Skip to main content

แน่จริง มาเจอกัน

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่รู้ว่าการท้าทายระหว่างนักวิชาการกับนายกรัฐมนตรีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งตารอว่าวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย. 47 ที่จะถึงนี้จะเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันในสังคมไทยอย่างไร เมื่อนักวิชาการ 160 คนทั่วประเทศที่ร่วมลงชื่อให้นายกฯ ออกมาขอโทษประชาชนกรณีสลายการชุมนุมที่ตากใบ นราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 ที่ผ่านมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 รายได้รับการเชื้อเชิญจากนายกฯ ว่ามาคุยกันหน่อย


จนวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่านักวิชาการจะไปพบหรือไม่ เพราะยังประชุมตกลงกันไม่ได้ ในฐานะผู้เฝ้าดู ก็เชียร์ให้นักวิชาการส่งตัวแทนไปคุยกับท่านสัก 4-5 คนไม่ต้องมาก


สิ่งที่จะได้ก็คือได้ใช้ห้องในทำเนียบรัฐบาลที่ตกแต่งสวยงามนั่งคุยกัน ได้ถ่ายรูปออกสื่อมวลชน ท่านนายกฯ ก็ได้แสดงท่าทียิ้มแย้มทักทายอย่างเป็นกันเอง นั่งเก้าอี้ติดกันคุยกันไปมา ซึ่งนายกฯ ทำอยู่แล้ว และมีประสบการณ์ประชุม ครม.ทุกอาทิตย์ แต่นักวิชาการอาจต้องเตรียมตัวมากหน่อยเพราะไม่ใช่ห้องเล็คเชอร์ที่อาจารย์เป็นผู้กำหนดได้ว่าจะพูดอะไร จะบรรยายอะไรให้นักศึกษาฟัง หรือกำหนดได้ว่าจะพูดยาวเท่าไรก็ได้


ที่สำคัญนักวิชาการอยากฟังอะไรจากปากท่านนายกฯ คำขอโทษอย่างเดียวหรือน่าจะมีอย่างอื่นเป็นของแถมตามมา โดยหวังว่าของแถมน่าจะเป็นที่อยากได้ของทุกคนที่เฝ้าติดตามด้วย แอบหวังลึก ๆ ว่าจะมีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างนักวิชาการกับผู้ปฏิบัติงานให้นายกฯ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและหาแนวทางการดำเนินการสันติวิธีในการแก้ปัญหาสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะกรณีภาคใต้เท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไร้ซึ่งโอกาสต่าง ๆ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ


หากนายกฯ พร้อมจะฟัง นักวิชาการก็ควรจะฟัง และหาช่องทางให้มีการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีอิสระในการศึกษาและนำเสนอแนวทางที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นหาแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน มีความเคารพซึ่งกันและกันในความแตกต่างหลากหลาย


มีแผนปฏิบัติการที่จะเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับประชาชนผู้ยากไร้


ผู้มีความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมว่าเขาเป็น " คน " เหมือน ๆ กับทุกคนในสังคม ความเป็น " คน " ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในคำว่า " คนไทย " เท่านั้น เพราะทุกคนที่เกิดมามีชีวิตย่อมสมควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันในฐานะ " คน "


การสลายความคิดแบบ " แบ่งแยกกีดกัน การแบ่งเขาแบ่งเรา " เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งนักวิชาการแล ะนายกฯ ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร หากปล่อยให้สังคมมีความคิดเช่นนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงตาต่อตา ฟันต่อฟัน คือสิ่งที่เราจะพบกันไปอีกนานแสนนาน เราจะต้องสูญเสียชีวิต " คน " ไปเพื่อตอบสนองความโกรธ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความแค้น ระหว่างกันอีกเท่าใด เราจึงจะเรียนรู้ว่า การมีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งที่มีค่ามากของความเป็น " คน "


การเลือกตั้งที่จะมาถึงในต้นปีหน้า พรรครัฐบาลได้ยืนยันด้วยคำพูด และการกระทำว่าจะได้กลับมาบริหารประเทศอีกแน่นอน จึงใคร่เห็นว่านโยบายที่จะลดความรุนแรงในสังคมของพรรคไทยรักไทยและพรรคอื่น ๆ คืออะไร นโยบายสร้างความมั่นคงในการมีชีวิตของผู้ " คน " คืออะไร นักวิชาการช่วยแสดงความเห็นให้นายกฯ ด้วยในวันที่ไปพบกัน (หวังว่าจะพบกัน) ด้วยเผื่อนักการเมืองจะสนใจหยิบไปใช้แปลงเป็นนโยบายต่อไป


รัฐบาลสามารถใช้เงินหลายสิบล้านบาท เนรมิตศูนย์ประชุมอิมแพคให้เป็นงาน " โชว์ " ผลงานได้ ก็น่าจะลงทุนสักร้อยสองร้อยล้าน สร้างแคมเปญรณรงค์แข่งกับ " หนังสือพลังชีวิต " (เห็นว่าใช้ไปแค่ร้อยล้านเอง) เพื่อสร้างแนวคิดการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมไทย แนวคิดการเผชิญปัญหาด้วยสันติวิธี และการลดความรุนแรงในสังคมด้วยความเข้าใจกันและกัน


ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้รัฐบาลออกโฆษณาเรื่อง " ความรักชาติ " แบบที่เห็นเป็นรูปหยดเลือด แล้วค่อย ๆ ไหลมารวมกันเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ที่เห็นโฆษณาประจำในช่อง 11 นั้น ซึ่งไม่สร้างความรู้สึกว่าเคารพความหลากหลาย แต่พยายามทำให้ทุกคนต้องเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังไม่เข้าใจวิธีคิดแบบยอมรับความแตกต่าง เข้าใจกัน และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง


นี่จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งนักวิชาการและนักการเมือง นักปกครอง ทั้งหลายให้ช่วยลองแสดงแนวทางให้สังคมไทยได้คิดและนำไปปรับใช้ให้ได้ด้วย เฝ้ารอการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นนะคะ