Skip to main content

เอาชนะชะตากรรม หรือจะย้ำชะตาตน (1)

คอลัมน์/ชุมชน

ฉันเคยขาหัก และถูกแพทย์ที่รักษาบอกว่าจะต้องเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต

"มีใครดูแลหรือยัง อีกหน่อยก็จะเดินไม่ได้ " นั่นคือคำพูดของหมอ ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดของบ้านเกิด น้ำเสียงที่หลุดมาจากปาก ภายใต้ใบหน้าเรียบเฉย ไม่หันมาสบตาฉันเสียด้วยซ้ำ เขาจึงไม่เห็นสีหน้าที่ตกตะลึงกึ่งช็อคของฉัน


ฉันขาหักมาจากหมู่บ้านทางภาคเหนือ และกลับมารักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน จนครบห้าเดือน ถึงกำหนดเอาเฝือกออก จึงต้องมาให้หมอคนนี้ดูตรวจดูอีกที นับว่าเป็นครั้งที่สองที่ฉันต้องเจอเขา หมอผู้ไม่เคยมีรอยยิ้ม แม้แต่ในแววตา


หลังจากที่พลิกซ้ายพลิกขวาดูขาข้างลีบของฉัน ที่เพิ่งผ่าเอาเฝือกออกไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง อย่างไม่พูดพล่ามทำเพลง เขาก็จับมันงอเข้าอย่างแรง โดยที่ฉันไม่ทันรู้ตัว เสียงร้องโอ๊ยคงลั่นห้องพยาบาล ทั้งเจ็บทั้งตกใจและจากนั้นฉันก็ได้ยินประโยคนี้เต็มสองหู กับอีกหนึ่งใจ มันดังกังวานอยู่อย่างนั้น...มาจนบัดนี้


เมื่อปี พ.. 2526
ที่หมู่บ้านชายแดนไทย
-ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา


ฉันถูกใครบางคนประคองขึ้นใส่รถสองแถวโดยสาร นั่งคู่มากับคนขับ โดยที่ฉันยังไม่รู้ว่าขาหักไปแล้ว เพราะไม่มีความเจ็บปวด รู้สึกแต่ว่ามีน้ำเหนียวๆ ไหลซึมออกมาที่หน้าแข้ง กางเกงยืดแบบนักกิฬาสีดำสนิท และรองเท้าผ้าใบสีดำจึงไม่เห็นว่านั่นคือเลือดข้นๆ ที่ไหลออกมาเรื่อยๆ และรถคันนั้นก็วิ่งมาอย่างช้าๆ จอดรับผู้โดยสารจากสองข้างทางตลอดสาย กว่าจะมาส่งฉันที่โรงพยาบาล ก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมง


จนกระทั่งมาถึงโรงพยาบาลเชียงคำ บนเตียงฉุกเฉิน หมอตัดขากางเกงฉันออก ฉันผงกหัวขึ้นดู ที่หน้าแข้งด้านขวามีกระดูกแหลมๆ โผล่ออกมาเป็นปากฉลาม


จากนั้น ฉันถูกจัดการหุ้มเฝือก แล้วส่งเข้าพักในห้องพิเศษอย่างอภิสิทธิ์ชน เพราะนายแพทย์ใหญ่ใจอารีย์ คนที่เข้าเฝือกขาให้ฉัน รู้ว่าฉันเป็นอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาทำงานในหมู่บ้านยากจน ที่อำเภอนี้ ฉันจึงได้รับการดูแลอย่างดีจากคณะหมอและพยาบาลที่นั่น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพิ่งจบมาใหม่ๆ บรรยากาศการเมืองขณะนั้น บางคนอาจจะถูกส่งมา บางคนอาจอาสามา อย่างน้อย เขาเหล่านั้นน่าจะเข้าใจมนุษย์แบบฉันอยู่บ้าง ยิ่งกลายมาเป็นคนบาดเจ็บไร้ญาติขาดมิตร แต่ต้องขอร้องให้ช่วยปิดบังที่บ้านเพราะไม่อยากให้เขารู้ว่าฉันมาทำงานในเขตที่ยังมีการปะทะกันหลายฝ่าย ทั้งไทยกับไทย หรือลาวกับลาว ฉันจึงมีแต่ชาวบ้านที่มาเป็นกำลังใจอยู่บ้าง


แต่การเกิดอุบัติเหตุของฉัน ไปเกิดที่หมู่บ้านชายแดน เรื่องจึงไปถึงทหาร (เชียงคำมีกองกำลังหลายหน่วย) มีใครบางคนมาเยี่ยมด้วยท่าทีที่คล้ายกึ่งสอบสวน นับว่าเป็นน้ำใจที่จำไว้ไม่ลืมอีกอย่างหนึ่งทีเดียว


เวลาผ่านไปราวสองชั่วโมง อาการบาดเจ็บเริ่มสำแดง ความเจ็บปวดค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ เจ็บจี๊ดในกระดูกและเมื่อยล้าหนักๆที่กล้ามเนื้อ รู้สึกเหมือนขากำลังขยายตัวโตขึ้น โตขึ้น จนพลิกขาไม่ได้ อยากพลิกไล่ความล้า แต่ก็ทำไม่ได้


วินาทีนั้น ฉันรู้ว่า "เจ็บจนใกล้จะตาย เป็นอย่างนี้เอง"


ตกกลางคืน ยิ่งทรมาน ฉันเจ็บ เจ็บอยู่เรื่อยๆ เจ็บเกือบตาย แต่ไม่ตาย ทั้งยังไม่สามารถหลับลงได้ เพราะความเจ็บแปลบมาทิ่งแทง ทุกครั้งที่เริ่มง่วงงุน


"หมอคะ..ฉันเจ็บ เจ็บมากจริงๆ" ฉันเจ็บจนละเมอ ยาแก้ปวดไม่ช่วยอะไรได้เลย พยาบาลจึงให้มอร์ฟีน มาหนึ่งหลอด มันเริ่มทำงานเมื่อหมอฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อสะโพก


คืนนั้น..กว่าฉันจะได้หลับ ก็ดึกแล้ว และยังเป็นการหลับที่เรียกว่า หลับๆๆ ตื่นๆ สะลึมสะลือ พร่าเบลอ ด้วยฤทธิ์ของยาชนิดแรงนี้เอง


ผ่านการรักษาจากที่นั่นราวห้าวัน ทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาเอาตัวฉันไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสวนดอกที่เชียงใหม่ และต้องแก้ไขเฝือกเพราะเฝือกแรกทำไว้ไม่ดี แต่มันก็ไม่ช่วยให้เข่าฉันดีขึ้นมาได้ มีแต่ทำให้ฉันเจ็บเพิ่มขึ้นยามจัดการหล่อเฝือกหุ้มขาฉันใหม่อีกหน


เขาว่าหมอมือใหม่ที่เชียงคำ ทำให้หน้าแข้งฉันแอ่น และข้อต่อตรงสะบ้าเข่าไม่สนิทเหมือนเดิม ฉันคือ "ว่าที่คนพิการ" ในอนาคต ในไม่กี่ปีข้างหน้านี่เอง


การตัดเฝือกและฟังคำวินิจฉัยอาการครั้งสุดท้าย ทำให้ฉันกลายเป็นคนละคน หมดสิ้นความหวังในชีวิต ขลาดกลัวที่จะใช้ขาทำงาน กลัวมันจะหัก กลัวมันจะเจ็บ ยิ่งยามแว่วสำเนียงอันโหดร้ายที่ตอกย้ำอยู่ในใจนั่นด้วย


"มีใครดูแลหรือยัง อีกหน่อยคุณจะเดินไม่ได้นะ เพราะเข่าคุณจะเสื่อมลงเรื่อยๆ"


นาทีที่ได้ยิน ฉันเหมือนถูกจับโยนขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วลอยลงมาหาพื้น เปล่าเลย มันยังลิ่วลงไปในหุบเหวที่ดำมืด จนกระทั่งกระแทกพื้นแข็งๆดังพลั่กๆ จุกเจียนตายอีกหน แต่ก็ไม่ตายเสียที....มันไม่ตายเสียที


ฉันกรีดโหยอยู่ข้างใน เจ็บลึกเหมือนจะขาดใจ แต่ไม่ยอมขาดใจ


ไม่มีใครได้ยินประโยคนี้ นอกจากฉันกับหมอคนนั้น


ผู้หญิงที่เติบโตมากับกิจกรรมชีวิตที่โลดโผน อาจโลดโผนกว่าเด็กผู้หญิงทั่วๆไป กิจกรรมที่ฉันหลงใหล ก่อนขาหัก คือ กีฬาป้องกันตัวทั้งอาคีโด้ ยูโด และมวยไทย (บ้าง..บางครั้ง)


ส่วนเทนนิสและว่ายน้ำ ถือว่าเป็นลมหายใจ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตฉันมาหลายปี น็อคบอร์ดคนเดียวกลางแดดเปรี้ยง ว่ายน้ำตามลำพังในทุกสระทุกห้วยหนองคลองบึง เท่าที่มีโอกาส เพราะฉันชอบเกมแข่งขันกับตัวเอง แต่กิฬาป้องกันตัว ฉันชอบเพราะว่าเป็นกิฬาที่สอนให้เข้าถึงจิตใจลึกๆ ทั้งด้านขลาดกลัวหรือกล้าหาญของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี


ความรู้สึกทรมานคงไม่มากมาย ถ้าฉันไม่ใช่นักกีฬา คนที่เป็นนักกิฬาจะต้องเข้าใจว่า ความสุขในยามเคลื่อนไหวทำกิจกรรมนั้น สุขล้ำลึกอย่างไร แล้วฉันกำลังสูญเสียมันไป...กรรมใดหนอ


คำของหมอคนนั้น ทำให้ฉันต้องหยุดเล่นกิฬา ที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนกระดูก หรือที่ต้องใช้กำลังขามากๆ แล้วหันมาฝึกเล่นกีฬาเบาๆ เช่น แบตมินตัน ปิงปอง ที่มีเทคนิคการเล่นตรงกันข้ามทุกอย่าง เช่น เทนนิส ต้องเหยียดแขน เคลื่อนไหวส่งกำลังการตีลูกด้วยหัวไหล่ มาเป็นฝึกพลิกข้อมือสะบัดลูกขนไก่ หรือกดข้อมือตบลูกปิงปองให้ลงโต๊ะ ฉันฝึกอยู่นานหลายเดือน จึงพอจะเรียกความสุขเก่าๆกลับคืนมาได้บ้าง


เพราะในเวลานั้น แม้แต่การวิ่งก็ยังเป็นการทำร้ายตัวเอง


ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ...การขับรถ ฉันขับรถยนต์ไม่ได้อีกต่อไป เพราะหากตะบี้ตะบันใช้ขาขวาในยามกลางวัน ตอนกลางคืนจะปวดขาแทบขาดใจ ปวดเมื่อยเป็นริ้วๆ สลับกัน จนนอนไม่หลับ แม้แต่รถมอเตอร์ไซด์ก็ยังทำร้ายขาฉันจนสาหัสได้


แต่ฉันไม่มีทางเลือก เพราะงานของฉันคืองานสนาม ทำงานอยู่กลางแจ้ง บางที่ต้องเดินไปกลับ เพื่อถ่ายรูป ดูพื้นฐานการก่อสร้าง ระยะทางไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร วันหนึ่งหลายฝาย มันคืองานวิจัยเกี่ยวกับฝายน้ำล้นขนาดเล็กเพื่อการเกษตร ที่มักจะอยู่กลางทุ่งนา ริมป่า เชิงภูเขา และมันอยู่ในภาคอีสาน ห่างไกลบ้านเกิดเช่นเดิม


เป็นอันว่าสามปีที่เดินได้แบบคนปกติ แต่หัวใจฉันไม่ปกติ เพราะบางวันยามตื่นเช้าลุกจากเตียง แค่ย่างเท้าลงบนพื้นแล้วเหยียดตัวขึ้นยืน ก็ต้องล้มเผละทรุดกับพื้น เพราะขาไร้เรี่ยวแรง มันอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปหมดจนฉันตกใจ และเป็นอยู่บ่อยครั้งในปีที่สาม


ฉันกัดฟันลุกขึ้นยืน ไม่มีเวลานั่งร้องไห้ เพราะงานที่ฉันทำเป็นงานรับจ้างอิสระ มีช่วงเวลากำหนด ฉันต้องทำให้สำเร็จตามนั้น


แต่ภายในใจฉันยังนึกถึงคำพูดของนายแพทย์คนนั้นอยู่ทุกวัน...


ใครจะรู้ว่าความป่วยไข้ที่มาจากร่างกาย ภายนอกอาจดูเหมือนหายสนิม แต่ภายในยังบาดเจ็บ และที่แย่กว่านั้นคือมันกลายมาเป็นการป่วยไข้ทางจิตใจ เพราะความวิตกกังวล ไม่อยากเป็นภาระของใคร ไม่อยากให้พ่อกับแม่ต้องมาลำบากในการดูแล


ฉันไม่เคยทำงานตามที่พ่อแม่ต้องการ ดื้อรั้นมาตลอด ทำตามใจตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุพิการ ยังจะกลับไปเป็นภาระของเขาอีกหรือ


ฉันคงต้องเลือกระหว่างอยู่หรือตาย ถ้าวันนั้นมาถึง


(โปรดติดตามตอนต่อไป)