Skip to main content

เรื่อง ปอด ปอด กับ ชีวิตผู้คน

คอลัมน์/ชุมชน





















































คราวนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ค่ะ เกี่ยวกับปอด ซึ่งไม่ได้หมายความถึงความรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ ที่เรามักคุ้นเคยว่า " ชักปอดปอด" นั้นนะคะ แต่หมายถึงอวัยวะที่อยู่ในร่างกายของคนเรานี่แหละคะ ก็ปอดที่อยู่หลังซี่โครงและมีหัวใจเต้นตุบ ๆ อยู่ตรงกลางระหว่างปอดสองข้างของคนเรานั่นแหละ

 

พักนี้มีการระบาดของไข้หวัดนก มีผู้ติดเชื้อนี้เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ทั้งสามรายได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุการตายคือปอดอักเสบ ส่วนอีกคนที่ติดเชื้อเหมือนกันแต่ได้รับการดูแลรักษา อาการดีขึ้นเป็นลำดับ และคนที่เฝ้ารอดูอาการในโรงพยาบาลที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ (อยู่ระหว่างส่งตรวจ) อีก 101 คน มีแนวโน้มว่าจะไม่ใช่เชื้อหวัดนกมากกว่าครึ่ง ขณะที่ฝ่ายดูแลสัตว์คือกรมปศุสัตว์ก็ออกมาขีดวงการแพร่กระจายที่ตรวจพบการติดเชื้อในสัตว์ปีกขณะนี้พบอยู่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ นับว่ามากทีเดียวและเป็นไปได้ว่ามีการระบาดไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย

 

ทำไมต้อง ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ ถูกทำลาย ไม่อาจทำหน้าที่รับอากาศที่หายใจเข้าไปเพื่อนำออกซิเจนในอากาศไปฟอกเลือดที่เป็นกลไกสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นเหตุให้เสียชีวิต จากข้อมูลที่ได้รับจากกรมควบคุมโรคคือว่าเชื้อไข้หวัดนกเป็นไวรัสสายพันธุ์ประเภทเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในคน แต่เชื้อนี้อยู่ได้ในสัตว์ซึ่งเป็นสัตว์ปีกเท่านั้น พบว่ามีอยู่ในสัตว์ปีกที่เป็นนกป่า นกน้ำ นกที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายตามฤดูกาล หนีหนาวมาจากบริเวณทิศเหนือของโลก แล้วส่งต่อเชื้อให้เป็ด ไก่ นกอื่น ๆ ในท้องถิ่น

 

คนได้รับเชื้อนี้จากการสัมผัสน้ำต่าง ๆ ที่ออกมาจากสัตว์ปีกที่มีเชื้อนี้ เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เลือด น้ำเหลือง มูลที่ออกมา เมื่อสัมผัสแล้วไม่ได้ทำความสะอาดมือ เอาไปลูบหน้าตา ปาก ซึ่งเป็นบริเวณช่องทางของร่างกายที่เปิดรับเชื้อได้ ทำให้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ และก่อให้เกิดอาการไข้หวัดนก คือหลังจากรับเชื้อไป 3-7 วันจะมีไข้สูง หายใจติดขัด ปวดกล้ามเนื้อ เพราะเชื้อนี้เข้าไปทำลายระบบอวัยวะภายในของร่างกาย รวมทั้งที่ปอดด้วย

 

หากพบหมอได้เร็ว ได้รับการวินิจฉัยเร็ว ได้รับการรักษาภายใน 48 ชั่วโมงโดยใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน จะมีโอกาสรักษาให้หายได้ แต่ในปรากฏการณ์ครั้งนี้ พบว่าเด็กเสียชีวิตไปแล้ว จึงพบว่าแม่ป่วยเข้าโรงพยาบาล จึงตรวจเชื้อจากแม่พบว่าติดไวรัสไข้หวัดนก จึงคาดว่าเด็กที่เสียไปแล้ว ฌาปนกิจไปแล้ว ไม่อาจตรวจหาการติดเชื้อได้ว่าน่าจะเป็นไข้หวัดนกด้วย ที่สุดแม่ของเด็กก็เสียชีวิตด้วยเป็นรายที่สาม รายแรกคือเด็กหนุ่มที่เลี้ยงไก่ชน แล้วใช้ปากดูดน้ำมูกจากไก่ชนของตน ซึ่งถือว่าสัมผัสกันตรง ๆ

 

หากภาครัฐจะไม่รีบประกาศว่าได้ทำลายเชื้อนี้สำเร็จไปแล้วเมื่อต้นปี โดยการทำลายไก่ เป็ดไปนับสิบล้านตัว หากมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการระบาด การดูแลรักษาตนเองของประชาชนที่เลี้ยงไก่ หรือคนที่มีอาชีพรับจ้างชำแหละไก่ให้ปกป้องตนเอง การล้างมือทำความสะอาด การลดความเสี่ยงทุกวิถีทางเมื่อสัมผัส เช่น ใช้ถุงพลาสติกใส่มือ การมีผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่อต้องทำงานใกล้ชิดกับไก่ เป็ด การดูแลลูกหลานไม่ให้คลุกคลีกับเป็ด ไก่ และล้างมือทุกครั้งก่อนกินข้าว หรือเมื่อสัมผัสสัตว์ทุกประเภท

 

จะทำให้ประชาชนไม่นิ่งเฉย และระวังตนเองได้ เพราะคงยากที่จะกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไปได้ง่าย ๆ เนื่องจากเป็นการระบาดตามฤดูกาลย้ายถิ่นของนก ฤดูกาลที่มีอากาศหนาว ชื้น ซึ่งเชื้อไวรัสเติบโตได้ดี ไม่งั้นประเทศไทยคงต้องทำตาข่ายคลุมประเทศทั้งประเทศไม่ให้นกเหล่านี้บินมาใช้พื้นที่ในบ้านเราได้

 

ดังนั้น การปรับคณะรัฐมนตรี การย้ายรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี การย้ายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข การประกาศให้การควบคุมไข้หวัดนกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยระบุว่าจะควบคุมให้ได้ภายใน 30 วันนั้นเป็นไปได้จริงหรือ

 

ข้าราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข จะทำอย่างไรเมื่อครบ 30 วันแล้วยังมีคนป่วยด้วยไข้หวัดนก มีสัตว์ปีกล้มตายที่นั่น ที่นี่ ทั่วประเทศ คิดดูว่าคนเหล่านี้จะกล้ารายงานเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไหม ข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บเงียบ ปิดบังประชาชนหรือไม่

 

ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ที่สุด หากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ ไม่ตระหนักว่าเป็นการระบาดที่ควบคุมลำบาก มากับธรรมชาติ และฤดูกาล และรีบเสนอแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนเลิกเลี้ยงไก่ เป็ด ตามบ้าน ตามทุ่ง แต่ให้เลี้ยงได้เฉพาะธุรกิจฟาร์มปิดขนาดใหญ่ อะไรจะเกิดขึ้น

 

แหล่งอาหารของชาวบ้านจะถูกยึดกุมโดยธุรกิจ ความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงหายไป ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รัฐกำลังไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ชุมชนถูกลิดรอนอำนาจในการดูแลช่วยเหลือกัน ดูเหมือนจะควบคุมได้ง่ายในสายตารัฐ แต่ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะชุมชนที่เผชิญปัญหาเองย่อมรู้ดีว่าจะจัดการอย่างไรให้สอดรับกับความเป็นจริงของตน

 

องค์กรชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรชุมชนด้านสุขภาพ ควรมีโอกาสมานั่งวิเคราะห์ปัญหาการระบาดนี้ร่วมกัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่จำเป็นจะต้องฝากภาระนี้ให้กับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ประจำหมู่บ้านเท่านั้น เพราะจะกลายเป็นการสั่งการให้ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังการระบาดมากกว่าการคิดค้นหาทางแก้ปัญหา คุณภาพชีวิตของชุมชนขึ้นอยู่กับชุมชนเอง

 

เรื่องปอด ปอด ก็เป็นปอดของผู้คนในชุมชนนั้น ๆ เอง