงานตามจริง บางจังหวัดก็มีปัญหาว่าเงินค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลไม่พอ จึงมาตัดส่วนนี้ไปใช้ ทำให้สถานีอนามัยมีเงินไม่พอทำงาน จึงมีเสียงให้การจัดสรรงบให้ยุติธรรมระหว่างหน่วยบริการใน สธ. กันเอง ดังที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกมาแสดงความเห็นและมีข้อเสนอต่อ สธ.ที่ผ่านมา

 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตามคือ แนวทางการทำงานของปลัด สธ.คนใหม่ที่ออกมาบอกว่า จะตอบสนองนโยบายหลักประกันสุขภาพให้ประสบความสำเร็จ และจะดำเนินนโยบายประเทศไทยแข็งแรง (Thailand Healthy) โดยจะดึงงบประมาณส่วนส่งเสริมสุขภาพในค่าใช้จ่ายรายหัว มาทำเรื่องมหกรรมรวมพลคนเสื้อเหลืองนั้น จะเป็นการขัดกันเองหรือไม่

 

ขณะที่งบสำหรับส่งเสริมสุขภาพที่ดำเนินการโดยสถานีอนามัยในชุมชน ก็มีน้อยอยู่แล้ว และการส่งเสริมสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องเต้นแอโรบิคอย่างเดียว สธ. ต้องเล่นสองบทบาทในฐานะผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ กับบทบาทงานสุขภาพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องหลักประกันสุขภาพ (non UC) ซึ่งต้องมีงบประมาณที่ สธ.ตั้งขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับงบในหลักประกันสุขภาพ

 

การจะมาดึงงบของหลักประกันสุขภาพไปใช้งานนโยบายวงกว้างจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุลึก ๆ ของปัญหาความสัมพันธ์กันของการใช้งบประมาณระหว่าง สธ.กับ สปสช.หรือไม่ เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งนั่งเป็นประธานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพด้วย คงต้องมีแนวทางให้ชัดเจนต่อการทำงานของ สธ.เองด้วย

 

อย่างไรก็ตามขอให้ ปลัด สธ.คนใหม่ตอบข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ที่ยกมาให้ดูอีกทีข้างล่างนี้ด้วย เพราะดิฉันเองก็อยากได้ข้อเท็จจริงเหมือนกัน

 

ข้อเสนอของ ชมรมแพทย์ชนบท เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สธ.

 

1. ขอให้วางหลักการในการกระจายงบประมาณตามการปฏิรูประบบราชการ และมีแผนรองรับในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณที่ชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามแนวคิดของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

2. ขอให้ถือว่าเงินเดือนเป็นต้นทุนการให้บริการ ห้ามแยกเงินเดือนออกจากงบประมาณรายหัว ที่จะกระจายลงไปให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ และ

 

3. เงินเดือนของบุคลากรในโรงพยาบาลจะต้องถูกหักมาจากเงินรายได้อื่นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะผู้ที่เข้าไปใช้บริการทางการแพทย์ไม่ใช่ผู้ที่ลงทะเทียนในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น