Skip to main content

อาถรรพ์แห่งพงไพร : นิเวศน์สำนึก การรับใช้สังคมและความรักของหนุ่มสาว

คอลัมน์/ชุมชน

อาถรรพ์แห่งพงไพรเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประเภทนวนิยายประจำปี 2549 ของประเทศลาว เขียนโดย "ดอกเกด" หรือ ดวงเดือน บุนยาวง แปลเป็นภาษาไทยโดย ศรีสุดา ชมพันธุ์

หนังสือเล่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดวิชารู้จักธรรมชาติ ของเสมสิกขาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาแบบทางเลือก ทั้งนี้ก็ด้วยเนื้อหาส่วนสำคัญของอาถรรพ์แห่งพงไพร นั้นเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับของป่า การรู้จักเคารพและรู้บุญคุณของป่าที่มีต่อสรรพชีวิต หนังสือเล่มนี้บอกว่าการพยายามตักตวงเอาทรัพยากรต่าง ๆ ออกจากป่าอย่างขาดความยำเกรงนั้นย่อมจะทำให้ป่าถูกทำลายและมนุษย์ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้


อาถรรพ์แห่งพงไพรมีตัวละครหลักคือผัน ครูหนุ่มเปี่ยมอุดมการณ์ เขาเป็นครูชนบทที่เป็นห่วงเป็นใยในอนาคตของเด็ก ๆ ในชนบทแห่งนั้น เขาต้องการให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ เขาต้องการให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ชีวิตของเขาอุทิศให้กับสิ่งเหล่านี้ และนอกจากมิติของการรับใช้สังคมเยี่ยงคนหนุ่มเปี่ยมอุดมการณ์แล้ว ด้วยความเป็นนวนิยาย ผู้เขียนจึงสอดใส่เนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องความรักอันเป็นมิติส่วนตัวเข้าไปด้วยอย่างกลมกลืนพอสมควร นวนิยายเรื่องนี้จึงสอดประสานเนื้อหาเข้าด้วยกันทั้งหมด 3 ส่วน คือส่วนที่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับของพงไพรอันก่อให้เกิดแนวคิดในเรื่องนิเวศน์สำนึก อุดมการณ์แห่งการรับใช้สังคม และความรักของมนุษย์ปุถุชน


นิเวศน์สำนึก


ป่าเปรียบเหมือนอู่ข้าว อู่น้ำของชาวบ้านแห่งบ้านหาดโพ หากป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ด้วย ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรหลากชนิดจากป่า วิถีชีวิตของชาวบ้านแห่งนี้จึงแยกไม่ออกจากป่าที่อยู่รอบ ๆ ครูผัน ครูหนุ่มวัย 25 เข้ามาเป็นครูสอนอยู่ในหมู่บ้าน "หาดโพ" ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำซัน 2 ปีกว่าตามความต้องการของเขาเอง ครูผันกำลังต้องการไม้จากป่าเพื่อนำมาสร้างโรงเรียน เขาและชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครเดินทางเข้าป่า เพื่อคัดเลือกไม้ที่จะนำมาสร้างโรงเรียน ผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่า และความงดงามของป่าจากมุมมองของครูผันว่า


"มองขึ้นไปเห็นต้นไม้เรียงสลอนสูงเสมอกัน เรือนใบหนาแน่นจนแทบไม่มีแสงสว่างของดวงอาทิตย์ลอดผ่าน เถาวัลย์ขนาดเท่าแขนเด็กพันรอบต้นไม้ อากาศเย็นชื้นจนรู้สึกสะท้านกายกลิ่นหอมตรลบของป่าดงพงไพรลอยอวล ไม่รู้ว่ามันระเหยออกมาจากพืชพันธุ์ชนิดใดกันแน่" (หน้า 71)


"ผันชื่นชมในความงามของป่าไม้แห่งนี้ นับวันอาถรรพ์แห่งพงไพรก็ยิ่งแผ่อิทธิพลครอบงำหัวใจของครูหนุ่ม เสียงนกน้อยร้องมาจากพุ่มไม้รอบข้าง มองไม่เห็นว่ามันจับอยู่กิ่งไหนกันแน่ ผันนึกเอาเองว่ามันคงมีความสุขไม่น้อยที่ได้อยู่กันตามประสาสัตว์ ปราศจากการรบกวนจากภายนอก ชายหนุ่มก้มหัวลงเมื่อเห็นเห็ดสีขาวเกิดอยู่เต็มขอนไม้ที่ขวางอยู่ข้างหน้า" (หน้า 83)


แม้ว่าชาวบ้านจะผูกพันกับป่าแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้จักป่า หรือพืชพันธุ์ในป่าไปเสียทั้งหมด เมื่อมีคนพูดถึง "ไคร้เครือ" อันเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งชาวบ้านหลายคนจึงทำท่างุนงงสงสัย และยิ่งสร้างความประหลาดใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อครูผันพบไม้กฤษณาซึ่งเป็นไม้หายากที่ยางของไม้ชนิดนี้มีราคาแพงมาก การได้พบไม้กฤษณาในป่าอันเป็นไม้ในวรรณคดีไม่ใช่เรื่องง่าย แม่บุญธรรมของครูผันจึงบอกแก่ครูผันว่า


"คนโบราณเขาเรียกไม้วาสนานะ เขาว่าใครที่มีบุญวาสนาถึงจะได้พบได้เห็น" (หน้า 81)


ครูผันทราบว่าไม้กฤษณามีราคาแพงหากเอายางของไม้ชนิดนี้ไปขาย เขาก็จะนำเงินที่ได้มาสมทบสร้างโรงเรียนและโรงหมอให้แก่คนในหมู่บ้านได้ ก่อนที่จะเอายางไม้กฤษณา ครูผันทำพิธีแสดงการขอบคุณเทวดาฟ้าดิน และเจ้าที่เจ้าทาง


"ลูกช้างไม่อยากทำลายตัดไม้ต้นนี้ให้ตายทั้งต้น อยากขอเพียงแบ่งยางของท่านไปใช้เป็นยา ปลายมีดนี้จิ้มลงไปแล้ว ขออย่าได้เจ็บได้ปวดและขอให้ถูกจุดที่มียางด้วย’ ผันอธิษฐานตามคำบอกเล่าของทิดแก่น แล้วจึงพิจารณามองหาจุดพิเศษก่อนจะตัดสินใจทิ่มแทง มณีสวรรค์ไม่รู้ธรรมเนียมเหล่านี้ แต่เธอก็รู้สึกตื้นตันไปด้วย ถ้าทุกคนนับถือจารีตนี้เหมือนกับผัน ไม่ตัดฟันต้นไม้ไปทั่ว นับถือและรู้บุญคุณของป่า ป่าไม้คงจะสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด" (หน้า 122)


นอกจากนี้แล้ว จะพบว่าผู้เขียนได้แทรกความรู้ในเชิงนิเวศวิทยาเข้าไปในหลายบทหลายตอน เช่นตอนที่ครูผันอธิบายเรื่องการต้นไทรเขมือบกินต้นยางให้มณีสวรรค์ คนรักของเขาฟังว่า


"นกกินลูกไทรแล้วก็มาขี้รดต้นไม้อื่น ๆ เวลาที่มันบินมาจับ ทำให้เม็ดไทรติดอยู่ตามกิ่งก้านของต้นไม้ จากนั้นก็แตกงอกเจริญเติบโตขึ้น อาศัยดูดซึมอาหารตามลำต้นไม้ใหญ่ที่มันอาศัยอยู่ ส่วนใบก็งอกขึ้นมาแย่งแสงแดด เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้แม่ก็ค่อย ๆ ผุไป" (หน้า 119)


อุดมการณ์รับใช้สังคม


แม้ว่าครูผันจะชื่นชมความสวยงามของป่าและแม่น้ำลำธารในหมู่บ้านที่เขาสอนอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมาอยู่ใหม่ ๆ เขาก็ไม่พอใจที่หมู่บ้านแห่งนี้ที่แทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก


"เมื่อมาอยู่ใหม่ ๆ ผันรู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับสภาพการเดินทางไปมา เขาเคียดแค้นชีวิต นึกเจ็บร้อนแทนคนในหมู่บ้านที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะไม่มีถนน ผันเคยอิดเอื้อนกับการไปประชุมในเมืองเมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนโดยอ้างว่าไปมาลำบาก" (หน้า 14)


แต่ไม่ช้าไม่นาน ผันก็ปรับตัวเข้ากับชีวิตชนบทและหลงรักวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวบ้านแห่งบ้าน "หาดโพ" ได้ แต่ในฐานะของครูปัญหาประการหนึ่งที่รบกวนผันอยู่ก็คือสภาพของโรงเรียนที่ทรุดโทรม ฝาไม้ไผ่มีรูโหว่ เสาเอียงกะเท่เร่ เขาต้องการสร้างโรงเรียนใหม่


"หมู่บ้านหาดโพเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่เกือบร้อยหลังคาเรือน ทั้งยังเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี แต่ไม่สามารถปลูกโรงเรียนให้ลูกหลานตัวเองได้มีที่นั่งเรียนอย่างเหมาะสม ผันไม่ต้องการจะคิดว่าสิ่งที่เขาอยากจะทำนี้คือเรื่องยิ่งใหญ่กระไรนักหนา เขาอยากให้ทุกคนเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ป่าไม้รอบหมู่บ้านหาดโพมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน ไม้จำนวนหนึ่งควรจะถูกเปลี่ยนสภาพมาเป็นไม้กระดานและไม้มุงหลังคาอาคารขนาดสามห้องเรียนให้เด็กน้อยลูกหลานของชาวบ้านได้หลบแดดหลบฝนเรียนหนังสืออย่างสบาย" (หน้า 32)


"เขาได้พยายามต่อสู้ พาชาวบ้านวางแผนสร้างโรงเรียนเองแทนการรอคอยความช่วยเหลือจากแขวงหรือองค์กรจากต่างประเทศ ปีนี้ เขาได้รับใบอนุมัติจากเมืองให้ตัดไม้ในป่าจำนวนห้าสิบลูกบาศก์เมตรแล้ว เหลือแค่ร่วมแรงกันไปตัดไม้และลากมาไว้เลื่อยทำเสาและไม้กระดาน" (หน้า 25)


อย่างไรก็ตาม การวางแผนสร้างโรงเรียนของเขาเกิดปัญหาขึ้นเมื่อต้นไม้ในป่าที่ผันและชาวบ้านจะเข้าไปตัดเพื่อนำมาสร้างโรงเรียนนั้นอยู่ในเขตสัมปทานของบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ไปแล้ว ดังนั้นครูผันจึงเดินทางเข้าเมืองเวียงจันทน์เพื่อติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่กำลังรอคำตอบอยู่นั้น "คำผา" ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานก็เดินทางมาที่หมู่บ้านและยื่นข้อเสนอต่อครูผันว่า


"ครูไปเอาใบอนุมัติตัดไม้ห้าสิบคิวนั่นมาให้เรา แล้วเราก็จะเอาไม้เลื่อยแล้วสิบคิวมาให้โรงเรียน" (หน้า 61)


เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา คำผาต้องการแลกไม้ห้าสิบคิวที่ครูผันได้รับอนุมัติแล้วกับไม้เพียงสิบคิว แต่ครูผันไม่ยอมและคิดว่าเรื่องนี้ต้องไม่ชอบมาพากล ทำให้คำผาผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทสัมปทานไม่พอใจอย่างมาก คำผาได้ยื่นข้อเสนอนี้อีกครั้งในเวลาต่อมา แต่ครูผันและชาวบ้านไม่ยอมหลงกลยอมรับข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมนี้อันเพิ่มความโกรธแค้นให้แก่คำผามากยิ่งขึ้น


"วะ! พวกเอ็งนี่ ไม่เข้าใจคำพูดของข้าเลย พูดถึงเรื่องไม้แล้วใครจะรู้เกินข้า ข้าอยากจะช่วยพวกเอ็ง อยากให้ได้ไม้ไปปลูกโรงเรียน ถึงจะน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ข้ามีความสามารถเอาตราออกมาประทับไม้ขึ้นทะเบียนให้พวกเอ็ง มันก็ดีเท่าไหร่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเอ็งทำอยู่นี่ รู้บ้างหรือเปล่าว่ามันอันตายแค่ไหน? เข้าคุกได้นะ" (หน้า 86)


คำผาที่โกรธแค้น ได้วิ่งเต้นให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับครูผันจนครูผันถูกจับ โชคดีที่เขาได้รับความช่วยเหลือจากมณีสวรรค์ซึ่งเป็นคนรักของเขา และได้พบความจริงว่าเจ้าของบริษัทที่ได้รับสัมปทานไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลยทั้งหมดเป็นฝีมือของคำผาซึ่งที่จริงก็ออกจากบริษัทนี้ไปแล้ว ครูผันเป็นอิสระและในที่สุดก็สามารถนำไม้ห้าสิบคิวนี้ไปสร้างโรงเรียนสมตามความต้องการ


ความรักของหนุ่มสาว


ความรักระหว่างครูผันกับมณีสวรรค์นั้นอาศัยความบังเอิญอยู่มาก นับตั้งแต่ที่มณีสวรรค์มาสำรวจหมู่บ้านหาดโพที่ทำให้ทั้งคู่เจอกันด้วยความบังเอิญ หรือแม้นเมื่อครูผันเดินทางเข้าไปในเวียงจันทน์ก็ได้พบกับมณีสวรรค์โดยอาศัยความบังเอิญด้วย แต่ความบังเอิญเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ซึ่งเราอาจคิดในอีกแง่หนึ่งได้ว่าความรักของคนทั้งคู่นั้นเป็นเรื่องของโชคชะตาลิขิตก็ได้


ตามความเห็นของผัน มณีสวรรค์เป็นผู้หญิงที่ไม่มีความมั่นคงแน่นอนในจิตใจ ผันตั้งคำถามต่อตัวเองว่าเวลาสามปีที่คบกันนั้นจะมีคุณค่ามากพอที่จะผูกหัวใจของเธอได้เลยหรือ


"พวกเขารักกันมาสามปี สัญญากันว่าเมื่อจบวิทยาลัยครูระกับกลางแล้ว จะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงจะแต่งงานกัน คำมั่นสัญญาของผู้หญิง" (หน้า 22)


เมื่อมาอยู่ที่บ้านหาดโพ ครูผันเกือบจะลืมมณีสวรรค์ได้ แต่แล้วด้วยชะตาลิขิตหรืออาจด้วยความบังเอิญ คนทั้งสองได้หวนกลับมาเจอกัน และร่วมกันถักทอเรื่องราวที่ร้อยรัดยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือการเทียบเคียงมณีสวรรค์กับป่า ครูผันชื่นชมความงามของป่าพร้อม ๆ กับที่ชื่นชมความงามของมณีสวรรค์ ป่ากับมณีสวรรค์นั้นลึกลับ แต่น่าหวงแหน พอกัน


"ผันมองภาพข้างหน้าด้วยความชื่นใจ มันเป็นความงามบริสุทธิ์ของผู้หญิงคนหนึ่งท่ามกลางความเงียบสงบของธรรมชาติและสายน้ำ" (หน้า 101)


นอกจากประเด็นทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องของประเพณี พิธีกรรม วิถีชีวิตของคนชนบทแห่งประเทศลาวที่แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง จึงสามารถกล่าวได้ว่าอาถรรพ์แห่งพงไพรเป็นวรรณกรรมที่สร้างสรรค์แม้ว่าการเล่าเรื่องจะเรียบง่ายและดูธรรมดามากก็ตาม.