Skip to main content

บัวสีเทา : ในทุกวันเรามีกันทุกเวลา

คอลัมน์/ชุมชน

ผมและทีมงานที่ทำกิจกรรมเพื่อรวบรวมข้อมูลของกลุ่มแก๊งในเชียงใหม่ มีเวลาที่จะพบเจอกันน้อยมากในแต่ละเดือน โดยเราแบ่งกันทำงานเป็นส่วนๆ ทั้งคนเก็บข้อมูล คนประสานงาน เป็นต้น


ครั้งหนึ่งเราได้มีโอกาสนำข้อมูลต่างๆ ของเพื่อนๆ ที่เราเก็บมาได้ มานั่งคุยกันประมาณ 10 คน ทั้งทีมงาน พี่บัว พี่โหน่ง เล็ก และคนอื่นๆ ที่จำไม่ได้อีกก็มี


แล้วก็ลองจัดหมวดหมู่ความคิด ก็ได้เนื้อหาออกมาเป็นส่วนๆ


การรวมกลุ่มของเยาวชนในเชียงใหม่ เท่าที่ฟังจากการบอกเล่าของเพื่อนๆ ในกลุ่ม จะพบว่ามีทั้งการรวมตัวกันแบบเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว ยกเว้นการรวมเป็นกลุ่มใหญ่ที่บางกลุ่มมีข้อมูลว่ามีเด็กเข้ามาเป็นร้อยๆ คนต่อเดือน แต่เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ภายใต้ "อุดมการณ์" ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด


หรือบางกลุ่มก็มีแกนนำมีการเน้นกิจกรรมเพื่อสมาชิก โดยการให้ความรู้ด้านเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และสนับสนุนการไม่ใช้ยาเสพติด หรือกลุ่มกึ่งเด็ก กึ่งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ตลอดจนเด็กกิจกรรม รูปแบบต่างๆ หรือเป็นตัวแทนเยาวชนเข้าไปร่วมกิจกรรมทั้งระดับประเทศและนานาชาติ


การรวมกลุ่มภายใต้ "ความเชื่อ" เดียวกันนี้ แม้บางกลุ่มไม่มีโครงสร้างการทำงานที่แน่ชัด แต่วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ โครงสร้างและกระบวนการโดยธรรมชาติของกลุ่มก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมิน้อย


ความสัมพันธ์ของคนในกลุ่ม


การรวมกลุ่มในลักษณะแก๊ง หรือกลุ่มเพื่อนฝูง เป็นการรวมตามธรรมชาติ กล่าวคือไม่มีโครงสร้างประธาน รองประธาน เหมือนสมาชิกองค์กรทั่วไป การรวมกลุ่มแบบแก๊ง เป็นการรวมที่เกิดโดยกลไกของวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปที่ต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และหากเป็นคนที่เข้าใจกัน คุยด้วยกันรู้เรื่องย่อมเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้เข้าใจกันเร็วขึ้น


ความสัมพันธ์แบบเท่าๆ กันนี้ ทำให้เกิดความเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตร่วมกัน มีความเคารพในการตัดสินใจและพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ไม่เป็นการปกปิดหรือความลับต่อกัน ความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่อบอุ่นของสมาชิกกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เที่ยวกลางคืน หรือกลุ่มเด็กพังก์ เป็นต้น


ส่วนความสัมพันธ์แบบเครือญาติของกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนที่เป็นพี่น้องกัน มีความรู้จักสนิทสนมกัน เป็นส่วนสำคัญที่เป็นแรงขับให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและสามัคคีกัน มากกว่านั้นการกำหนดความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มที่มีต่อกันตามที่กล่าวมาข้างต้น


"อย่างที่เคยเล่าให้ฟังนะ ถ้าพูดถึงกลุ่มแก๊ง หากรวมตัวกันเฉยๆ ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ารวมตัวกันแล้วไปหาเรื่องตีคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยก็คงไม่ดี ปัญหาในกลุ่มของเราก็มีบ้างเช่น พูดหยอกล้อเล่นกันแต่อีกคนคิดจริง เลยเกิดการโกธรกัน แต่ไม่ถึงขั้นต่อยกัน เพราะสักสองวันมาเจอกันคุยกันได้ และหายโกรธ เดี๋ยวดื่มเหล้าด้วยกันก็ดีกันเองเพราะเวลาดื่มเหล้าพวกเราก็พูดกันแบบเปิดอกกันตลอด มันมีความจริงใจต่อกันดี" คำพูดของพี่บัว ที่เน้นเสียงหนักๆ ในวงคุย


ทั้งนี้โดยมากแล้ว กลุ่มที่รวมตัวกันมาจากหัวใจหลักๆ คือ


"ชอบเหมือนกัน" - ความชอบและความรักต่อสิ่งที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเป็นเหมือนเครื่องมือเชื่อมหัวใจของคนที่อยู่ในวัยเดียวกัน การมีความชอบเหมือนกัน หรือ คิดไปในทางเดียวกัน นั้น ยิ่งทำให้แต่ละคนในกลุ่มมีความรู้สึกร่วมในการอยากเป็นเจ้าของสิ่งนั้น เช่น การที่กลุ่ม ก. มีความชอบในจังหวะความเร็วของรถ โดยการกำหนดกิจกรรมขึ้น คือการแข่งรถ สมาชิกทุกคนต่างๆมี ความรู้สึกร่วมในการจัดกิจกรรมขึ้นในแต่ละครั้ง


"ทำตามกัน" - การเดินตามรอยเท้าคนอื่นอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนดังการมีพฤติกรรมที่แสดงออกในทำนองเดียวกัน ของแต่ละบุคคล การที่เราชื่นชมนักร้อง ชื่นชอบดารา จนนำเอาพฤติกรรมหรือบุคลิกของคนนั้นมากระทำตาม การสักลาย การเจาะหู การแต่งตัว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีการทำตามกัน จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง จนทำให้เกิดความนิยม ได้รับการยอมรับในสังคมกลุ่มเพื่อน


"มันมีความสุขนะ ที่เราทำแล้วมีคนทำตาม เพราะจะได้มีคนมาสืบทอดการแต่งตัวแบบเรา เพราะอีกหน่อยถ้าเราโตขึ้นเราคงไม่ได้ใส่แบบนี้ การมีคนทำตามเค้าก็คงมีความสุขจึงทำตามแบบที่เราเป็น" คำพูดของเล็กที่ตอกย้ำเรื่องพังก์ของเขาอีกครา


"มีกิจกรรมร่วมกัน" - แม้การดำเนินชีวิตแต่ละวันของแต่ละคนจะมีความต่างกันเพียงใด แต่การมีกิจกรรมเพื่อรองรับกลุ่มแต่ละกลุ่มตามความชอบและสนใจของแต่ละกลุ่มจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่งกิจกรรมที่แต่ละกลุ่มทำร่วมกัน ได้แก่ การเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว เที่ยวตามผับเธค การจัดแข่งรถ จัดคอนเสิร์ต เล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง ร่วมกัน กิจกรรมที่กลุ่มทำเพื่อผู้อื่น ได้แก่ การจัดค่ายให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา การรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย การสร้างแกนนำนอกพื้นที่ เป็นต้น


กิจกรรมข้างต้นนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนที่เป็นสมาชิกกลุ่มได้มีประสบการณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเคารพในการตัดสินใจ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม แต่โดยมากผู้คนมักไม่ได้มีโอกาสรับรู้ว่ามีกิจกรรมสร้างสรรค์อีกมากมายที่เยาวชน ที่คนเรียกว่า "แก๊ง" จะเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจและควรแก่การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพียงเพราะภาพที่แสดงออกมาของกลุ่มแก๊ง คือ การชกต่อยทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ


ส่วนในด้านการจัดการภายในกลุ่ม - กลุ่มแก๊งขนาดใหญ่บางกลุ่มมีสมาชิกสะสมในระยะเวลาเกือบหลายปีที่ผ่านมา ได้ประมาณหลายร้อยคนและยังมีวัยรุ่นมาร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกวัน อีกทั้งในแต่ละวันมีสมาชิกทั้งชายหญิงที่เข้าไปรวมกลุ่มที่ "บ้าน" อย่างน้อยอีกหลายสิบคน เนื่องจากเป็นกติกาของกลุ่ม ที่สมาชิกจะต้องหาเวลามาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน


โดยมีการดูแลกันเอง 2 ระดับ คือ ระดับแรก ระดับภายใน จะมีแกนนำหรือประธานกลุ่มสิบกว่าคน ดูแลสมาชิกภายในกลุ่มย่อยของตน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชาย หญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แกนนำจะตระเวนตามเขตพื้นที่ของตนเพื่อคอยสอดส่องดูแลให้เด็กเหล่านั้นกลับบ้าน


ระดับต่อมาคือ ระดับภายนอก จะมีแกนนำรุ่นใหญ่จำนวนหนึ่ง มีไว้เพื่อคอยจัดการ(เคลียร์) ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มและ ระหว่างเด็กด้วยกัน จนถึงปัญหาเด็กกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งนี้การรวมกลุ่มกันและสืบทอดความคิดภายใต้ "ความเชื่อ" เพื่อนช่วยเพื่อน พี่สอนน้องของกลุ่มดังกล่าว จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ว่าโดยที่สุดกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป


"ที่เรามารวมกันเพราะเรายอมรับหัวหน้ากลุ่มว่า เป็นคนที่รับฟังปัญหาเราทุกเรื่อง ทั้งเรื่องครอบครัว การเรียน เรื่องส่วนตัว การเงิน ฯลฯ บางครั้งมีคำตอบและคำแนะนำ และบางครั้งไม่มีคำตอบ เพียงแค่มีคนรับฟังปัญหาเขาบ้างก็เพียงพอแล้ว" ใครคนหนึ่งพูดในวงประชุม


ข้อมูลที่น่าสนใจของกลุ่มแก๊งหนึ่ง ระบุว่า เด็กจำนวนหนึ่ง ที่เป็นสมาชิกกลุ่มจะ มีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงจริง เช่น ชอบทำร้ายร่างกายคนที่ตนไม่ชอบหน้าอย่างรุนแรง จนคู่กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย สาหัส หรือเสียชีวิต


วิธีการของกลุ่มนี้คือ ลำดับแรกจะคุย หากิจกรรมอื่นๆ ให้ทำ ให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนเล่นกีฬา จนพิจารณาแล้วว่าเด็กไม่สามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกับสมาชิกในกลุ่ม จะส่งต่อให้นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อไปรักษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในที่สุดเด็กเหล่านี้ก็จะกลับตัวและสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้และมีอาชีพการงานที่ดี บางคนกลับมาเป็นบทเรียนให้กลับรุ่นน้องในกลุ่มแก๊งรุ่นต่อมา


"มันมีกลุ่มแบบนี้ด้วยเหรอว่ะ" พี่เหน่งถามขึ้นในวงคุย
"
มีสิครับ แต่ขอไม่บอกว่าเป็นกลุ่มไหนนะ มันอาจกระทบกับชื่อกลุ่มได้" ทีมงานคนหนึ่งให้เหตุ ผล
"
เออว่ะ ใช่ๆ ต้องคิดถึงเรื่องนี้กันด้วย" พี่เหน่งตอบกลับ
"
ครับ การทำงานเราจะบอกชื่อกลุ่ม หรือชื่อคนจริงๆ ไม่ได้ แม้ว่าเขาจะเปิดเผยหรือไม่ เพราะ บางคนติดคดี บางกลุ่มถูกเพ่งเล็งก็มี เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเหล่านี้ด้วยนะ" ทีมงานอีก คนหนึ่งย้ำในวงคุย


โปรดตามติดอ่านตอนต่อไป....