Skip to main content

เมื่อหัวใจเราใหญ่พอ

คอลัมน์/ชุมชน

 

โบราณ หรือแม้กระทั่งยุคสมัยของเรา มักกล่าวคำนิยมยกย่องคนที่เก่งกล้าสามารถ ว่าอันที่จริงแล้วมันมีหลายถ้อยคำที่นิยามบุคลิกลักษณะอันพิเศษ หรือให้ดูพิเศษจากธรรมดาทั่วไป มีคำหลายคำที่ล้าสมัย (หรือเปล่า) แต่มีคำบางคำที่ถูกนิยามขึ้นใหม่หรือถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่คำหนึ่งที่อยู่ยงคงทน นั่นก็คือคำว่า "ใจใหญ่" ที่จริงมันไม่ได้ถูกกล่าวออกมาเพื่อยกย่องคนเก่งเท่านั้น แต่หากรวมไปถึงคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุคลิกผู้นำ หรืออะไรก็ว่ากันไป

หากจะขยายความหรือแปลตามคำ "ใจใหญ่" มันคงจะหมายถึงหัวใจขนาดใหญ่ ความหมายของมันตามการเปรียบเปรย อุปมาอุปมัย น่าจะหมายถึง จิตใจในแง่นามธรรมนั่นเอง ซึ่งมันก็คือความหมายในด้านดี


คำตรงข้ามกับ "ใจใหญ่" ตามคำ น่าจะเป็น "ใจเล็ก" หรือ "ใจน้อย" แน่นอนว่าตามความก็คือ หัวใจที่มีขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งก็คงอุปมาถึงคนที่มีภาวะวิสัยตรงข้ามกับคนใจใหญ่ ว่าก็อาจจะเป็นพวกคับแคบ ตระหนี่ถี่เหนียว หวาดหวั่นอยู่เสมอ เห็นแก่ตัว เจ้าคิดเจ้าแค้น โกรธง่าย มันจึงมีคำลักษณะเดียวกันนี้อยู่อีกหลายคำ เช่น "ใจแคบ" หรือ "ใจปลาซิว" ทั้งหมดก็แปลความได้ตรงกันว่า หัวใจที่มีขนาดเล็กนั่นเอง


หลายครั้งในชีวิต ในเรื่องราว ในความสัมพันธ์ของผู้คน ความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย หลายครั้งมักนำไปสู่ความบาดหมางที่สะสมถึงขึ้นรุนแรง บางครั้งอาจแรงถึงขั้นไม่สามารถกลับมาสมานผสานไมตรีได้อีก ทั้งหลายนั้นก็อาจจะมาจากสาเหตุเพียงน้อยนิด มาจากความไม่เข้าใจ หรือมาจากความน้อยเนื้อต่ำใจเล็กน้อยเท่านั้น หรือจะว่าไปมันมาจากความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความสำคัญ หรือถูกลิดรอนอัตตา หรือความรู้สึกทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นการคิดเอาเอง หลอกตัวเอง ซึ่งมันเกิดขึ้นก็เพราะหัวใจที่มีขนาดเล็กเกินไป และในสภาพสภาวะนั้นมันยากเย็นเหลือเกินที่จะให้อภัยได้


หัวใจที่น้อย ทำให้น้ำหนักเบา ใจที่เบามันย่อมคลอนแคลน แส่ส่ายไปมาได้บ่อย ในทางตรงกันข้าม ใจที่ใหญ่ก็คงหนักแน่น มันจึงตั้งมั่นได้มั่นคงกว่า ได้ยินเรื่องราวหนึ่งว่า เจ้าสัวคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เขาจะให้อภัยลูกน้องของเขาที่ทำผิดได้เพียงสามครั้งเท่านั้น คนทำผิดครั้งแรก อาจเผลอ ก็ให้อภัยได้ หากมีผิดครั้งที่สองก็อาจเพราะลืมจริงๆ ขาดสติ ขาดความรอบคอบ ก็ยังให้อภัยได้ หากทำผิดครั้งที่สาม ก็ยังอาจเป็นความไม่รู้เท่าทัน แต่ถ้าหากผิดครั้งต่อไป นั่นอาจเพราะเจตนา หรือไม่ใส่ใจต่อการงานนั้นๆ นั่นจึงให้อภัยไม่ได้อีกต่อไป ฟังดูก็เหมือนเจ้าสัวจะใจใหญ่พอสมควร แต่ผู้เฒ่าคนหนึ่งจากชนบท มีคนถามท่านว่า เราควรจะให้อภัยคนได้สักกี่ครั้ง คำตอบก็คือ "ไม่มีที่สิ้นสุด"


หากหัวใจเราเล็กเกินไป แน่นอนอยู่ว่าชีวิตเราคงทุกข์มากกว่าสุข เช่นนั้นแล้วการแสวงหาวิถีชีวิตที่ดีงาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งกระมังที่ต้องบริหารหัวใจของเรา ขยายขนาดหัวใจของเรา จนเมื่อหัวใจใหญ่พอ เราย่อมมองเห็นและเป็นสุขกับความสุขความสำเร็จของผู้อื่น ยินดีอย่างจริงใจต่อผู้อื่น พร้อมกับการให้อภัยคนผู้ล้มเหลวผิดพลาด และเอื้อเฟื้อเขาเหล่านั้น เพราะหากหัวใจของเรายังไม่ใหญ่พอ เราก็ยังอิจฉาเคืองแค้นอยู่เนืองนิตย์นั่นเอง