Skip to main content

Traffic Court; คดีรถชน

คอลัมน์/ชุมชน

A jury consists of twelve persons chosen to decide who has the better lawyer.


Robert Frost*


เมื่อสัปดาห์ก่อน มีโอกาสเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้น (Trial Court) ของมลรัฐอิลลินอยค่ะ


ศาลชั้นต้นที่ว่านี้มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับการจราจร จัดเป็นศาลคดีพิเศษแห่งหนึ่ง ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกเฉพาะว่า "Traffic Court" 


ดูจากแผนที่ของเมืองชิคาโก จะเห็นว่าตัวศาลตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่เรียนนัก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณสิบห้านาที ...ถ้าถามว่าตั้งสิบห้านาที ทำไมไม่นั่งรถไป...คำตอบก็คือ ถนนแถวนี้ใช้ระบบเดินรถทางเดียวค่ะ เพราะฉะนั้น กว่าจะเดินไปขึ้นรถเมล์ และกว่าจะรถจะวนมาถึง คาดว่าคงใช้เวลาไม่ต่างกัน ดังนั้น ...เดินดีที่สุด


ระบบศาลของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างจากของบ้านเราในสาระสำคัญ เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federal Government) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ระบบศาลคู่ (Dual Court System) โดยแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ศาลระดับประเทศ (Federal Court) และศาลระดับมลรัฐ (State Court)


คดีที่มีข้อพิพาทภายในมลรัฐ จะเริ่มกระบวนการพิจารณาที่ศาลชั้นต้น(State Trial Court) จากนั้น หากมีการอุทธรณ์ คดีก็จะขึ้นไปสู่ศาลอุทธรณ์ภายในมลรัฐ (State Intermediate Appellate Court) ซึ่งในแต่ละมลรัฐก็จะมีความแตกต่างกัน โดยในบางมลรัฐอาจถือศาลอุทธรณ์นี้เป็นศาลสูงสุด ในขณะที่บางมลรัฐอาจจัดให้มีศาลอุทธรณ์ที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า State Supreme Court


ดังนั้น คดีที่มีประเด็นข้อพิพาทภายในมลรัฐ จึงสิ้นสุดลงที่ State Intermediate Appellate Court หรือ State Supreme Court แล้วแต่กรณี แต่ในคดีที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องระหว่างมลรัฐกับมลรัฐ เช่น คดีพิพาทระหว่างคู่สัญญาต่างมลรัฐ หรือคดีที่มีประเด็นเกี่ยวด้วยรัฐธรรมนูญ จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลระดับประเทศ หรือ Federal Court ซึ่งแบ่งออกเป็นสามระดับคือ Federal District Court (ศาลชั้นต้น), Federal Court of Appeal (ศาลอุทธรณ์ เรียกอีกอย่างว่า Circuit Court), และ U.S. Supreme Court  ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหรัฐฯ


ในบางกรณี คดีที่เริ่มต้นจากศาลชั้นต้นภายในมลรัฐ (State Trial Court) อาจนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลระดับประเทศ (Federal Court) ได้ หากมีประเด็นเกี่ยวเนื่องในระดับมลรัฐดังที่กล่าวแล้ว โดยในกรณีนี้ เมื่อคดีได้ผ่านการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ทุกระดับภายในมลรัฐแต่ยังไม่เป็นที่ยุติ จึงนำเข้าสู่การพิจารณาของ Federal Court of Appeal (Circuit Court) โดยไม่ต้องผ่านศาลชั้นต้นระดับประเทศ (Federal District Court) อีก


ย้อนกลับมาที่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นภายในมลรัฐ หรือ State Trial Court อีกครั้งนะคะ


สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นภายในมลรัฐ ก็คือเรื่องของ "ลูกขุน" หรือ Jury ระบบลูกขุน ที่สหรัฐอเมริกานำมาใช้ มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไปยาวนานตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยมีการฟื้นฟูอีกครั้งในยุคสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษ (.. 1154-1189) ในประเทศที่ใช้ระบบ Common Law ส่วนใหญ่ ลูกขุนจะมีหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี ตัวอย่างเช่น พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้ฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ค่าเสียหายควรเป็นอย่างไร ฯลฯ โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนของประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา


คดีที่ไปฟังมาวันนั้นมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าอย่างนี้ค่ะ ฝ่ายโจทก์เป็นเด็กหญิงผิวขาวอายุสิบหกปี ส่วนจำเลยเป็นหญิงชราผิวสี วัยเกือบเจ็บสิบ


ทนายโจทก์แถลงเปิดคดี อ้างว่า บ่ายวันเสาร์วันหนึ่ง โจทก์ (เด็กหญิงโจอันนา) พร้อมเพื่อนและครอบครัวรวม 5 คน ไปจับจ่ายซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งริมทางหลวง หลังซื้อของเสร็จ ทั้งหมดก็ตั้งใจว่าจะข้ามถนนมาซื้อรองเท้าที่ร้านค้าฝั่งตรงข้าม


โจอันนาและแม่ จูงมือกันมาเป็นคู่แรก ส่วนที่เหลืออีกสามคนเดินตามมาข้างหลัง


บริเวณนั้นเป็นหัวมุมสี่แยก ซึ่งไม่มีสัญญาณไฟจราจร ขณะที่โจอันนาและแม่ยืนอยู่ในเลนที่สอง กำลังเตรียมจะข้ามถนนนั่นเอง ปรากฏว่า รถของจำเลยซึ่งวิ่งมาจากทางซ้ายมือ ได้เฉี่ยวชนโจอันนาล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัส แขนหัก กระดูกข้อเท้าแตก


พยานอีกสามคนซึ่งขณะเกิดเหตุยังยืนรอข้ามถนนอยู่ในเลนที่หนึ่ง อ้างว่าไม่มีใครเห็นรถของจำเลย ฝ่ายโจทก์เองก็บอกว่าก่อนจะข้ามถนน ได้ระมัดระวังอย่างดีแล้ว และมองไม่เห็นรถของจำเลยเหมือนกัน สิ่งสุดท้ายที่โจทก์จำได้คือตัวเองกำลังยืนรอข้ามถนน มารู้ตัวอีกทีก็ลงไปนอนจมกองเลือดแล้ว


ข้อเท็จจริงเบื้องต้นมีเพียงเท่านี้ ลองสมมติตัวเองเป็นลูกขุนในคดีนี้ดูนะคะ ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร? แล้วคราวหน้าเรามาคุยกันค่ะ


                                   


*กวีชาวอเมริกัน ค..1874-1963