Skip to main content

รางวัลและข้อพิพาท

คอลัมน์/ชุมชน

รางวัลและข้อพิพาทเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร รางวัลที่ใหญ่และมีคนเกี่ยวข้องมาก ข้อพิพาทก็จะใหญ่และมีคนสนใจมากด้วยเช่นกัน ลองหันไปดูรางวัลต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่จัดประกวดกันก็จะเห็นว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นแทบทุกรางวัล เพียงแต่จะเป็นข่าวต่างกันมากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง ที่ไม่เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ก็กลายเป็นข่าวในวงเหล้าหรือเป็นการนินทาในวงสมาคม คนที่เคยส่งประกวดบ่อย ๆ จะรู้ซึ้งดี

สำหรับรางวัลซีไรท์นั้นมีข้อพิพาทมายาวนานและเป็นประจำเกือบทุกปี การ "กล่าวหา" กรรมการที่ตัดสินออกมาได้ไม่ตรงใจนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ มีมูลความจริงบ้าง ไม่มีมูลความจริงบ้าง ต่อให้กรรมการตัดสินได้เที่ยงธรรมขนาดไหนก็จะมีบุคคลประเภท "กล่าวหาเรื่อง" ไว้ก่อน หยิบตรงนั้น ตรงนี้มา "นินทา" ได้เป็นเรื่องเป็นราว


สำหรับในปี้นี้ซึ่งเป็นรอบของกวีนิพนธ์นั้น ข้อพิพาทดูจะชัดเจนและมีน้ำหนัก เป็นเรื่องเป็นราวอย่างมาก โดยเฉพาะการเขียนแถลงการณ์ตรวจสอบกรรมการซีไรต์รอบคัดเลือก พ..2550 ซึ่งเขียนได้ดีอย่างน่าชมเชยในแง่ของการหาข้อมูลมาสนับสนุนประเด็นที่ตั้งไว้ ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับการแสดงความไม่เห็นด้วยให้เลยพ้นไปจากการนินทาทั่วไป หรือพูดเอามันในวงเหล้าหรือซุบซิบด่าทอกันในสื่อ


โดยสาระของแถลงการณ์แล้วคือการแสดงความ "ไม่ไว้ใจ" ต่อคณะกรรมการในรอบคัดเลือกซึ่งตามแถลงการณ์ระบุว่ามีทั้งกรรมการประเภทผูกขาด กรรมการประเภทชั้นไม่ถึง เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ


แถลงการณ์ระบุถึง 4 ประเด็นที่จะต้องมีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์กันคือ กรรมการรอบคัดเลือกมีผลประโยชน์ทับซ้อน เล่นพรรคเล่นพวก กรรมการมีอคติไม่เข้าใจกวีนิพนธ์ และกรรมการผูกขาดอำนาจ


ในฐานะผู้เฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ ขอร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้


"กรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดระเบียบของรางวัล"


ในความเป็นจริง ผมไม่ทราบว่ากรรมการรอบคัดเลือกจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงหรือไม่ แต่อ่านจากแถลงการณ์แล้วเห็นว่าข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนยังไม่มีน้ำหนักพอ ทั้งนี้เพราะเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นองค์กรที่ดำเนินการทางธุรกิจ "การเป็นรองประธานฝ่ายวิชาการ" ของคณะกรรมการท่านหนึ่ง ในองค์กรเล็ก ๆ ที่อยู่ได้โดยการ "วิ่งหาทุน" ไม่น่าจะทำประโยชน์อะไรให้มากนัก ดังนั้นผมเห็นว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสมและการพิจารณาตัวเองของกรรมการมากกว่า


การ "เล่นพรรค เล่นพวก"


นี่ประเด็นที่พูดยาก อย่างไรก็ตามแถลงการณ์พยายามให้ข้อมูล และเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการรอบคัดเลือก กับกวีที่ส่งผลงานเข้าประกวด จนน่าเชื่อได้ว่ากรรมการรอบคัดเลือกกับกวีที่ส่งงานเข้าประกวดนั้นสนิทสนมกันจริง แต่ประเด็นก็คือความสนิทสนมกันนำไปสู่ความลำเอียงได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการรอบคัดเลือก "รู้อยู่แก่ใจ" และผมก็ไม่ขอออกความเห็นมากกว่านี้


"กรรมการมีอคติ ไม่เข้าใจกวีนิพนธ์"


สำหรับข้อนี้ ผมเห็นด้วยกับทัศนะที่ปรากฏในแถลงการณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของรสนิยม (อันหมายความว่าของใครของมัน) ผมเห็นว่าการคัดเลือกรวมเล่มบทกวีระดับประเทศมาสักเล่มนั้น อันดับแรกคือต้องดูที่ฉันทลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทักษะและการฝึกฝน หากกวีไม่แสดงให้เห็นตรงจุดนี้เป็นเบื้องแรก ก็จำเป็นต้องให้ตกรอบโดยไม่ลังเล


อันดับต่อมาคือการเล่นกับฉันทลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพลิกแพลง บิดผัน ให้เกิดความยืดหยุ่น ดังเช่นที่อังคาร กัลยาณพงศ์ ทำไว้ อันดับสามคือการสอดใส่เนื้อหาคุณค่าที่ร่วมสมัย ตรงนี้อาจใช้ถ้อยคำง่าย ๆ หรือภาษาปาก หรือภาษาที่เป็นที่นิยมกันก็ได้ ดังเช่นในงานหลายชิ้นของศักดิ์ศิริ มีสมสืบ


"กรรมการผูกขาดอำนาจ"


กรรมการผูกขาดอำนาจนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป ปีแล้วปีเล่าที่ได้เห็นกรรมการคนเดิมนั่งพิพากษาวรรณกรรมว่าเล่มไหนควร ไม่ควรเข้ารอบ แต่ประเด็นที่ต้องอภิปรายกันในวงกว้างก็คือ กรรมการผูกขาดอำนาจมีผลต่อทิศทางวรรณกรรมมากน้อยเพียงใด? แน่นอนหากกรรมการท่านนั้นขาดคุณวุฒิก็ย่อมไม่สมควรที่จะผูกขาดอำนาจยาวนาน เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่วงการ แต่หากกรรมการที่ทรงคุณวุฒิได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วอาจจะเป็นผลดีต่อการตัดสินรางวัลก็ได้?


นอกจากแถลงการณ์นี้แล้ว ผู้คนในแวดวงวรรณกรรมก็ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก บางท่านถึงขนาดให้ยกเลิกรางวัลนี้เสีย ซึ่งน่าสนใจดีแต่คงทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ


ทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมเห็นด้วยที่คนในแวดวงวรรณกรรมจะรวมตัวกันออกมาตรวจสอบ และตั้งคำถามกับรางวัลที่ใหญ่โตที่สุดและมีปัญหามากที่สุดอย่างรางวัลซีไรท์ ผมอยากจะมองในแง่ดีว่าการตั้งคำถามกับวิจารณญาณของคณะกรรมการในรอบคัดเลือก การตรวจสอบในเรื่องประเด็นของความเหมาะสม และความขัดแย้งระหว่างนักเขียนกับกรรมการรอบคัดเลือกหรือนักเขียนกับนักเขียนด้วยกันจะนำไปสู่การพัฒนาวงการวรรณกรรมให้กระเตื้องขึ้น


คงต้องรอดูกันต่อไปว่ากระแสความขัดแย้งนี้และสนใจว่ามันจะไปลงเอยที่จุดไหน อย่างไร ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการแก้ไขและทบทวนความผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน หรือว่าปล่อยให้เงียบหายไปตามวันเวลา สำหรับข้อเสนอทิ้งท้ายของผมนั้นก็คือ ให้ยกเลิกวิธีการสรรหาคณะกรรมการรอบคัดเลือกแบบเดิมและคิดหาวิธีการสรรหากรรมการรอบคัดเลือกกันใหม่ เพื่อจะได้มีคนใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่.