Skip to main content

นก สันติภาพ

คอลัมน์/ชุมชน

และแล้วสิ่งที่เฝ้าลุ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็เป็นจริง ต้องบันทึกไว้ว่าตัวแทนนักวิชาการ 22 คนจากทั่วประเทศได้ไปตามคำเชิญนายกฯ เพื่อพูดคุยกันถึงแนวทางการลดความขัดแย้ง ความรุนแรงด้วยสันติวิธี สิ่งที่คาดว่านายกฯจะพูดคือคำว่า " ขอโทษ " นั้นยากจริง ๆ ถึงวันนี้เราคงไม่ได้ยินแล้ว แต่ท่านก็เสนอความคิดใหม่คือ การพับนก 62 ล้านตัว เพื่อจะขนขึ้นเครื่องบินกองทัพอากาศ เอาไปโปรยบนท้องฟ้าของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าปิ๊งจากที่เหล่านักวิชาการ ได้มอบนกกระดาษให้ท่านวันไปนั่งคุยกันที่ทำเนียบ เมื่ออาทิตย์ที่ 14 พ.ย.47 ที่ผ่านมา


ฟังดูก็น่าจะดีที่ท่านนายกฯ คิดเรื่องสันติภาพ และสันติวีธี แต่การพับนกเอาไปโปรยน่าจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและสิ้นเปลืองการจัดการที่เสียเปล่า ไม่ได้ประโยชน์ แถมทำให้พี่น้องมุสลิมไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก เพราะ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่มีความหมายมากไปกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ และการน้อมเคารพคำสั่งสอนจากพระคัมภีร์ แล้วนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนมากกว่า ได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าพี่น้องมุสลิมที่ทำงานร่วมกันในเครือข่ายศาสนาเพื่อสันติภาพก็เห็นว่าการพับนกไม่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมนัก


เท่าที่สืบค้นดูพอรู้ว่า ทางองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดให้วันที่ 21 กันยายน เป็นวันสันติภาพสากล สัญลักษณ์คือ นกพิราบคาบกิ่งมะกอก ก็เลยไปค้นหาว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร นกเป็นความเชื่อของทั้งกรีก เอเชีย และยุโรป ในกรีก นกพิราบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและชีวิตใหม่ ในญี่ปุ่น นกคาบดาบ เป็นสัญลักษณ์ของการยุติสงคราม ในยุโรป หากมีคนตายในบ้านแล้วมีนกพิราบบนหลังคาแสดงว่า วิญญาณได้รับความสงบสันติ ในศาสนาคริสต์ ภาพวาดที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณบริสุทธิ์จะแสดงด้วยรูปนกพิราบบินอยู่เหนือรูปพระเยซู ที่โด่งดังมากที่สุดคือ รูปโปสเตอร์งานประชุมใหญ่ว่าด้วยสันติภาพเมื่อ ปี 1949 ที่ปารีส ออกแบบโดยศิลปินชื่อดัง ปาโบล ปิคาสโซ โดยใช้รูปนกพิราบ ทำให้นกเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่แพร่หลายในปัจจุบัน




นกเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพื่อชี้ชวนให้คนตระหนักเรื่อง " สันติภาพ " ซึ่งเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติพึงตระหนักถึงเสมอในชีวิต การพับนกทีละตัว ๆ คือการได้ทำสมาธิกับสิ่งที่เกี่ยวโยงกับสันติภาพ การทบทวนไตร่ตรองว่า ในชีวิตได้มีส่วนสร้างเสริมสันติภาพด้วย กาย วาจา ใจ เพียงใด ได้ละเลยความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัวหรือไม่ ได้ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยคำพูด การกระทำ เพียงใด แม้แต่การกระทำความรุนแรงต่อเนื้อตัว ร่างกาย ของตนเอง การทำร้ายร่างกายด้วยการเพิ่มสารพิษต่าง ๆ ให้แก่ร่างกายก็เป็นการเริ่มต้นยอมรับความรุนแรงอื่น ๆได้ง่ายขึ้น


การเสนอแนวทางพับนกเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องทำให้อลหม่านว่าจะขนไปโปรยเหนือจังหวัดภาคใต้ แต่เป็นการรณรงค์ให้พับสักคนละตัว โดยระหว่างที่พับให้ทบทวนว่าตนเองมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ หรือลดความรุนแรงได้อย่างไร จากนั้นก็หาที่เหมาะ ๆ แขวนไว้เตือนใจตนเองและผู้คนรอบข้างจะดีกว่า ขอร้องเถอะ


สืบเนื่องจากการคุยกันระหว่างนักวิชาการกับนายกฯ ที่ผ่านมา มีสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือการเห็นร่วมกันว่าน่าจะมีการตั้ง " คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ " ควรเป็นกรรมการที่มาจากองค์ประกอบทุกภาคส่วน ไม่ใช่เอาตัวแทนข้าราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่าง ๆ คนเหล่านี้ไม่มีเวลามาคิดได้อย่างเต็มที่ แค่วิ่งทำตามนโยบายก็เหนื่อยแล้ว ส่วนนักวิชาการก็ต้องพร้อมจะให้เวลาในการพัฒนาแนวทาง รูปแบบ ที่เหมาะสม และมีข้อเสนอเชิงรุกต่อการลดความรุนแรง เช่น ข้อเสนอต่อวิธีการทำงานของตำรวจ ทหาร ต่อการเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงว่า จะไม่สร้างความรุนแรงจนเสียเลือดเนื้อได้อย่างไร รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องสันติวิธีทุกรูปแบบ เอาเบื้องต้นช่วยชี้แนะนายกฯ เรื่องพับนก นี่แหละให้เป็นผลงานชิ้นแรก


ความสันติไม่อาจเกิดขึ้นได้หากประชาชนไม่มีสุขภาพที่ดีพอ สุขภาพในที่นี้ทั้งกาย ใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ หากรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างถ้วนหน้า เท่าเทียมกัน ไม่มีนโยบายที่จะทำให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวอย่างเพียงพอ การเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้แสดงออก ซึ่งความคิดเห็นและการดำรงชีวิตอย่างที่เขาเป็น การบีบบังคับด้วยวิธีสร้างกรอบให้อยู่ภายใต้กรอบ " วัฒนธรรมไทย " เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ทันสมัยกับยุคโลกไร้พรมแดน


คนรุ่นใหม่ที่มีเสรีภาพทางความคิด ควรให้มีเสรีภาพที่จะคิดว่าเขาจะรับผิดชอบสังคมอย่างไร คนมีเสรีภาพย่อมเข้าใจคำว่าสันติภาพได้มากกว่าคนที่ยึดติดต่อความรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่อาจยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คน " คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ " ต้องสร้างความเข้าใจต่อกันของประชาชนในชาติว่า การแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติ ความเชื่อ ประเพณีนิยม ที่ต่างกันนั้นเป็นหายนะของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


หลายคนรู้สึกว่า ตั้งกรรมการอีกแล้วไม่น่าจะได้ผล ดูอย่างกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งที่เป็นกรรมการภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังทำอะไรไม่ค่อยได้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องกะเทาะเปลือกดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรปฏิเสธคณะกรรมการอื่น ๆ ด้วย เพราะนายกฯ ก็เป็นคนเริ่มต้นเรื่องนี้ แต่คนที่จะทำให้เป็นจริงต่อไปได้คือสมาชิกของกรรมการชุดนี้นั้นเอง ที่ต้องสละเวลา แรงใจ แรงความคิด และความอดทนที่จะร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ในชาติขึ้นเป็นเรื่องระยะยาว แต่ไม่ยาวเกินไปหากเริ่มก้าวแรกวันนี้