Skip to main content

ทรัพย์ในดิน

คอลัมน์/ชุมชน

 


ผมหายไปเสียหลายสัปดาห์ ก็ไม่ได้ไปไหนไกลหรอกครับ ยังคงวนเวียนอยู่ในวงเวียนของชีวิตและการงานเช่นเคย เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา ผมไปทำงานเก็บข้อมูล เลยต้องทิ้งช่วงการเขียนคอลัมน์ไประยะหนึ่ง พื้นที่ที่ไปก็อยู่ในเชียงใหม่นี่ละครับ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรและวัฒนธรรมสูง มีเรื่องที่น่าสนใจเยอะเลย

จากการได้พูดคุย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งกับภูมิปัญญาของชาวบ้านและของชนเผ่า ถึงแม้ว่า พอจะทราบเรื่องประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อของเขาบ้างแล้ว แต่เมื่อได้มารับทราบรายละเอียด ทั้งได้มาพูดคุยในพื้นที่ ได้บรรยากาศของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ทำให้ผมเกิดความประทับใจ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในความรู้สึกของผม


ดังที่ทราบกัน วิถีชีวิตของคนเมืองในพื้นที่สูง และชนเผ่า ที่เป็นมา เหนียวแน่นอยู่กับวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งเป็นทั้งกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในสังคม การอยู่กับป่าเขามานับร้อยนับพันปี ทำให้พวกเขาสั่งสมภูมิปัญญาหลายอย่าง ที่คนนอกวัฒนธรรม อาจจะไม่เข้าใจ ดูแคลน หรืออาจจะตัดสินโดยยึดเอาความเป็นอารยะเป็นที่ตั้ง แต่หากได้ลองพยายามทำความเข้าใจ จะเห็นถึงกลไกที่น่าทึ่งของภูมิ ปัญญาที่ล้ำลึก ทว่า แสดงออกอย่างเรียบง่าย เป็นจริง


ที่น่าสนใจคือ ภูมิปัญญาหลายเรื่อง สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวบุคคล และสังคมนอกวัฒนธรรมของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการหาของป่า ซึ่งไม่ว่าจะคนเมือง หรือคนดอย ล้วนมีวิธีการ มีภูมิปัญญาในเรื่องนี้ทั้งที่เหมือน และที่ต่างกัน ผักบางอย่างคนดอยกินไม่เป็น แต่คนเมืองมีวิธีเอาไปทำกิน เห็ดบางชนิด คนเมืองไม่กิน แต่คนดอยมีวิธีเก็บ วิธีปรุงให้กินได้หรือสมุนไพร และสูตรยาพื้นบ้าน หลายชนิด ที่ยังมีการใช้งานอย่างได้ผล ทว่า ได้รับความนิยมอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่า หากมีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างจริงจัง จะเป็นประโยชน์ต่อการพึ่งพาตนเองมาก


ขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญา เป็นสิ่งที่มีเฉพาะในวัฒนธรรมนั้นๆ รับรู้และใช้งานอยู่ในชุมชน ส่วนใหญ่ความรู้เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในรูปความทรงจำ และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เคยมีคำกล่าวของนักวิจัยที่ว่า ถ้านักวิจัยจากต่างชาติเดินเข้าไปในป่าเพื่อหาทรัพยากรพันธุกรรมที่จะเอาไปพัฒนาเป็นตัวยาหรือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โอกาสที่จะสำเร็จมีแค่เปอร์เซนต์เดียว เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่ถ้าให้นักวิทยาศาสตร์ไปคุยกับชาวบ้านบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น โอกาสที่จะสำเร็จมีถึงแปดสิบห้าเปอร์เซนต์


ฉะนั้น ทุกวันนี้ พืชผักพื้นบ้าน สมุนไพร ตำรายาต่างๆ ที่คนในยุคปัจจุบันไม่เคยเห็นค่า กลับกลายเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ สมุนไพรของไทยหลายตัว ถูกต่างชาตินำไปวิจัย นำไปสกัดเป็นยาแล้ว พืชผักพื้นบ้านบางชนิด ก็ถูกนำไปพัฒนาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สถานการณ์การช่วงชิงทรัพยากรชีวภาพในลักษณะที่เรียกว่า biopiracy นี้ ดำเนินมาเป็นเวลานานนับสิบปี และคงจะเป็นต่อไปเรื่อยๆ คล้ายกับเราปล่อยให้เพื่อนบ้านเข้ามาหยิบฉวยของมีค่าในบ้านเราไปเพราะเราไม่เคยเห็นว่ามันมีค่ามากขนาดไหน


สาเหตุสำคัญ ผมคิดว่า คงเป็นเพราะความกลับตาลปัตรของยุคสมัย ที่การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเจอทางตันและพบกับจุดเสื่อมของตน เขาจึงหันมามองการรักษาแบบองค์รวมของตะวันตก ซึ่งไม่ได้มีจุดหมายเพื่อเอาชนะธรรมชาติ แต่เพื่อกลมกลืนกับธรรมชาติ ชาติตะวันตกและชาติที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เริ่มตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของพืชสมุนไพร และตำรายาพื้นบ้าน แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาของตน มัวแต่ไปวิ่งตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ในแบบตะวันตกมากกว่า


ผมมีโอกาสได้คุยกับชาวบ้านที่มีอาชีพค้าขายสมุนไพรกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่า แม้ตัวเองจะขายสมุนไพรและรู้ว่ามีสรรพคุณทางยาอย่างไร แต่เมื่อเจ็บป่วยไม่สบายด้วยอาการที่สามารถรักษาด้วยสมุนไพรที่ตัวเองขายได้ เขากลับไม่ใช้ แต่ไปเข้าโรงหมอหรือโรงพยาบาลแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า ยาแผนปัจจุบันนั้น มันหายเร็วทันใจดี ส่วนยาหม้อแม้จะได้ผลแต่ก็ต้องใช้เวลานาน ทว่า สิ่งที่พวกเขาอาจจะไม่ทราบ (หรือทราบแต่ไม่สนใจ) ก็คือ ข้อดีของยาสมุนไพรคือ ไม่มีสารตกค้างหรือสะสมในร่างกาย ขณะที่ยาเม็ดหลายชนิด ทานมากเกินไปก็อาจส่งผลกับอวัยวะภายในได้


ปัญหาของเรื่องนี้ เท่าที่ผมมองเห็น อย่างแรกก็คือ แม้แต่คนในท้องถิ่นเอง ก็ยังไม่เชื่อถือในภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะสังคมที่เป็นมามันสร้างกระบวนการชี้นำให้เดินตามตะวันตก ของดีมีอยู่ เขาจึงไม่เห็นค่าไม่สนใจ มีแค่คนแก่ๆ ไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังสืบทอดสิ่งเหล่านี้อยู่ และเมื่อใดที่คนรุ่นสุดท้ายที่เป็นผู้เก็บรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ สิ้นไปโดยไร้ผู้สืบทอด ความรู้ของท่านก็จะสิ้นตามท่านไปด้วย


อย่างต่อมาก็คือ ภูมิปัญญาเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องผักพื้นบ้าน ของป่า หรือสมุนไพร แต่รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่นวิธีการจัดการน้ำบนที่สูงของชาวลาหู่, การจัดการป่าของชาวปกาเกอะญอ ฯลฯ แม้จะมีการเก็บข้อมูล การวิจัย จากนักวิชาการ จากสถาบัน องค์กรต่างๆ มากมายเท่าใด แต่ความรู้เหล่านี้กลับถูกเก็บไว้ในชั้นหนังสือในห้องสมุด ไม่ได้ถูกนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่มาถึงมือชาวบ้าน ไม่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เป็นเพียงงานวิจัยที่ "กินไม่ได้" ไม่มีมูลค่าในแง่ของการใช้งาน ถึงที่สุดแล้ว งานวิจัยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ทราบจะมีสักกี่เปอร์เซนต์ที่เจ้าของภูมิปัญญา หรือชาวบ้านทั่วไปจะได้รับรู้และนำไปใช้งาน


พูดอย่างนี้ไม่ได้จะตัดพ้อต่อว่าหน่วยงานไหนนะครับ เพียงแต่ผมรู้สึกว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้มีความสำคัญ ทั้งงานวิจัยก็มีไม่น้อย แต่การเอาลงมาจากหิ้งสู่การใช้ประโยชน์จริงยังมีไม่มากเท่าที่ควร เราจะทำวิจัยกันไปทำไมละครับ ถ้าหากไม่นำมาใช้ประโยชน์ หรือหากนำมาใช้ แต่เป็นไปเพียงเพื่อใช้งบประมาณให้หมดๆ ไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแก่ชาวบ้าน มันก็น่าเสียดาย

เมื่อก่อนนี้ เรามีปัญหาเรื่องการรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่ปัจจุบัน มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากมาย มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ทั้งเอกชน สถาบันการศึกษา NGOs หรือนักวิจัยอิสระ มากมายที่ทำงานวิจัย แต่เราก็กำลังเจอปัญหาใหม่ คือการเอางานวิจัยเหล่านี้มาใช้งาน นำลงมาสู่การปฏิบัติจริง สู่การจัดการจริงๆ แก้ไขปัญหาจริงๆ ยังไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น คนที่ทำวิจัยอาจจะคิดว่า หน้าที่ของเขาจบลงเพียงแค่การทำวิจัยเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มันจะดีกว่าหรือเปล่า หากผลงานทางความคิดที่ทำอย่างยากลำบาก ถูกนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ


ให้ชาวบ้านไปค้นหางานวิจัย กับ ให้งานวิจัยเดินเข้ามาสู่การรับรู้ของชาวบ้าน อะไรมันง่ายกว่ากันละครับ


จากการได้ลงพื้นที่ ทำให้ผมได้ทราบว่า ชาวบ้านทุกวันนี้ เริ่มชินกับคำว่า "ทำวิจัย" กันมากกว่าที่ผมคิดไว้ บางพื้นที่มีหลายหน่วยงานมาทำวิจัย ผู้นำชุมชนหลายคนเป็นนักวิจัยชาวบ้าน ช่วยประสานงาน ช่วยเก็บข้อมูลได้ ชาวบ้านเองก็พร้อมจะให้ข้อมูลที่ตนรู้ ฉะนั้น การทำงานวิจัยจึงไม่ค่อยจะมีปัญหาติดขัด มีเวลาเจาะข้อมูลได้ลึก ได้ละเอียดแค่ไหน ก็ตามแต่ขอบเขตของงานและความสามารถของคนทำงาน


ถ้าจะรู้สึกแปลกๆ คงจะมีอยู่แค่อย่างเดียว คือเวลาที่มีชาวบ้านถามว่า
"...มาทำวิจัยกันบ่อยๆ ทำไมไม่มีใครเอามาให้อ่านบ้างเลย..."


ผมไม่รู้จะตอบเขาอย่างไรดี