Skip to main content

รู้น้อย Vs. รู้แยะ

คอลัมน์/ชุมชน

มีรุ่นน้องคราวลูกเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารผู้ชายฉบับหนึ่งได้โทฯมาถามเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารในสังคมไทย ผู้เขียนบอกว่าเรื่องนี้น่าสนใจและยินดีให้ความเห็นและข้อมูลด้านวิชาการ แต่จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คนบางคนคิดอยู่และอยากให้เป็น เพราะอยากจะบอกว่าการมองกรณีนี้ในมุมเดียวทำให้ไม่เกิดปัญญาเท่าไรนัก รุ่นน้องผู้นี้เห็นด้วย จากนั้นก็ได้มีการตีพิมพ์สิ่งที่ผู้เขียนแจ้งไปและผู้เขียนเองก็ได้รับนิตยสารเล่มนั้นเป็นอภินันทนาการ จึงได้มีโอกาสได้อ่านงานของรุ่นน้องคนนี้ ในงานชิ้นนี้มีมุมมองและความเห็นของผู้รู้ท่านอื่นๆ ด้วย

สิ่งที่ผู้เขียนอ่านนั้นมีภาพที่ค่อนข้างแบน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีของความเป็นคอลัมนิสต์ที่พยายามประมวลเนื้อหาในแง่มุมต่างๆ มากกว่าหนึ่งมุม หรือ สองมุม น่าเสียดายที่ว่ารุ่นน้องผู้นี้ไม่ได้รับการฝึกฝนในเรื่องระบบการคิดที่เป็นระบบ แต่หากเพราะใจรัก จึงทำให้งานนี้น่าอ่านมากกว่าหลายๆงานของคอลัมนิสต์อื่นๆ จากนั้นผู้เขียนได้โทฯไปขอบคุณที่ส่งมาให้อ่าน และให้ความเห็นในเรื่องงานนี้ไป พร้อมเน้นว่ารุ่นน้องผู้นี้เขียนได้ดีแล้ว ขาดเพียงแค่พื้นในการคิดที่เป็นระบบ ซึ่งรุ่นน้องผู้นี้ยอมรับอย่างจริงใจและน้ำเสียงตื่นเต้นว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง แล้วถามต่อว่าจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร ผู้เขียนบอกว่าอาจต้องเรียนในระบบล่ะกระมังเพราะอาจง่ายกว่าไปฝึกเอง รุ่นน้องจึงตอบว่าอยากทำแต่ตอนนี้ไม่พร้อมเอาเสียเลย แต่จะเก็บไว้ในรายการในสิ่งที่ต้องทำต่อไปในชีวิต


การรู้น้อยหรือรู้แยะไม่ใช่ประเด็นเท่าไรนัก แต่การเปิดใจตนเองว่าไม่รู้ หรือว่าต้องรู้ต่อไปเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เขียนชอบที่จะฟังคนเล่าเรื่อง เล่าความคิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อด้วย หากแต่ต้องฟัง คิดและพิจารณาต่อไป หลายครั้งได้เรียนรู้บางอย่างจากคนรอบข้างที่ไม่ได้คาดคิด


เมื่อวานนี้ (19 กันยายน) ผู้เขียนไปสอนเรื่องความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมกับ(การสร้าง)ทฤษฎี ในสถาบันแห่งหนึ่งเพราะผู้ใหญ่ขอมา เป็นเพราะว่ามีความสนใจในประเด็นมาแต่ไหนแต่ไร และใช้ทำมาหากินในระดับหนึ่ง มีเอกสารที่ฝรั่งเขียนและที่ตนเองเขียนประกอบกัน ที่ฝรั่งเขียนนั้นเป็นกรอบใหญ่ เพราะว่าเนื้อหาวิชาพวกนี้ฝรั่งเค้าเริ่มก่อน ส่วนที่ตนเองเขียนทั้งไทยและอังกฤษเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นประเด็นชัดเจนขึ้น


เอกสารทั้งหมด 6 ชิ้น 2 ชิ้นแรกเป็นภาษาอังกฤษที่ฝรั่งเขียน 3 ชิ้นหลังเป็นภาษาอังกฤษที่เขียนเอง ชิ้นสุดท้ายเขียนเองเป็นภาษาไทย ผู้เรียนบอกว่าอ่านชิ้นภาษาไทยหมด แต่ชิ้นอื่นๆ ไม่ได้อ่านหรืออ่านก็แค่ผิวๆ แม้ว่าจะไม่น่าปลื้มนัก แต่ก็ดีใจนิดที่ว่า แต่ละคนไม่ปดและรับสภาพว่าไม่อ่าน จึงบอกไปว่าน่ารักมากแต่จะน่ารักมากขึ้น ถ้ามีเวลาเมื่อไรก็อ่านให้หมดๆ ไม่ว่าจะอ่านแล้วรู้เรื่องแค่ไหน ขอให้อ่านไปเรื่อยๆ เพราะแม้ผู้เขียนจะเรียนจบมาเป็นสิบปีแล้วก็ตาม หลายเรื่องก็เพิ่งมาเข้าใจจริงๆเมื่อไม่นานมานี้ หลายเรื่องป่านนี้ก็ยังไม่เข้าใจ และหลายเรื่องที่คิดว่าเข้าใจเมื่อตอนเรียนอยู่ มาตอนนี้รู้สึกว่าไอ้ที่ว่ารู้นั้น ไม่ได้รู้อะไรเลย ตอนนี้รู้ไปอีกแบบหนึ่ง


ผู้เรียนได้ยินแล้วบอกว่ามีกำลังใจขึ้นมาก รู้สึกไม่ท้อ อยากสู้ต่อไป เราได้คุยกันมากกว่ามาอ่านบทความให้ฟัง สมัยผู้เขียนเด็กๆ จะมีความคิดอีกแบบหนึ่งคือ อยากยัดให้ผู้เรียนมากๆอย่างที่ตนเองคาดหวังจากผู้สอน ตนเองจึงชอบอัดๆให้หมด แต่ปรากฏว่าการเรียนการสอนแบบนั้นน่าเบื่อมาก มีอาการเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา การเป็นผู้บรรยายรับเชิญจึงเหมือนล้มเหลวมากกว่าสำเร็จในลักษณะการสอนแบบนั้น ที่เป็นเช่นนั้นคือ ในบริบทแบบไทยๆ คนเรียนแบบไทยๆ เค้ารับไม่ได้ ตอนนี้จึงหันมาเตรียมแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ได้เท่าไรเอาเท่านั้น ได้น้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย


เราได้เรียนด้วยกันไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเล่าเรื่องการทำวิจัยภาคสนามที่สหรัฐฯ บอกว่าโดนผู้ให้ข้อมูลหลอกลวงโดยง่าย และตีความผิดหลายเรื่อง เพราะมีความไม่เท่าทันโลก (naivety) ตีทฤษฎีไม่แตก อ่านงานต่างๆไม่ครบถ้วน และรีบเร่งมากไป แต่ที่สำคัญคือความไม่ถ้วนทั่ว แล้วยกตัวอย่างว่ามีหลายคนที่มีฝันแยะในการทำวิจัย ยิ่งพวกเรียนโทมือใหม่ๆ พอมาได้ฟังคำใหญ่ๆโตๆ ก็คิดฝันอยากทำโครงการใหญ่ยักษ์ หรือโครงการเจ็ดชั่วโคตร แล้วก็วาดวิมานกันต่อไปว่าจะได้เป็นนักวิจัยดีเด่น เป็นที่เด่นดัง อันนี้เรียกว่าดูละคอนไทยมากเกินไป ไม่รู้จักคำว่าวิจัยอย่างแท้จริง


ผู้เขียนเล่าต่อว่าเดี๋ยวนี้เป็นกระแสในสังคมไทยว่า คนจะดูหรูดูเด่น ต้องหัดใช้คำเก๋ๆ มากขึ้น ยิ่งหยิบมาจากพวกนักคิดหลังสมัยใหม่ หรือรื้อสร้างนี่ ยิ่งเก๋มาก ทั้งที่การสร้างความหรูนี่แหละเป็นอวิชชาอย่างแท้จริง เพราะส่วนมากแล้ว ภาษาธรรมดานี่แหละใช้แบบค่อยเป็นค่อยไปก็อธิบายพอได้แล้ว อีกแบบคือ พออ่านอะไรที่โดนใจเข้าหน่อยก็ทึกทักเอาว่านี่แหละทางฉันแล้ว บางคนไปนั่งอ่านอะไรใหม่ๆในด้านนั้นต่อ แต่ลมปรานขาดสะบั้นกลายเป็นคนปะติดปะต่ออะไรไม่ได้ ของเดิมๆ ก็เรียนไม่ได้ ของใหม่ๆก็หลุดไป ลืมคิดไปว่าแนวความคิดทางตะวันตกนั้นพัฒนามาเป็นเส้นตรงพอควร หากเข้าใจของเดิมๆไม่ได้ ของใหม่ๆก็ต่อลำบาก เราจึงพบพวกอุปโลกน์ตนเองเป็น "นักวิชาเกิน" และ "นักวิชากู" เต็มเมืองไปหมด บางคนก็พยายามแปลงานหรืออ่านงานแปลจากคนอื่น ซึ่งนับว่าดี เพราะขยัน แต่อย่างที่ว่า "บท" พวกนี้มีปัญหาในการเข้าใจได้อย่างง่ายและเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็จะบั่นทอนการเรียนรู้ เกิดความไม่เข้าใจได้ การที่ถอดแนวคิดฝรั่งมาเป็นแบบไทยๆไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งที่ผู้เขียนเองก็พบว่าตนเองตกม้าตายบ่อยๆ เวลาต้องถอดความอะไรบางอย่าง จากไม่ไทยเป็นแบบไทยๆ


ผู้เขียนแซวว่า เดี๋ยวนี้เวลาฟังคนที่ชอบอวดรู้พูดอะไรต่ออะไร จะต้องทำใจไว้ให้มาก ส่วนมากเกิดกับพวกที่เรียนมานิดหน่อยแล้วอยากบอกอะไรต่ออะไรกับชาวบ้านว่าฉันรู้นะ อันนี้หลายครั้งดูน่ารัก แต่หลายครั้งเรียกว่าปมเขื่อง หลายครั้งอยากถามกลับว่า ไอ้ที่บอกว่าอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้นี่ อ่านแบบไหนกัน อ่านกี่รอบ อ่านทั้งเล่ม หรือ อ่านแค่บางบท หรือ อ่านแค่บางหน้า หรือ อ่านแค่บางย่อหน้า หรือ อ่านแค่บางบรรทัดเท่านั้น แต่พวกนี้อยากแก้ปัญหาทั้งโลกเลยทีเดียว


วันนั้นก่อนกลับ ผู้เขียนรู้สึกสนุกกับได้พูดคุยกับบรรดาผู้เรียน และมีอาจารย์ผู้คุมวิชานั่งประกบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงภูมิ ถือเป็นโชคของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีคิดของพวกเขาเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะมาแสดงตนว่าเป็นผู้ทรงภูมิแต่ฝ่ายเดียว วันนั้นไม่มีใครจะมาอวดตนหรือถ่อมตน ต่างคนต่างรู้บทบาทว่าจะต้องแลกเปลี่ยนกันเท่าที่จะทำได้


อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงของสังคมไทย คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้ผู้เขียนบอกกับตนเองว่าต้องระวังตนมากขึ้น เพราะหลายๆอย่างรอบตัวเปลี่ยนไป ยิ่งทำให้ต้องรู้จักศึกษาคนรอบตัวมากขึ้น อดนึกไปถึงของเก่าๆแบบไทยๆบางอย่างไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่บอกตนเองว่า จริงๆ ลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในสมัยนี้ อย่างเช่น โคลงโลกนิติ ที่ว่า


นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
เลื้อย บ่ ทำเดโช แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งยะโส แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี