Skip to main content

เก(ย์)จิของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง

คอลัมน์/ชุมชน


ถ้าไม่มีเขาคนนี้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ คงไม่ได้เป็นผู้นำการต่อสู้อย่างสันติวิธีที่โลกรู้จักกันในทุกวันนี้


เขาคนนี้ชื่อ ไบอาร์ด รัสติน เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองด้วยสันติวิธี ไม่ค่อยมีใครรู้จักไบอาร์ดเท่าไร เพราะในสมัยนั้นขบวนการเพื่อสังคมเองก็ยังมีความเป็นโฮโมโฟเบียอยู่มาก เกย์ที่เปิดเผยตัวเองอย่างแจ่มแจ้งอย่างไบอาร์ดจึงถูกต้อนไปอยู่หลังฉากเสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดด้านสันติวิธีและกลยุทธ์การต่อสู้ของขบวนการสิทธิพลเมืองและของ ดร. คิง


ไบอาร์ดเกิดเมื่อปี ค.. 1912 ในเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เขาเป็นคนที่เก่งทั้งการเรียน การกีฬาและดนตรี เคยเข้าเรียนในหลายสถาบันแต่ก็ไม่จบปริญญาจากสถาบันใดเลย ไบอาร์ดซึมซับกับแนวคิดและวิถีชีวิตอย่างสันติของพวกเควกเกอร์มาตั้งแต่เล็ก (พวกเควกเกอร์นี้มีชื่อเสียงด้านสันติวิธีมาก พวกนี้ปฏิเสธทั้งการเป็นทหารหรือการเสียภาษีให้รัฐนำไปใช้ในด้านการทหาร) หลังจากการเข้าร่วมอบรมการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมจากองค์กรของเควกเกอร์ในปี 1937 ไบอาร์ดก็เริ่มชีวิตการเป็นคนทำงานเพื่อสังคมและทำไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต


ในช่วงแรกเขาเข้าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยทำงานด้านการต่อต้านการเหยียดผิวและต่อต้านสงคราม แต่หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอเมริกาเปลี่ยนจุดยืน ไบอาร์ดก็ลาออกจากพรรคในปี 1941 และเริ่มทำงานกับเอ ฟิลิป แรนดอล์ฟ ผู้ทำงานเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิพลเมืองคนสำคัญของอเมริกา และพร้อม ๆ กันนั้นก็เริ่มงานกับองค์กร Fellowship of Reconciliation (FOR) หน้าที่รับผิดชอบของไบอาร์ดก็คือเดินทางให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศในเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติ ในชีวิตช่วงนี้ไบอาร์ดหันมาเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตยและเริ่มวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์


ไบอาร์ดเป็นผู้ที่ยึดมั่นในการใช้สันติวิธี ตัวเขาจึงไม่ไปเกณฑ์ทหาร และปฏิเสธแม้แต่การทำงานทดแทนการเกณฑ์ทหารที่ทางการจัดไว้ให้เฉพาะสำหรับพวกเควกเกอร์และศาสนิกผู้ยึดถือสันติวิธีอื่นๆ ผลก็คือเขาถูกจับเข้าคุกอยู่ 3 ปี สำหรับไบอาร์ดแล้วนี่เป็นวิธีการประท้วงสงคราม และนี่เป็นเพียงหนึ่งในจำนวน 20 กว่าครั้งในชีวิตการทำงานเพื่อสันติภาพที่เขาต้องเดินเข้าตาราง


เขาเริ่มงานต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวทางตอนใต้ของสหรัฐในปี 1947 ในสมัยนั้นการเดินทางข้ามรัฐด้วยรถไฟหรือรถบัสยังมีการแบ่งแยกสีผิวอยู่ ไบอาร์ดและพวกจงใจแหกกฎหมายด้วยการเข้าไปนั่งปะปนกับคนผิวขาว ผลก็คือเขาถูกจับเข้าคุกอีก อย่างไรก็ดีการเดินทางนี้เป็นต้นแบบของการประท้วงการแบ่งแยกสีผิวที่เรียกว่า Freedom Rides ในช่วงทศวรรษที่ 60


ไบอาร์ดไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อความยุติธรรมในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่เขายังเดินทางไปอินเดียขณะที่ยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อเรียนรู้แนวคิดและการต่อสู้โดยสันติวิธีของคานธี เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อกลับมายังสหรัฐเขาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนให้อินเดียเป็นเอกราช เขาใช้วิธีของคานธีในการประท้วงจักรวรรดิอังกฤษในแอฟริกา และแน่นอนว่าเขาก็ถูกจับเข้าคุกบ่อยครั้งเช่นเดียวกับคานธี ในปี 1951 เขาก่อตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรีของกานาและไนจีเรียซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชจากอังกฤษ


กลับมาที่บ้านของไบอาร์ดเอง ในปี 1953 เขาถูกจับเพราะมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ข้อหานี้ทำให้ FOR ปลดเขาออกจากงาน การถูกจับครั้งนี้ทำให้หลังจากนั้นผู้ที่เป็นคู่อริกับเขายกเรื่องนี้ขึ้นมาหาเรื่องเขาอยู่เสมอ ผนวกกับเรื่องที่เขาเคยเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ไบอาร์ด รัสติน ไม่สามารถเคลื่อนไหวออกหน้าได้อย่างผู้นำคนอื่น ๆ


ไบอาร์ดเริ่มงานกับ ดร.คิง ในปี 1956 ขณะที่คนผิวดำเริ่มประท้วงการแบ่งแยกผิวบนรถโดยสารในมอนต์โกโมรี่ ขณะนั้นดร.คิง เป็นนักเทศน์หนุ่มอายุเพียง 27 ปี ยังอ่อนประสบการณ์การต่อสู้ เขาขึ้นมาเป็นผู้นำการประท้วงเพราะคนอื่น ๆ ไม่มีใครอยากลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ มีเรื่องเล่าว่าในที่ประชุมคัดเลือกผู้นำ ดร.คิงออกไปซื้อแซนด์วิชให้กับคนในที่ประชุมเพราะเขาอายุน้อยที่สุด เมื่อซื้อกลับมาเขาก็ได้รับแจ้งว่าเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำแล้ว ตัวดร. คิงจึงต้องรับบทนี้ไปโดยที่ไม่ได้มีสิทธิในการตัดสินใจด้วยเลย เมื่อเทียบกันแล้วไบอาร์ด รัสติน เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า เขาเชี่ยวชาญการวางแผนการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีชั้นเลิศ และถูกจับเข้าคุกมาหลายหนแล้ว


การประท้วงของคนผิวดำถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากคนขาว บ้านของดร. คิงเองยังโดนระเบิดขว้างใส่ แต่โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร ขณะนั้นดร.คิงและผู้นำคนอื่นๆ ยังไม่ได้ใช้สันติวิธีอย่างถึงที่สุด หน้าบ้านของดร. คิง ยังมียามติดอาวุธยืนเฝ้า และในบ้านเองก็มีปืนไว้ป้องกันตัว เมื่อไบอาร์ด รัสติน เดินทางมาถึงและเห็นการติดอาวุธเช่นนี้ เขาพยายามสอนดร.คิง ว่าการต่อสู้อย่างสันติวิธีนั้นเป็นเช่นไร และการติดอาวุธก็ไม่ได้ช่วยให้เราปลอดภัยขึ้นแต่อย่างใด ไบอาร์ดพยายามชักจูงผู้นำคนอื่นๆ ให้ใช้สันติวิธีอย่างถึงที่สุดตามแบบอย่างของคานธี นั่นก็คือการไม่ทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม แต่ตัวเราจะเป็นผู้ที่ยอมรับผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคู่กรณีของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับกุม หรือถูกทำร้ายร่างกายก็ตาม


ไบอาร์ดอยู่เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งนั้นและคอยสอนดร.คิงในเรื่องทฤษฎี กลยุทธ์ และวิธีการต่อสู้อย่างสันติวิธี การประท้วงดำเนินไปถึงปีกว่า ในที่สุดฝ่ายดร.คิงก็ได้รับชัยชนะ เป็นผลให้รถเมล์สาธารณะของมอนต์โกโมรี่ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


หลังจากการต่อสู้ครั้งนั้นไบอาร์ดยังเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้ดร. คิงต่อไป บางครั้งเขาเป็นคนร่างสุนทรพจน์ให้ดร.คิง บางครั้งก็เป็นคนตรวจปรู๊ฟให้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เขาเป็นผู้ที่ทำให้ดร. คิงยึดมั่นในวิถีการต่อสู้อันสันติ ไบอาร์ดมีส่วนร่วมอยู่ในแทบทุกการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองที่สำคัญ ๆ ในทศวรรษที่ 50


ปี 1963 ไบอาร์ด รัสติน เป็นคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเดินขบวนเพื่องานและอิสรภาพไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี ของขบวนการสิทธิพลเมือง แม้ว่า ดร. คิงและเอ ฟิลิป แรนดอล์ฟจะผลักดันให้ไบอาร์ดขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการการเดินขบวนครั้งนั้น แต่คนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย เพราะไบอาร์ดเคยเป็นคอมมิวนิสต์และเคยถูกจับกรณีรักร่วมเพศและกรณีอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ขบวนการถูกโจมตีได้ง่าย เอ ฟิลิป แรนดอล์ฟจึงขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการแทน และมอบหมายให้ไบอาร์ดเป็นผู้ช่วย


งานนี้ใช้เวลาเตรียมการน้อยกว่า 60 วัน แต่เป็นเหมือนจุดสูงสุดของขบวนการสิทธิพลเมือง มีผู้เข้าร่วมทั้งคนดำและคนขาวกว่า 250,000 คน ซึ่งขณะนั้นนับว่าเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และในครั้งนี้เองที่ ดร.คิงกล่าวคำสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ "I have a dream" ที่ประทับอยู่ในใจคนทั่วโลกจนตราบทุกวันนี้


หลังจากนั้นไบอาร์ดยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อสังคมต่อไป เขามีวิสัยทัศน์ว่าหลังจากที่คนดำได้รับกฎหมายที่ให้สิทธิพลเมืองเท่าเทียมกับคนขาวแล้ว ปัญหาหลักที่จะตามมาก็คือปัญหาสิทธิด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นเขาจึงขับเคลื่อนองค์กรแรงงานของคนดำให้สามารถต่อรองด้านนโยบายกับรัฐบาลได้ ในยุคสงครามเวียดนาม ไบอาร์ดเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรับทราบความทุกข์ของ "มนุษย์เรือ" ผู้อพยพทางเรือที่มาจากเวียดนาม เขากลับไปสหรัฐและทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจความทุกข์ยากของมนุษย์เรือเหล่านี้ ปี 1980 เขาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมเดินในขบวนธรรมยาตราเพื่อสันติภาพไปยังกัมพูชา ไบอาร์ดยังคงทำงานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในแอฟริกาใต้เรื่อยมา


และเมื่อยุคของขบวนการเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกามาถึง ไบอาร์ดก็เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนขบวนการนี้ ในช่วงท้ายของชีวิตเขาให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งเกี่ยวกับอคติต่อเกย์ที่เขาต้องเผชิญมาตลอดชีวิตการทำงาน เขาได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกขององค์กรเกย์และเลสเบี้ยนอยู่เสมอ รวมทั้งให้การสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันของรัฐนิวยอร์คด้วย


ไบอาร์ด รัสติน เสียชีวิตเมื่อปี 1987 เขาได้ทิ้งตำนานและแบบอย่างของเกย์คนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมไว้เบื้องหลัง


ข้อมูลประกอบการเขียนจาก
www.rustin.org
www.stanford.edu/group/King/
สารคดีเรื่อง Brother Outsider