Skip to main content

รวมเรื่องสั้นชุด "พญาอินทรี" : งดงามแต่...

คอลัมน์/ชุมชน

อานิสงส์จากปรากฏการณ์พลาดรางวัล "พานแว่นฟ้า" ในปี 2548 ของเรื่องสั้น "พญาอินทรี" ส่งให้ชื่อของ "จรัญ ยั่งยืน" ผู้เขียนเรื่องสั้นชิ้นนี้กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมาทันที และเมื่อนำเรื่องสั้นชิ้นนี้มารวมเล่ม คุณจรัญ ยั่งยืน จึงไม่พลาดที่จะเปรยไว้ในคำนำว่า

"..เมื่อข้าพเจ้านำส่งประกวดรางวัล พานแว่นฟ้า ซึ่งจัดโดยองค์กรที่คิดว่าน่าจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด นั่นคือสำนักเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร จนสามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายได้และมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า พญาอินทรี สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ พลันได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาอีกเมื่อนักการเมืองผู้ทำหน้าที่ประธานการตัดสินรางวัลกลับพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อตัด พญาอินทรี ทิ้งไปจากรายชื่อของเรื่องสั้น 12 เรื่องที่สมควรได้รับรางวัล ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา เช่นใช้คำไม่เหมาะสม ให้นักการเมืองพูดกูมึง ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทำได้สำเร็จ"


เช่นเดียวกับที่ "ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์" ผู้ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่พลาดรางวัลพานแว่นฟ้าในโอกาสเดียวกัน ก็ใช้โอกาสนี้เข็นนวนิยายขนาดสั้น "กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด" เข้าสู่รอบสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรท์ โดยนำเรื่องสั้นที่เคยพลาดรางวัลพานแว่นฟ้ามา "ขยาย" และนำคำตัดสินของกรรมการบางท่านมาอ้างอิงโฆษณาถึงสรรพคุณชนิดอ่านแล้วน่าขนลุกขนพอง

ด้วยความที่ผู้เขียนรวมเรื่องสั้นชุด "พญาอินทรี" เป็น "คนใน" ในเครือของ "มติชน" ชื่อของ "จรัญ ยั่งยืน" จึงได้รับแรงบวกหนุนส่งจากหลายด้านจนในที่สุด รวมเรื่องสั้นชุด "พญาอินทรี" ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปีพ.. 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ


อย่างไรก็ตาม คุณ "จรัญ ยั่งยืน" ก็เหมือนกับนักเขียนอีกคนหลายคนในยุคนี้ที่พยายามแจ้งเกิดด้วยการประกวดตามเวทีน้อยใหญ่ต่าง ๆ ดังนั้นเรื่องสั้นหลายเรื่องในงานชุดนี้จึงมีที่มาจากการส่งเข้าประกวด ไม่ว่าจะเป็นรางวัล พานแว่นฟ้าที่ได้กล่าวถึงข้างต้น รางวัลเนชั่นบุ๊คอะวอร์ด รางวัลชีวจริยธรรม(ซึ่งเข้าใจว่ายกเลิกไปแล้ว)


รวมเรื่องสั้นชุดพญาอินทรีประกอบด้วยเรื่องสั้น ทั้งหมด 10 เรื่อง หน้าปกโปรยไว้ว่า "10 เรื่องสั้นชั้นดี มุมมองแห่งชีวิตและสังคม สะท้อนการเมืองและวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสั้น"


ในสังคมที่กำลังโหยหาความเป็นเอกภาพ น่าสนใจที่การเมืองและวิทยาศาสตร์ถูกจับให้เข้ามาอยู่คู่กัน แต่เอาเข้าจริงแล้วเรื่องสั้นที่เข้าข่าย "วิทยาศาสตร์" ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้นั้นมีเพียงเรื่องเดียวคือเรื่อง "กาเหว่า"


คำนำสำนักพิมพ์บอกเกี่ยวกับเรื่องสั้นชุดนี้ว่า "แนวเรื่องสั้นของ จรัญ ยั่งยืน มักเป็นการสร้างโลกไม่เหมือนจริง สังคมบิดเบี้ยว โลกจำลองและสังคมจำลอง แต่จิตใจผู้คนเป็นรูปแบบเดียวกันกับผู้คนในสังคมร่วมสมัย เจ็บป่วยเหมือนกัน โลภโมโทสัน เช่นกัน ผลักไสและเห็นแก่ตัวดุจกัน แม้เขาจะสร้างโลกที่โหดร้าย สังคมที่ซับซ้อนขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้มองโลกอย่างที่มันเป็นอยู่หรือปล่อยให้มันเป็นไป เขามีใจหวังดี อยากให้สังคมกำเนิดสิ่งที่ดีขึ้น บทสุรปสุดท้ายของเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องจึงเปิดทางออกไว้สำหรับโลกใบใหม่ที่งดงาม"


การ "เปิดทางออกไว้ให้กับโลกที่งดงาม" อาจจะกลายเป็นปัญหาหรือเป็นเพียงการฝันเฟื่องหากการนำเสนอถึงปัญหาและวิธีการวิเคราะห์ไม่ลุ่มลึกพอ ดังเช่นที่ปรากฏในเรื่องสั้นพญาอินทรีซึ่งถือเป็นเรื่องสั้นเอกของรวมเรื่องสั้นชุดนี้


เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงตัวละครที่เป็นนักการเมืองซึ่งใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่บ้างและความจำไม่สั้นนักก็จะนึกได้ว่า "บทเปิด" ของเรื่องสั้นเรื่องนี้นั้นเหมือนกับข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์ของรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตยา


นักการเมืองผู้นี้ถูกเปรียบเหมือนพญาอินทรีที่มีความเฉลียวฉลาด สายตาคม "ผมนึกย้อนนึกถึงคำพูดของพ่อผู้ล่วงลับ เขาเคยบอกว่าผมถือกำเนิดในช่วงที่ดาวอาทิตย์-ราชาแห่งจักรวาลกำลังเปล่งประกายแสงเจิดจ้า จึงตั้งชื่อว่าพญาอินทรี เพราะว่ามันเป็นพญานกคู่กายของราชาแห่งจักรวาลซึ่งพ่อตั้งได้ไม่ผิดจากตัวตนของผมนัก ให้รู้สึกรักและผูกพันกับชื่อนี้ มันช่วยขับบารมีให้เจิดจรัสคับบ้านคับเมือง" (หน้า 19)


รัฐมนตรีผู้นี้ใช้ตำแหน่งและกลเม็ดต่าง ๆ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าและตอบโต้ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็งสำหรับฝ่ายตรงข้าม "หากมีใครแข็งขืนผมก็พร้อมจะใช้ไม้แข็งตอบ ใครที่เขียนข่าวโจมตีน่าเกลียด ผมก็ให้ทนายโทรไปขู่บ.. มัน" (หน้า 21)


อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดนักการเมืองผู้นี้ก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย ผลกรรมจากการทุจริตคอรัปชั่นตามทันในเวลาอันรวดเร็ว เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 30 ปี จากข้อหารับสินบนและถูกยึดทรัพย์หลายพันล้าน


ทางออกของเขาคือการหลบหนี แต่แล้ววันหนึ่ง เขากลับถูกตำรวจจับอย่างง่ายดายในสวนสาธารณะหลังคอนโดมิเนียมที่พักอยู่


"บัดนี้นายอินทรี ไพรีราบไม่ใช่พญาอินทรี นักล่าน่าครั่นคร้าม แต่เป็นนกเจ็บปางตายที่ต้องหลบปีกซุกซ่อนในซอกมุมทึบอับ จิตใจหวาดกลัวหวั่นเกรงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนกหนู หนอนหรือแม้แต่เสียงลมหวีดหวิว" (หน้า32)


เพียงชั่วเวลาไม่กี่หน้าของการบรรยาย เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง พญาอินทรี ได้กลายเป็นนกกระจิบ ไปอย่างง่ายดายด้วยการ "เสก" ของผู้เขียน นี่เป็นการ "เปิดทางออกไว้สำหรับโลกใบใหม่ที่งดงาม" หรือเป็นการฝันเฟื่องกันแน่ ? คนที่ได้ชื่อว่าเป็นพญาอินทรี มีลูกเล่นแพรวพราว ประสบการณ์โชกโชน จะถูกจับได้ง่ายดายขนาดนี้เลยหรือ ?


เรื่องสั้นซึ่งเป็นเรื่องสั้นเอกในชุดนี้ จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการเทศนาถึงกฎแห่งกรรมประเภท "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" แม้ว่าจะเก่งกาจดุจพญาอินทรีก็ตาม และก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องในชุดนี้ซึ่งแม้ว่าอ่านแล้วจะจรรโลงใจ งดงาม แต่ก็ธรรมดาเหลือเกินสำหรับโลกพ..นี้