Skip to main content

สัญญาไมตรีของสามกษัตริย์ (5)

คอลัมน์/ชุมชน




สกราชได้

638 ตัว (.. 1819/20) เจ้าพญามังรายอยู่เมืองเชียงราย คิดว่าแต่งอุบายให้อ้ายฟ้าไปปองเอาเมืองหริภุญไชย ก็ยังบ่ส่งข่าวมาให้รู้ ระหว่างนี้ควรไปปล้นเอาเมืองพูยาว (1)แล้วยกรี้พลเสนาโยธาไปเถิงที่เมืองเชียงรายต่อกับเมืองพูยาวชื่อว่าบ้านดาย(2)พญางำเมืองเจ้าเมืองพูยาวรู้ข่าวว่าพญามังรายยกรี้พลไป พญางำเมืองก็ยกรี้พลออกมาพบกันที่บ้านดาย แต่บ่รบกัน เหตุบ่มีเวรานุเวรแก่กันแต่ชาติก่อน พญาทั้งสองจึงได้กระทำไมตรีต่อกันแล้วเมือเมืองตน ในที่พญาทั้งสองจะรบกันแลบ่รบนั้นชื่อว่าราดบ้าน


ยังมีพญาร่วง

(3)เจ้าเมืองสุโขทัย เป็นมิตรรักกับพญางำเมือง ไปมาหาสู่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน พญาร่วงเทียวไปดำหัวยังแม่ของ (4)เอาช้างมาเป็นหมู่เป็นฝูงผ่านเมืองพูยาวไป หนทางที่พญาเอารี้พลแลหมู่ช้างม้าเทียวไปมานั้น ต่อมากลายเป็นแม่น้ำเรียกว่าแม่ร่องช้าง

เมื่อนั้น ยังมีนางพญางำเมืองผู้หนึ่งชื่อนางอัวเชียงแสน

(5)รูปโฉมงามนัก นางมีใจเคียดแก่พญางำเมือง เหตุเมื่อวันหนึ่งนางสู่ขวัญพญางำเมือง พญาทักว่าแกงอ่อมอร่อยดี ทว่าถ้วยกว้าง น้ำแกงมากไปหน่อย (6)นางเข้าใจว่าพญาว่าแก่ตน เคียดนัก บ่มาหาสู่พญางำเมืองที่เวียงเชียงสุม (7)นางยินดีมีใจฮักใคร่พญาร่วงอันเทียวมาดำหัวแลพักอยู่นอกเวียง พญาร่วงรู้ว่านางอัวเชียงแสนมีใจมักตน ก็ย่องไปนอนกับนางหลายครั้ง ภายหลัง พญางำเมืองรู้ว่าพญาร่วงมาสมสู่เมียตน จึงอุบายให้หาพญาร่วงมากินร่วมกัน พญาร่วงรู้ทัน บ่มา บอกว่าพญางำเมืองเป็นผู้น้อยกว่า

พญางำเมืองได้ยินคำพญาร่วง เคียดนัก ให้หาบ่าวชื่อหานบัง

(8) ให้ไปปองเอาพวกน้อย(9) ผู้หนึ่งเป็นหลานพญาร่วง ได้เรียนศาสตร์ศิลป์อาคมกับพญาร่วง หานบังไปปองได้มาถวายพญางำเมือง พญางำเมืองถามพวกน้อย พวกน้อยกล่าวไหว้พญาว่า พญาร่วงกับนางอัวคำเชียงแสนมักกัน ได้มาอยู่นอนด้วยกันแท้ พญางำเมืองถามว่า ครานี้บ่เห็นพญาเจ้ามึงมากับหมู่ช้างม้าบริวาร พญาเจ้ามึงเว้นไปทางใด หรือว่าปลอมตัว(10) เป็นอย่างใด พวกน้อยกลัวอำนาจพญางำเมือง บ่อาจโกหก จึงไหว้ว่า พญาร่วงรู้ตัวว่ามหาราชเจ้าคอยจักเอาตัว บางคราก็ขี่ช้างขี่ม้าปลอมปนมาในหมู่ บางคราแปลงตัวเป็นกวางคำไปก่อนหมู่ แล้วไปดำหัวยังแม่ของ

เมื่อนั้น พญางำเมืองให้หาอมาตย์ผู้หนึ่ง ชื่อท้าวมุงสลาด เจนจบด้วยศาสตร์ศิลป์มากนัก ให้ไปกับหานบัง ไปเรียนเอาศาสตร์ศิลป์ทั้งมวลกับพวกน้อยให้ได้ เพื่อเรียนอาคมให้รู้ว่าท้าวร่วงแปลงตนเป็นอันใด ยามนั้นท้าวร่วงแปลงตนเป็นกวางคำตามหมู่ผ่านมายังเมืองพูยาว ท้าวมุงกับหานบังร่ายมนต์แปลงเป็นหมาสองตัวไล่กวางคำ กวางคำแล่นแรงนัก ตามเอาบ่ทัน ท้าวร่วงแปลงเป็นรังต่อแขวนอยู่ปลายไม้สูงนัก ท้าวมุงกับหานบังไล่ไปทันแปลงเป็นรุ้งสองตัวใหญ่เข้าผ่าตีรังต่อฟุ้งย่อยลง ท้าวร่วงแปลงเป็นตุ่นตัวใหญ่ แล่นเข้าในรูใต้ต้นตืน

(ต้นต้อง หรือ ต้นกระท้อน) แล้วแล่นออกรู แปลงเป็นจอมปลวก แปลงชฎาที่สวมเป็นหย่อมหญ้าเหนือจอมปลวก ท้าวมุงกับหานบังร่ายมนต์แก้อาคมท้าวร่วง เพื่อบ่ให้แปลงตนต่อ จนได้พญาร่วงมาถวายแก่พญางำเมือง

พญางำเมืองสร้างคอกขังพญาร่วงไว้ข้างประตูเวียงเชียงสุมด้านอาคเนย์ พญางำเมืองให้แต่งอาสนะที่นอนให้แก่พญาร่วง ประตูนั้นได้ชื่อว่าประตูสุขใส

(11)ต่อมาเปลี่ยนเป็นประตูสบใส เมื่อนั้น พญางำเมืองรำพึงว่า กูจักฆ่าท้าวร่วงกับเมียกูเสียก็ได้ แต่ก็เท่ากับว่าเมืองใต้ (12) กับเมืองกู จักเป็นเวรกันสืบไป บ่ควรกูจักฆ่า เมียกูเองก็ร้าย ครั้นกูจักปรับสินไหมพญาร่วงเอง ก็บ่ควร ควรกูไปไหว้สหายเจ้าพญามังรายผู้มีบุญสมภารแลปัญญาอันฉลาด แล้วพญางำเมืองให้เอาบรรณาการไปถวายแก่พญามังรายให้มาช่วยชำระโทษ

เมื่อนั้น พญามังราย คำนึงว่า หากกูบ่ไป พญาทั้งสองจักเป็นเวรแก่กันมากนัก ส่วนจักให้พญาร่วงผู้มีโทษให้เสียสินไหม มันก็เป็นพญามีอานุภาพมากนัก ก็จักละอาย อีกอย่างหนึ่งพญาสรีสุธัมมราชนครหลวง

(13) กับพญาสรีอยุทธิยา ซึ่งเป็นญาติพญาร่วงก็จักเป็นเวรแก่สหายกูเจ้าพญางำเมือง ควรกูไประงับเวรแก่สหายกูเจ้าพญางำเมืองแลพญาร่วงให้หายกังวล

แล้วพญามังรายพร้อมบริวารมากนักมายังเมืองพูยาว ตั้งทัพอยู่ในที่ควร พญางำเมืองออกมาต้อนรับยินดีนักด้วยสหายมา แล้วแต่งบรรณาการของฝากมาถวายพญามังราย เล่าโทษพญาร่วงให้ฟัง พญามังรายกล่าวว่า ท้าวร่วงนี้ได้น้ำมุทธาภิเสกในเมืองสุโขทัยแล้ว สหายจงเอาท้าวร่วงมา เราจักพิจารณาตามคุณแลโทษ พญางำเมืองก็ให้ไปเอาท้าวร่วงออกมากระทำสัจจะต่อหน้าพญามังราย ท้าวร่วงก็ยอมรับว่าได้มักเมียพญางำเมืองแท้


พญามังรายทำอุบายให้พญาร่วงกับพญางำเมืองยินดีซึ่งกัน แล้วแต่งให้ท้าวร่วงขอขมาพญางำเมืองเป็นเบี้ยเก้ารุงเก้ารวง

(14) เป็นคำไทยว่า 990,000 เบี้ย ท้าวร่วงยินดีด้วยกับคำพญามังราย จึงขอขมาพญางำเมืองให้หายเวร พญามังรายทำให้พญาทั้งสองมีราชไมตรีสนิทติดต่อกันยิ่งกว่าเก่า พญางำเมืองจึงแต่งเครื่องบูชาพญามังรายมากนัก แล้วให้เล่นมหรสพยังหาดทรายขุนพู 3 วัน 3 คืน ให้แต่งปูอาสนะ 3 อันริมฝั่งน้ำขุนพู (15) พญาทั้งสามนั่งอิงฝั่งแม่น้ำแม่ขุนพูดูมหรสพ แล้วพญามังรายก็ตั้งปฎิญาณตั้งสัจจะต่อกันว่า แต่นี้ไปเราทั้งสามพญานี้ จุ่งให้มีคำสัจจะซื่อต่อกันตราบสิ้นชีวิต ผู้ใดปากว่ารักแต่ใจบ่ซื่อ จุ่งหื้อมันผู้นั้นฉิบหายจากราชสมบัติด้วยอันตรายต่างๆ

แล้วให้เอามีดมาแทงมือกันทั้งสามพญาเอาเลือดสู่กันกิน กระทำไมตรีกันในแม่น้ำขุนพูนั้นแล แม่น้ำนี้ คนทั้งหลายเรียกว่าแม่อิงมาจนบัดนี้ พญามังรายก็อำลาพญาทั้งสองเมือสู่เมืองตนเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงราย


เมื่อนั้น บ่าวท้าวร่วงก็เมือเอาเบี้ยเก้ารุงเก้ารวงคือ

990,000 เบี้ย มาเป็นสินสมาแก่พญางำเมือง พญางำเมืองกับพญาร่วงมีความรักกันยิ่งกว่าเก่า ท้าวร่วงได้สอนศาสตร์ศิลป์อาคมแก่พญางำเมืองในวังแม่น้ำอิงชื่อวังคำ ภายหลังเรียกว่าวังกำ

***

ภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่ จาก www.thaitransport-photo.net

----


สรุปถอดความจากหนังสือ

"ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ซิลค์เวิอร์มบุ๊คส์ 2543

คำอธิบายเพิ่มเติมโดยอรุณรัตน์



1

พูยาว พระยาว และภูกามยาว ปัจจุบันคือเมืองพะเยา ดู พระราชวิสุทธิโสภณ ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา ตำนานเมืองเชียงแสน และอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว (ปริวรรต) ตำนานพื้นเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ

2
ปัจจุบันปรากฏชื่อบ้านดาย ห่างเมืองเชียงรายไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร ไม่มีหลักฐานระบุว่าเป็นบ้านเดียวกันหรือไม่

3 พญาร่วง ในที่นี้คือพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์เมืองสุโขทัย
(ปกครองระหว่าง พ.. 1822-1842)

4 ดำหัว หมายถึงสระผม ชาวล้านนาเชื่อว่า การสระผมในแม่น้ำในวันสงกรานต์

(วันที่ 13 เมษายน หรือ วันสังขารล่อง) ที่เรียกว่า "สระเกล้าดำหัว" จะชำระล้างความโชคร้ายให้ไหลไปตามน้ำ ปัจจุบันยังถือปฏิบัติอยู่ พญาร่วงอาจจะเสด็จมาสรงพระเกศาที่แม่น้ำโขงในเทศกาลสงกรานต์ ชาวสุโขทัยโบราณรู้จักแม่น้ำโขงดี ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึก หลักที่ 1 ที่ว่า "น้ำในเมืองสุโขทัยนี้ สีใสกินดี ดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง" ดู "จารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2," ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 หน้า 20

5 คำว่า
"อัว" หรือ "อั้ว" เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อลูกหญิงคนที่ 5 ของครอบครัว เข้าใจว่าเป็นเจ้าหญิงจากเชียงแสน เมื่อมาเป็นนางพญาของพญางำเมือง นางมิได้พำนักอยู่ในเมืองพะเยา แต่ออกมาพำนักอยู่ที่เวียงเชียงสุมนอกเมืองพะเยา ตำนานเขียนว่า นางประกอบอาหารไว้ต้อนรับพญางำเมือง แต่พญาได้ตรัสเชิงตำหนิ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีนัยเชิงเสียดสีหรือมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในทางลบ ดังความที่ว่า "นางพญามาสู่ขวัญกูปางนี้ แกงอ่อมลำดี เท่าว่าถ้วยกว้าง น้ำแกงมากไปหน้อย 1" นางไม่น่าจะโกรธและไม่พอใจมาก ถ้าคำกล่าวข้างต้นไม่มีนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น ตามกฎหมายล้านนาโบราณเขียนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาจะสิ้นสุดลง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความรักความอาลัย หรือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ในที่นี้นางอัวเชียงแสนไม่มีใจรักเยื่อใยต่อพญางำเมือง และนางได้เลิกติดต่อกับพญางำเมือง แล้วไปมีความสัมพันธ์กับพญาร่วง ในยุคสมัยนั้นการกระทำเช่นนี้พระนางอาจจะผิด หรือไม่ผิดไม่ทราบแน่ชัด แต่พระนางก็ไม่ถูกลงโทษแต่อย่างใด ดู พระราชวิสุทธิโสภณ อรรถคัมภีร์แห่งพุทธโฆษาจารย์ สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ คลองเจือพญากือนา อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และลมูล จันทน์หอม ประชุมกฎหมายครอบครัว

6 ดู
David K. Wyatt, The Nan Chronicle (ตำนานพื้นเมืองเมืองน่าน) หน้า 43-44

7 เมืองเชียงสุม อาจจะเป็นเมืองหนึ่งในจำนวนหลายเมือง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกว๊านพะเยา ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ
(บรรณาธิการ) เมืองพะเยา หน้า 68-69

8 หาน หรือ หาญ เป็นตำแหน่งทหาร หรือ หมายถึง ผู้กล้าหาญ


9 พวกน้อย เป็นตำแหน่งขุนนางที่โดยเสด็จของกษัตริย์หรือเจ้านาย
"พวก" เป็นกลุ่มขุนนางที่มีความสามารถหรือหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น พวกแต้ม (จิตรกร) พวกหงส์ (พวกทำหงส์เพื่อตกแต่งงานก่อสร้าง) พวกหน้าไม้ (นายธนู) พวกดาบ พวกฆ่าคน ฯลฯ

10 เชื่อกันว่า คนที่มีคาถาอาคม จะสามารถแปลงร่างเป็นสัตว์หรือสิ่งของต่างๆได้


11 น่าจะเป็นประตูเมืองเก่าประตูหนึ่งของเมืองพะเยา


12 เมืองใต้ หมายถึงเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ ในที่นี้ หมายถึงเมืองสุโขทัย โดยทั่วไปคำว่า

"เมืองใต้" ในทัศนะของคนล้านนานั้นหมายถึงเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ เช่น สุโขทัย อยุธยา หรือ กรุงเทพฯ

13 คือเมืองนครศรีธรรมราช


14 เบี้ยหรือหอยชนิดหนึ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนแทนเงินตราสมัยโบราณ เบี้ยชนิดเดียวกันนี้ นำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ในที่นี้นำมาร้อยเป็นพวงเรียกว่า

"เบี้ยลุน" จำนวน 9 พวง ถือเป็นเครื่องขอขมา หรือแทนค่าปรับ ดู อุดม รุ่งเรืองศรี พจนานุกรมล้านนา-ไทย

15 ชื่อเดิมของแม่น้ำอิง ไหลผ่านกว๊านพะเยาแล้วมาบรรจบแม่น้ำโขงที่

"สบอิง" อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย