Skip to main content

ลดภาษี น่าจะดีกับคนไทย

คอลัมน์/ชุมชน





































เห็นข่าวรัฐบาลเอาใจชาวบ้านถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นช่วงหาเสียงเพื่อเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลย่อมมีโอกาสดีกว่าพรรคฝ่ายค้านหรือคนที่ไม่ได้อยู่พรรครัฐบาล เพราะสามารถใช้งบประมาณแผ่นดินที่ได้มาจากภาษีนั่นแหละมาซื้อใจชาวบ้าน นี่เป็นการดำเนินการตรง ๆ เห็น ๆ กันอยู่ แต่ที่ดำเนินการในทางลับ การหาเงินเตรียมเลือกตั้งของแต่ละคนจะได้เงินมาจากไหนบ้าง ได้มาแบบซื่อสัตย์หรือไม่ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ ทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพรรคอื่น ๆ

 

ข่าวการลดภาษีรายได้ของคนมีเงินเดือน ทำให้คนที่มีเงินเดือนประจำที่น้อยกว่าเดือนละ 16,000 บาทไม่ต้องเสียภาษีรายได้ประจำปีอีกต่อไป โดยคนของกรมสรรพากรออกมาให้ข่าวว่าจะทำให้รัฐมีรายได้ลดลงประมาณพันล้านบาทกว่า ๆ เท่านั้นเอง ขนหน้าแข้งไม่ร่วงเพราะมีเงินคงคลังเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

 

ดูง่าย ๆ แค่นี้ก็น่าตื่นเต้นว่า รัฐบาลเห็นใจคนมีรายได้ต่ำ สำหรับคนมีงานทำประจำ ไม่เกี่ยวกับกรรมกร แรงงานรับจ้าง ที่พูดกันเรื่องขอให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงทีละบาทสองบาทต่อวันในแต่ละปีเมื่อถึงวันกรรมกรสากล (1 พฤษภาคม ของทุกปี) กว่าจะได้มาแต่ละบาท เรียกร้องแล้วเรียกร้องอีก แถมไม่พอบางคนยังได้เป็นค่าแรงรายวันจริง ๆ คือวันที่มีงานทำก็มีค่าจ้าง วันที่ไม่มีงานทำก็ไม่ได้

 

ค่าแรงขั้นต่ำใน กทม.และปริมณฑลปี 2547 นี้ได้วันละ 170 บาท ต่างจังหวัดก็ลดหลั่นกันลงไป ดูไปที่ภูเก็ตวันละ 168 เชียงใหม่ โคราช และพังงา วันละ 145 บาท เห็นตัวเลขแล้วหนาว แสดงว่าลูกจ้างที่ทำงานตามร้าน ตามโรงงาน ตามโรงแรม ในพื้นที่ท่องเที่ยวได้ค่าแรงกัน 5 – 6 พันบาทต่อเดือน นับว่าน้อยมากที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดี มิน่า มาม่า ยำยำ จึงเป็นสินค้าที่ขายดีไม่มีวันตก เพราะคนประหยัดกิน เพื่อให้มีเงินพอค่าเช่าหอ ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องประดับ และหากอยากหาความบันเทิงไปเที่ยวคาราโอเกะ ก็ต้องแสวงหารายได้พิเศษ หรือหาคนเลี้ยงออกค่าใช้จ่ายให้ จะแลกกันด้วยอะไรก็สุดแล้วแต่

 

สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ลองคิดดู ไปลดภาษีให้คนมีเงินเดือนเป็นหมื่น ขณะเดียวกันก็กดค่าแรงคนงานรับจ้าง แถมบอกว่ารายได้สูญไปแค่พันล้านบาท หากเอาพันล้านบาทมาจ่ายเพิ่มในเรื่องสวัสดิการทางสังคมอื่น ๆ เช่น เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวในประกันสุขภาพได้คนละหลายบาทต่อหัว หรือนำมาสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเมืองให้ลูกจ้างที่ทำงานหนักรายได้ต่ำได้มีที่พักผ่อนสบายใจ มีดนตรีให้ฟัง มีกีฬาให้เล่น ใครอยากโชว์ความสามารถอะไรก็มาเปิดแสดงได้ในพื้นที่สาธารณะ เป็นการสร้างสุขภาวะให้ชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ดีกว่าหรือ คนมีเงินเดือนมากกว่าหมื่นห้า หากจ่ายภาษีก็จะจ่ายไม่เกินเดือนละ 4-5 ร้อยบาทต่อเดือน

 

ลดภาษีคนมีรายได้ประจำ เพื่ออะไร เพื่อให้คนเหล่านี้มีเงินเหลือไปผ่อนรถ ผ่อนบ้านใช่หรือไม่ ก็เป็นการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต แต่คนงานรับจ้างเป็นล้าน ๆ คนที่มีรายได้ต่ำก็ยิ่งต้องการความมั่นคงนี้ และต้องการได้รับสวัสดิการอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยในฐานะผู้เป็นแรงงาน ฐานรากที่สำคัญของความเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ไม่ใช่ได้แบบสงเคราะห์เอื้ออาทร

 

รัฐบาลควรมีวิสัยทัศน์ในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนให้กว้าง ลึก และรอบด้านมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับคนที่ทุกข์ยาก หากได้รับการดูแล มีสวัสดิการที่ดี ค่าเล่าเรียนฟรีและอื่น ๆ ในการเรียนฟรีจริง ใช้บัตรหลักประกันสุขภาพได้ เมื่อเจ็บป่วยไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 30 บาทก็พอ มีพื้นที่สาธารณะในเมืองมากขึ้น (อันนี้ต้องกล้าทุ่มเงินไปซื้อที่ดิน หรือเอาที่ดินของหลวงคืนมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมให้มากขึ้น) ย่อมทำให้คนเหล่านี้มีสุขภาพดีทั้งกาย ใจ สังคม มีเวลาได้พักผ่อน ได้ทบทวนไตร่ตรองความคิดความเชื่อ ไม่ใช่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะต้องการเงินเพิ่มด้วยการทำงานนอกเวลา (โอเวอร์ไทม์)

 

หากสุขภาพคนดี สังคมก็สุขภาพดีไปด้วยได้ และไม่แน่ว่าการลดภาษีนี้ก็ไม่อาจช่วยให้คนมีเงินเดือนเหล่านี้ไปเลือกตั้งก็ได้ เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอกค่ะ เพราะไม่มีใครเห็นใจใคร รัฐบาลไม่ทำเป็นตัวอย่างในเรื่องความเท่าเทียม แล้วใครจะตระหนัก ต่างคนต่างเอาตัวรอดกันดีกว่า รวมถึงรัฐต้องออกมาดำเนินการจัดเก็บภาษีอื่น ๆ ให้สมน้ำสมเนื้อด้วย เช่น ภาษีการค้า ธุรกิจต่าง ๆ ทำอย่างไรจะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการหลีกเลี่ยง หรือการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินขนาดใหญ่ของบางคนที่มีที่ดินคนละเป็นพันเป็นหมื่นไร่ อย่างนี้ต้องเก็บให้สูงเข้าไว้ แสดงว่ามีรายได้เยอะสามารถซื้อที่ดินเก็บไว้ได้มาก หรือทำธุรกิจอะไรจะรวยจนมีมรดกกันเป็นหมื่น ๆ ล้าน อย่างนี้ต้องเก็บภาษีทบสองเท่า เอามาเฉลี่ยให้คนที่ถูกกดค่าแรง และคนไม่มีรายได้ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีใครรวยเกินไป ไม่มีใครจนเกินไป

 

การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงต้นปี 48 นี้พรรคไหนจะเสนอนโยบายความเท่าเทียมกันบ้าง ยกมือขึ้น