Skip to main content

"จรัล มโนเพ็ชร" ศิลปินเพลง "Ballad" แห่งล้านนา

 


ร า ว สองทศวรรษ กว่าๆ แรกเริ่มได้ฟังเพลง... "อุ๊ยคำ,มิดะ,สาวมอเตอร์ไซค์,มะเมี๊ยะ,ของกิ๋นบ้านเฮา,น้อยใจยา ฯลฯ แล้ว ฉันบอกกับตัวเองด้วความปิติยินดีว่า.... นี่แหล่ะคือเพลง "Ballad" เพลงเล่าเรื่องพื้นบ้านของล้านนาเราล่ะ ! ดังเช่นเพลง "Ballad" ของ "ราชินิเพลงพื้นบ้าน" นาม "โจน บาเอซ" ( Joan Baez) แห่งตะวันตก "ยุคซิกส์ตี้" ผู้ใช้บทเพลงเล่าขานตำนาน และปลุกเร้าให้กำลังใจการต่อสู้เพื่อศานติภาพของโลก และเพื่อความเป็นธรรมของผู้ที่ถูกกดขี่ทั่วโลก ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเพลง "We shall overcome, Where have all the Flower gone หรือ Joe Hill etc.


…เช่นกัน บทเพลงของ "จรัล มโนเพ็ชร" ฉันจึงชื่นชอบประทับใจ ติดตามบทเพลงของเขาเรื่อยมา...


บทเพลงพื้นบ้าน ฯลฯ ของ "จรัล มโนเพ็ชร" มีความงดงามทั้งด้านศิลปะและเนื้อหาที่นำเสนอ...เป็นภาษากวีที่งดงาม อ่อนช้อย ละเมียดละไม เย็น นิ่งลึก ฯลฯ ใช้คำภาษาล้านนา และภาษากลาง ผสมผสนกันไป เพื่อสื่อสารถ่ายทอดให้ผองชนได้รับรู้ สัมผัส เข้าใจได้อย่างเป็นสากล (ทั่วไป) เพราะหากเขาใช้ภาษาล้านนาตลอด คนในสยามประเทศฯ ก็มิอาจรับเสพสารที่เขาสื่อทั้งหมดได้อย่างเข้าใจ และในด้านการใช้ภาษาไทยกลางผสาน เขาก็รจนาคำเพลงกวีได้อย่างงดงาม พริ้งเพราะ พลิ้วไหว ฯลฯ จะไม่ยกตัวอย่างการใช้ภาษาที่งดงามของเขามา ณ ที่นี้ เพราะสื่อสารประเภทต่างๆ ก็ได้ยกตัวอย่างเล่าขานมามากมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใน... หนังสือพิมพ์ , นิตยสาร สื่อสารมวลชน ฯลฯ


... สำหรับท่วงทำนองบทเพลงของ "จรัล มโนเพ็ชร" แม้บางเพลงเอามาจากตะวันตก แต่เขาก็นำมาสอดร้อยผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับบทเพลงที่เขารจนา และบทเพลงที่เขาอนุญาตเอามาจากนักแต่งเพลงพื้นบ้านคนอื่น เพื่อทำการเผยแพร่ทั่วประเทศได้อย่างลงตัว ... นั่นย่อมหมายความว่า "จรัล มโนเพ็ชร" สามารถนำท่วงทำนองดนตรีอันเป็นสากลมาใช้ผสมผสานบทเพลงพื้น้บานล้านนาด้วยความเคารพ และอย่างมีการพัฒนา สร้างสรรค์จนเป็นที่ชื่นชมยอมรับในวงกว้างได้อย่างงดงาม


... บทเพลงแห่งเขาจึงเป็นอมตะวาจามาจนบัดนี้ และที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือ บทเพลงของเขาได้ปลุกเร้าให้ชาวล้านนา (หรือแม้กระทั่งชาวไททุกภูมิภาคของประเทศ) ให้ได้ลุกขึ้นมารำลึก สัมผัสกับรากเหง้าแห่งชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติชีวิตแห่งเผ่าพันธุ์ตนเองที่นับวันจะยิ่งสูญสลายหายตายจากไปด้วยกระแสอภิมหาบริโภคทุนนิยมโลกาวินาศสุดโต่งที่นับถือวัตถุเงินตราดุจพระเจ้าองค์ใหม่ ลุ่มหลงใหลในอวิชชาความเจริญ การพัฒนาจอมปลอมที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของมนุษยชาติอย่างสุดโต่ง ... ฯลฯ




...

บทเพลงของเขาจึงถือได้ว่า ได้พยายามเตือนสติ ปลุกเร้า และฟื้นฟูสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านล้านนา และแต่งบทเพลงใหม่ๆ ขึ้นมาให้ผู้คนได้มีจิตสำนึก รับรู้ เริงรื่น เริงร่า พลังสดใส อหังการ์ ภาคภุมิใจในรากเหง้าวิถีชีวิตของตนเอง ตลอดจนเสมือนทายท้าให้ผู้อยู่หลังได้สืบทอด สืบสาน รังสรรค์บทเพลงพื้นบ้านล้านนาต่อจากเขาอย่างมีตัวตนจนถึงที่สุด !

... ฉัน เคยแอบหลงรักเคารพนับถือเขามานานแล้วในด้านการสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านแห่งล้านนาที่เฝ้ารอคอยมานานนับวัยอายุขัยของตนเอง ... แม้จะมีศิลปินเพลงพื้นบ้านที่นับได้ว่ามีฝีมือเป็นเยี่ยมเช่นกัน แต่ก็รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ถึงใจความต้องการแห่งฉัน ที่ต้องการให้บทเพลงนั้นๆ เผยแพร่ออกสู่วงกว้าง ไพศาลที่สุด... ให้ผู้คนได้ชื่นชม เสพสม ยอมรับ รับรู้ ชื่นชอบ มีอารมณ์ร่วม โดยทั่วถึงกันทั้งประเทศ และแม้แต่ในต่างประเทศ ฯลฯ ฉันเฝ้ารอคอย ... ไร้หวัง แต่ทว่าในที่สุด ความหวังความฝันนั้นก็เป็นจริง เมื่อ "ศิลปินเพลงพื้นบ้านล้านนา" ... นาม.. " จรัล มโนเพ็ชร" ปรากฏตัว และสำแดงพลังวิริยภาพแห่งเพลงคีตกวีให้โลกได้รับรู้


... ไม่กี่ปีมานี้เอง โชคดีได้มีโอกาส พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน กิน ดื่ม เล่าเจื้อ ตลก สนุกสนานกับเขา ...ศิลปินเพลงผู้มีอารมณ์ขัน เริงร่า แฝงอารมณ์เศร้าโศก และ มุ่งมั่น จริงจัง จริงใจ ทรนงองอาจ อหังการ์ กล้ากระทำในสิ่งที่ตนอยากทำ ไม่ทำตามแฟชั่นใดๆ ทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องมีเหตุผล และ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ฯลฯ


... ฉันเคยร่วมงานวัฒนธรรมเพลง – กวีเล็กๆ กับเขาและมิตรสหายสองครั้ง ณ ร้าน " สายหมอก ดอกไม้" - และที่ร้าน "ไม้กลางกรุง" – ลำปาง ด้วยความประทับใจ สนุกสนาน รื่นรมณีย์ ...


... มาบัดนี้เขาได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันอบอุ่นแห่งแผ่นดินแม่แล้วอย่างสงบสุข งามสง่า .....นิรันดร


... ฉันคิดถึงเขา "จรัล มโนเพ็ชร" ... น้องชาย และผู้เป็น "ลูกผู้ชายที่ดีงามของแผ่นดิน" !




13 กันยายน 2544 , ปลายฤดูฝน , ล้านนาอิสระ , เชียงใหม่
รำลึกครบรอบ 6 ปี แห่งการคืนสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่ของ "อ้ายจรัล มโนเพ็ชร"




หมายเหตุ: ความเรียงนี้เคยตีพิมพ์ครั้งแรกใน "นสพ.พลเมืองเหนือ" ปี 2544
ภาพประกอบ : จากหนังสือ "ตามรอยฝัน จรัล มโนเพ็ชร" เขียนโดย "อันยา โพธิวัฒน์" ภริยาและเพื่อนร่วมชีวิตของอ้ายจรัลฯ สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์