Skip to main content

บริจาคไตไหมคะ

คอลัมน์/ชุมชน

ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย[1]แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2537 ถึง เมษายน 2550 มีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตไปแล้ว 1,339 ราย ขณะที่เมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ขึ้นทะเบียนรอรับการบริจาค 1,905 ราย สิบสามปีที่ผ่านมาสามารถผ่าตัดเปลี่ยนไตได้เฉลี่ยปีละ ราวๆ 100 ราย เนื่องจากหลายสาเหตุทั้งจำนวนผู้บริจาค จำนวนหมอ จำนวนโรงพยาบาลที่สามารถทำการผ่าตัดได้ จำนวนเงินที่ผู้ป่วยมีใช้จ่ายในการผ่าตัดเปลี่ยนไต การเตรียมการ การดูแลหลังผ่าตัดที่ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทรวมค่ายาหลังผ่าตัดด้วย ซึ่งคนที่อยู่ในระบบสวัสดิการข้าราชการ และอยู่ในประกันสังคม ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีประชากรในระบบนี้กว่า 48 ล้านคนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากการรักษาไตวายเรื้อรังไม่บรรจุเป็นโรคที่กองทุนหลักประกันสุขภาพรับภาระค่าใช้จ่ายให้ คนเหล่านี้ต้องจ่ายเงินเอง หรือเสียชีวิตไปในแต่ละปี เป็นโรคเดียวที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง

นอกจากการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว การฟอกเลือด (การล้างไต) เป็นวิธีการรักษาเพื่อเตรียมการสู่การผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งการล้างไตนั้นต้องทำเป็นประจำอย่างน้อยสองสามครั้งต่อสัปดาห์ หรือทำการล้างผ่านช่องท้องด้วยตนเองที่บ้านทุกวัน ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติได้ ทำงานได้ แต่ต้องมีเงินค่าใช้จ่ายเดือนละ 12,000 – 15,000 บาทหรือมากกว่านั้น โดยข้าราชการและคนในประกันสังคมไม่ต้องรับภาระจ่ายเอง แต่คนที่อยู่นอกเหนือจากนี้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องจ่ายเองทั้งหมด ปีหนึ่งต้องมีเงินราวๆ 150,000 บาทเพื่อการล้างไต รอวันได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตเมื่อมีไตบริจาคที่เข้ากับร่างกายของตนซึ่งอาจหลายปีหรือตลอดชีวิต


คาดการณ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในไทยอยู่ที่ 300 รายในหนึ่งล้านคน[2]ปัจจุบันน่าจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังราวๆ 15,000 ราย ส่วนหนึ่งได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม ที่เหลือคือคนที่ต้องช่วยเหลือตนเอง จ่ายเอง จึงเป็นเหตุให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเหล่านี้ โดยการบรรจุให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การเพิ่มงบประมาณที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว

ซึ่งในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ (ปีงบประมาณ 51) จะต้องใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท สามารถดำเนินการรักษาด้วยวิธีล้างไตทั้งสองแบบให้กับประชาชนได้ประมาณ 10,000 -20,000 ราย โดยมีการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายระหว่างการล้างไตผ่านกระแสเลือด การล้างไตผ่านช่องท้อง การเปลี่ยนไต ไม่ใช่เฉพาะการล้างไตด้วยเครื่องฟอกไตอย่างเดียวซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านี้ นั่นคือต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้มากเกินกว่า 100 รายอาจต้องถึง 200 ราย และมีการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตนเองที่บ้านด้วย ไม่ใช่ต้องลงทุนเครื่องฟอกไตเพิ่มขึ้น ต้องจ้างพยาบาล เจ้าหน้าที่ หมอ ดูแลมากขึ้น แต่ต้องมีระบบฝึกอบรมผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ให้สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ การเจรจาต่อรองราคาน้ำยา ราคายา ให้ลดลง จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสังคมไทย

ประกอบกับสิ่งที่ต้องรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ไตวายเรื้อรัง เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญคือการเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หากสามารถลดจำนวนผู้เป็นเบาหวานและความดันลงได้ หรือทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ดูแลตนเองไม่ให้พัฒนาไปสู่ไตวายได้ จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยไตวายลดลงได้ เช่นกัน


การบริจาคไตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรณรงค์เพิ่มขึ้น ทั้งการบริจาคโดยเครือญาติกันเอง และจากผู้บริจาคทั่วไป การสร้างความเข้าใจเรื่องการบริจาคอวัยวะ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยไตเพียงข้างเดียว เพื่อก่อให้เกิดการรักษาผู้ป่วยไตวายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด


เชิญชวนมาบริจาคไตกันค่ะ โทรที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย 1666 และขอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้ในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ การเพิ่มงบประมาณอีก 1,500 ล้านบาทให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ย่อมถือว่าเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่าต่อกลุ่มคนที่สามารถเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ต่อไป เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ ที่รัฐลงทุนไปแต่ได้ผลไม่คุ้มค่าเท่านี้




[2] โดย คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอทางเลือกและรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินการให้การรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ