Skip to main content

ลดโฆษณา เพื่อเด็กๆ

คอลัมน์/ชุมชน

คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช) ได้ออกมาตรการคุ้มครองสุขภาพเด็กและเยาวชนด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยเริ่มต้นเป็นการทดลองก่อนระยะสามสี่เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2550 เป็นต้นมา โดยมี 2 มาตรการคือ

หนึ่ง กำหนดระยะเวลาและความถี่ในการออกอากาศ รายการเด็ก 1 ชั่วโมงมีโฆษณาไม่เกิน 12 นาที ทั้งนี้แบ่งเป็นโฆษณา 10 นาที อีก 2 นาทีให้เป็นการส่งเสริมการบริโภคที่ถูกต้องทางวิชาการ และห้ามมีข้อความทางการค้าเดียวกันหรือต่างกันของสินค้าชนิดเดียวกันออกอากาศเกิน 4 ครั้งต่อชั่วโมง และไม่เกิน 2 ครั้งต่อรายการครึ่งชั่วโมง


สอง ป้องกันการสร้างแรงจูงใจเด็กให้บริโภค โดยให้งดการส่งเสริมการขายด้วยการโฆษณาที่ใช้หุ่น ตัวการ์ตูน ดารา ตัวละคร ที่เด็กรู้จักหรืออยู่ในรายการเด็กมราเป็นผู้นำเสนอในการโฆษณา รวมถึงการงดโฆษณาที่จูงใจโดยการแจกของแถม เป็นของเล่น ของแลกซื้อ การเล่นเกม การชิงรางวัล


ทั้งนี้ ต้องนับว่าเป็นผลจากความพยายามของกลุ่มคนหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มพ่อแม่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักวิชาการ ที่ทำการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของโฆษณาที่มีผลต่อเด็ก โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบที่มีปัญหาทางโภชนาการ ทำให้มีการนำเสนอเรื่องการควบคุมโฆษณา การควบคุมคุณภาพขนมเด็ก โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นปี 2550 และคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งก็มีความก้าวหน้าในส่วนของการควบคุมการโฆษณา และอยู่ระหว่างดำเนินการคือการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทผลิตขนมเด็กที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เช่น ลดหวาน มัน เค็ม ผลิตขนมจากวัตถุดิบหลักเช่น ข้าว ด้วยการสร้างรูปแบบ สีสัน เพื่อจูงใจให้เด็กๆ ในการเลือกบริโภค การทำฉลากที่ระบุคุณค่าทางโภชนาการชัดเจน เช่น ติดสัญญลักษณ์ไฟสีเขียว เหลือง แดง เพื่อแสดงปริมาณทางโภชนาการ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก ให้เข้าใจความหมายของสัญญลักษณ์เพื่อก่อให้เกิดการเลือกบริโภคที่เหมาะสม


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านไปไม่ถึงเดือนที่มีการควบคุมโฆษณาในรายการเด็ก คือการแสดงความไม่เห็นด้วยของผู้ผลิตรายการ กลุ่มนักแสดง บริษัทโฆษณา ที่รวมตัวกันเข้าพบรัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อประท้วงมาตรการดังกล่าว

ซึ่งเมื่อติดตามดูรายละเอียดจะพบว่ารายการสำหรับเด็กในบ้านเราสามารถแยกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มที่ซื้อรายการมาออกอากาศ เช่น การ์ตูน รายการเด็กต่างๆ กับกลุ่มที่ผลิตรายการเองครบกระบวนการ เช่น การ์ตูนของไทย รายการเด็ก รายการเยาวชน สำหรับกลุ่มที่ซื้อรายการมาออกอากาศนั้นถือว่าต้นทุนไม่สูงเกินไปพอรับมือกับมาตรการนี้ได้ แต่กลุ่มที่ผลิตรายการเองนั้นยากลำบากกว่าเนื่องจากต้นทุนการผลิตรายการสูงมาก เมื่อไม่สามารถขายโฆษณาได้มากหรือถูกลดเวลาลง
2 นาที แม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่พยายามหาทางช่วยเหลือผู้ผลิตรายการกลุ่มนี้ด้วยการประสานหน่วยงาน องค์กรที่มีงบโฆษณามาซื้อเวลาเพื่อให้โฆษณาจูงใจให้เด็กเข้าใจคุณค่าโภชนาการจากขนมหรืออาหารต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน จึงสมควรเป็นภาระของรัฐที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายการเด็กของไทยเราเอง ทั้งโดยการสนับสนุนงบประมาณในการผลิต การสร้างแรงจูงใจในการลดภาษี สำหรับผู้ผลิตรายการเด็กที่ผลิตรายการเอง การสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมให้มาช่วยเหลือรายการเหล่านี้ และรวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทที่ผลิตขนมขบเคี้ยว เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ลดความเค็ม หวาน มัน ลงเพื่อให้มีขนมที่มีคุณค่าสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่นิยมขนมขบเคี้ยวต่างๆ แล้วมาช่วยซื้อโฆษณารายการเด็กที่ผลิตเองในประเทศ


รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ต่างให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการสนับสนุนรายการเด็ก การกำหนดเวลาช่วงที่เด็กดูรายการมากที่สุดให้มีรายการที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก รวมถึงการจัดระดับรายการที่เหมาะสม แต่การดำเนินการก็ไม่มีความต่อเนื่อง ไม่จริงจัง ยิ่งเมื่อต้องเจอแรงต้านจากกลุ่มเจ้าของเวลาสถานี กลุ่มนักแสดง กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มบริษัทโฆษณา ยิ่งไม่มีความคืบหน้าใดใด

หวังว่ามาตรการเบื้องต้นเรื่องการโฆษณาในรายการเด็ก จะฝ่าต้านแรงค้านนี้ไปได้ เพื่อให้เด็กไทยมีรายการดีดี การ์ตูนสนุกๆ ให้ดูโดยไม่ต้องถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่สร้างสรรค์ และมอมเมาให้กินขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อไป