Skip to main content

จดหมายจากนาอ่อน (2)

คอลัมน์/ชุมชน

เช้าวันหนึ่งที่บ้านอาหมี่
คุณหญิงเพื่อนรัก

ฉันตื่นขึ้นมายามเช้า เพราะเสียงไก่ขันอยู่ใกล้ ๆ เท้า ทุกบ้านทำสิ่งเดียวกันคือหุงข้าว ทำแกง ควันไฟลอยอยู่เหนือหลังคาบ้านเกือบทุกหลัง ผักหญ้าที่เก็บมาเมื่อเย็นวานถูกนำมาสับเป็นอาหารหมู



ผักหญ้าอาหารเช้า


เมื่อคืนนี้ฉันนอนฝันไม่ดีอาจจะเป็นเพราะว่ามีเรื่องค้างคาอยู่ในใจ คำถามหนึ่งที่ติดอยู่ในใจคือการถูกอพยพของคนที่นี่

หลานสาวถามด้วยความซื่อว่า น้าคิดว่าพวกเขาควรจะถูกย้ายไหม

ถ้าคิดด้วยเหตุผลของผู้ที่ต้องการให้ย้ายคนออกจากพื้นที่ก็คือ ชาวเขากลุ่มนี้อยู่ในเขตป่าต้นน้ำ และสองอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานีส่วนหนึ่ง และสามอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยเชียงดาว

คุณหญิงงงไหม ทำไม คนแค่ 13 ครอบครัว 52 คน จึงอยู่ในพื้นที่ตั้งสองหน่วยงาน เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะคุณหญิง เขาเล่าว่า เดิมที่เป็นพื้นที่อุทยานทั้งหมดต่อมาสถานีฯ มาตั้ง อุทยานจึงกันพื้นที่ให้สถานีฯ ส่วนหนึ่ง ลืมบอกคุณหญิงไปว่า สถานีฯ ที่เรียกสั้นๆ คือสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม และมีนโยบายการจัดการระเบียบชุมชนของของสถานีฯ

อีกเหตุผลที่กล่าวอ้างก็คือ มีการตัดไม้การบุกเบิกพื้นที่ทำกิน คือเขากลัวว่าต่อไปชุมชนใหญ่ขึ้นการบุกเบิกพื้นที่จะเพิ่มขึ้น



แนวป่า


เอาล่ะ คุณหญิงจะอยากรู้หรือไม่ก็ตามแต่ฉันอยากเล่า

เรื่องมันเป็นอย่างนี้นะคุณหญิง พวกเขาเล่าว่า เขามาอยู่ก่อนที่สถานีฯ จะเข้ามา ฉันคิดว่าเรื่องเข้ามาก่อนมาหลังนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า จำเป็นต้องย้ายพวกเขาออกไป เพื่อการจัดระเบียบชุมชนและเมื่อจัดระเบียบแล้วชาวเขาจะไม่ทำลายป่าอีกแล้ว หรือกลับมามองที่ว่า ป่าที่เขาอยู่แล้วให้เขาอยู่ต่อไปในพื้นที่แค่นั้นโดยกำหนดเขตให้เป็นทำกินแค่ไหน เป็นป่าอนุรักษ์แค่ไหน และพื้นที่ป่าใช้สอยเก็บพืชผักในป่ากินได้แค่ไหน น่าจะดีกว่าไหม เพราะเมืองไทยคนอยู่กับป่ามานานแล้ว เราคิดเล่น ๆ ว่า คนที่ไม่อยากอยู่กับป่าในเมืองไทยเข้าไปอัดกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆ และในเมืองหลวงมีมากมายอยู่แล้ว

จริงๆ นะคุณหญิง มีหมู่บ้านตัวอย่างในการย้ายคนออกจากพื้นที่เดิม มีตัวอย่างที่บ้านลีซูหัวน้ำที่แม่อาย ชาวเขาถูกย้ายลงมาโดยจัดสรรบ้านให้คนละหย่อม ๆ พวกเขาไม่มีที่ทำกิน ไม่มีข้าว ไม่มีผัก ไปเป็นแรงงานรับจ้าง ผู้หญิงเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำงานตามร้านอาหาร ร้านเสริมสวย คาราโอเกะ ในวันที่ฉันเดินทางไปเที่ยวหมู่บ้านของเขา หญิงสาวคนหนึ่งเดินทางกลับมากับผู้ชายชาวญี่ปุ่น

ส่วนพ่อลงมาเป็นกรรมกรแบกหาม เก็บขยะ เด็กๆ ก็ลงมาขายแรงงาน และขอทาน บางคนเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วปัญหาต่างๆ ก็ตามอีกมากมาย

คุณหญิงพอจะตอบคำถาม เพื่อนของคุณหญิงได้หรือยังว่า ชาวเขาถูกย้ายถิ่นออกมาจากป่าแล้วมันเกี่ยวกับเราอย่างไร

ปีต่อมาชาวบ้านร้องเรียนขอที่ทำกิน กลับไปที่เดิมไม่ได้เพราะมีโครงการฯมาลงในพื้นที่แล้ว แต่ขอให้ได้ที่ทำกินใหม่ ต้องการแค่พื้นที่ปลูกข้าว ปลูกผัก ฉันไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไร

การผลักภาระคนออกชุมชนเดิม เป็นการผลักภาระสังคมอย่างหนึ่ง นี่เรายังไม่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของเขานะ พูดแต่สิทธิ์ของเราอย่างเดียว

อีกอย่างหนึ่งนะคุณหญิง เขาบอกฉันว่า การย้ายชนเผ่าออกจากพื้นที่เป็นอคติ คิดและเห็นว่า ชาวเขาเท่านั้นที่ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่า มีปัญหายาเสพติด

เขาเล่าว่า ยามเย็นวันหนึ่งในฤดูหนาว มีเจ้าหน้าที่ของรัฐประมาณยี่สิบคน เข้ามาในหมู่บ้าน และให้เตรียมตัวอพยพออกจากบ้านนาอ่อนภายในสองเดือน หากไม่ย้ายไปจะทำการรื้อถอนและจะจับดำนินคดีบุกรุกป่า

เมื่อถามว่าพวกเขาทำอย่างไรเขาบอกว่า "กลัว" "กลัวมาก ๆ" ตอนนี้ยังไม่ถูกย้ายเพราะว่า พวกเขาวิ่งหาหน่วยงานต่าง ๆ ที่พอจะช่วยเหลือได้ เขาเล่าว่ามี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษย์ชนด้านชนเผ่า แต่สถานการณ์ก็ไม่แน่นอนอะไร มีการคุยกันว่าให้หาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมให้ซึ่งยังหาไม่ได้ ย้ายไปพื้นที่ใหม่ก็ต้องมีที่ทำกินด้วย ไม่ใช่เพื่อไปเป็นลูกจ้างของสถานีฯเท่านั้น เพราะเมื่อสถานีฯมาตั้ง ชาวเขาก็ได้ไปเป็นลูกจ้าง ปลูกผักปลูกต้นไม้ ขุดดินเหมือนกับที่เขาทำนั่นแหละ แต่มันไม่ค่อยจะพอกินเพราะว่า ไม่ได้ปลูกข้าวกินเอง ไม่ได้ปลูกผัก ต้องเอาเงินรายได้รายวันไปซื้อกินทุกอย่าง

เขาว่าอย่างนั้นนะเธอ มันมีตัวอย่างให้เห็นจากหมู่บ้านที่สถานีฯ เข้าไปตั้ง ชาวเขาจะเปลี่ยนสภาพเป็นลูกจ้างเกือบทั้งหมดเพราะแรงงานต้องใช้เพื่อสถานีฯ ผักที่ปลูกก็จะเป็นผักเมืองหนาวเพื่อส่งขายในเมือง หมูที่เลี้ยงก็ไม่ใช่หมูที่เขากินหรือใช้ทำพิธีกรรม

ผู้ชายคนหนึ่งบอกกับเราว่า เขาเคยไปที่อำเภอมาแล้ว ทางนั้นเขาพูดว่า อย่างไรก็ต้องย้าย ถ้าไม่ย้ายเขาจะไม่ดูแลช่วยเหลืออะไรเลย เจ็บป่วยก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ถ้าย้ายตามที่มีคำสั่งแต่โดยดีมีอะไรช่วยได้ก็จะช่วย

ผู้ชายคนนั้นพูดจบ หนุ่มเมาที่มาด้วยก็โพล่งออกมาว่า ใครมีสิทธิ์ทำอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ ไปฟ้องศาลปกครองเลย

พวกเราหัวเราะพร้อม ๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย มองไปที่นายเมา โธ่คุณหญิง ศาลปกครองไหนเล่า มันเป็นเรื่องไกลเกินฝัน แล้วจะไม่ให้เขากลัว ไม่ให้เกรงคนในอำเภอได้อย่างไร คนเราก็ต้องเกรงอกเกรงใจกันนะถูกแล้ว เน้อ คุณหญิงเนอะ แต่ว่ามันต้องมีเหตุผลมาอธิบาย มีความเข้าใจ เห็นใจกัน ถ้าความเข้าใจเห็นใจเดินทางมาถึงทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น หรือว่าจากเรื่องร้ายก็จะกลายเป็นดีได้ ฉันยังมองโลกในแง่ดีว่าไม่มีใครอยากทำร้ายใครหรอก หากว่าเขารู้ความจริง รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร



ของเล่นเกทำเองได้แบบพอเพียง


ชายหนึ่งอุ้มลูกเข้ามาและบอกว่า ไม่อยากย้าย แต่ถ้าต้องย้ายจริง ๆ ขอว่าขอที่ดินทำกินเก่า คือว่าย้ายบ้านแต่ว่ากลับขึ้นมาปลูกข้าว ปลูกผักที่นี่เหมือนเดิม มันไกลก็สร้างกระท่อมเล็ก ๆ พอนอนได้ ในไร่

โธ่ ใครเขาจะยอมนะคุณหญิง ก็เขาอยากจะจัดระเบียบชุมชนใหม่ อยากจะเอาที่ดินทั้งผืนเพื่อใช้กิจกรรมอื่น ไม่ใช่พื้นที่สร้างบ้านหย่อมเดียว

ยามเช้าในขณะที่ฉันนั่งดูหย่อมบ้านเล็ก ๆ หลานสาววัยเยาว์ของฉัน เธอไม่คุยเรื่องการถูกย้ายถิ่นแล้ว เธอหันไปเล่นกับเด็ก ๆ มีเด็ก ๆ หลายคนเล่นกันอยู่ที่ลานดิน เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือตามชั้นบังคับ พ่อแม่ของพวกเขาบางคนมีบัตรประจำตัวประชาชน บางคนก็มีบัตรเขียว

เด็กตัวเล็กถูกแม่ทำโทษที่เล่นมีด แม่กลัวว่าลูกจะได้รับอันตราย แม่ลูกที่ไหนก็เหมือนกันนะคุณหญิง เด็กสองคนนั่งอยู่ตรงระเบียง เขานั่งมองอะไรกันสักอย่าง พวกเขาคงจะรอแม่ที่ตำน้ำพริกทำกับข้าวกินข้าวด้วยกันก่อนที่จะไปไร่ เด็ก ๆ สนุกสนานกับการกินการเล่นและการได้อยู่กับพ่อแม่เท่านั้น เด็ก ๆ ที่ไหนก็เหมือนกัน



รอคอย


ฉันเก็บภาพนี้มาฝากคุณหญิง ภาพเด็กสองคนนั่งมองไกล ที่มองแล้วทำให้คิดฝันได้ไกล และเป็นคำถามถึงวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ของเด็ก ๆ ในโลกนี้

คุณหญิงคงสงสัยว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านสร้างบ้านหย่อมหนึ่งกับที่ทำกินนั้นเท่าไหร่ ฉันก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่า 283 ไร่ น้องที่ไปด้วยพูดว่า ไม่น้อยทีเดียว มันมากทีเดียวแหละสำหรับเรา แต่เมื่อรู้ถึงจำนวนที่เป็นของสถานีฯก็จะรู้ว่าที่ชาวบ้านทำกินนั้นนิดเดียวเพราะพื้นที่สถานีฯใช้ถึง 19,000 ไร่

ฉันคิดว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐน่าจะอยู่กับชาวบ้านที่เขาอยู่ก่อนแล้วได้โดยไม่จำเป็นต้องย้ายพวกเขาออกจากพื้นที่ เรื่องราวเก่าก่อนที่เป็นตำนานชาวเขาทำลายป่าก็น่าจะจบลง เปลี่ยนแนวคิดใหม่เป็นผู้ดูแลป่า ไม่ว่าชาวเขาหรือใครก็ตามที่อยู่กับป่า เขาได้รับเกียรติเป็นผู้ดูแลป่า ฉันว่าศักดิ์ศรีในความรักที่มีต่อบ้านเมืองจะต่างกัน

การทำร้ายทำลายมันจะช่วยได้อย่างไรกันเล่า การทำให้เกิดความกลัวจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

แล้วเราจะเรียกร้องให้เขาดูแลป่ารักป่าได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ให้สิทธิแกเขาในการรักและดูแล และฉันคิดไม่ว่าหน่วยงานของรัฐจะใช้กำลังใช้อำนาจในการจัดการอพยพโยกย้ายอย่างไรก็ตาม ปัญหาก็จะไม่หมดไป เพราะมีคนมากมายอยู่ในป่า เพราะประเทศเราคนอยู่กับป่ามานานแล้ว

ดังนั้นหน่วยงานของรัฐรวมทั้งเราด้วยสนับสนุนให้เขาดูแลป่าเพื่อเรากันดีกว่า

ฉันคิดเช่นนี้นะคุณหญิง คิดแบบคนธรรมดา ๆ ที่เข้าไปรู้ไปเห็น คุณหญิงคิดอย่างไรล่ะคะ เมื่อได้อ่านจดหมายสองฉบับของฉันจบลง

ด้วยความรักที่มีต่อกัน
แพร จารุ
มิถุนายน 2550

เรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองเช่นนี้ถ้าคุณสนใจ ไปร่วมงานได้ที่งานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง ได้ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 5-11 กันยายน 2550 ชมการแสดง บทเพลง ดนตรี ของแต่เผ่าต่าง ๆ ในเมืองไทย ยี่สิบชนเผ่า ทั้งภาคเหนือ กระเหรี่ยง ลาหู่ ปะหล่อง คะฉิน อะข่า ฯลฯ และภาคใต้ อูรักละโว้ย มอแกน มอแกลน ภาคตะวันออกเผ่าชอง ภาคกลาง ไทยทรงดำ ฯลฯ