Skip to main content

ไม่เอาทั้ง "ไก่ นก เสือ"

คอลัมน์/ชุมชน

ตลอดสามสี่เดือนที่ผ่านมานี้ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับสัตว์อยู่ 3 ชนิดที่มีผลต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และเป็นเรื่องนโยบายที่รัฐบาลเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เริ่มตั้งแต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก คือไก่และเป็ด ซึ่งสามารถเป็นพาหะสู่คนทำให้ป่วยด้วยไข้หวัดนกได้ ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยด้วยไข้หวัดนกที่พิสูจน์ได้จริงจำนวน 17 ราย ส่วนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่มีการระบาดอย่างมากในฟาร์มไก่ มีไก่ตายเป็นหมื่น ๆ ตัว แต่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรขณะนั้นปฏิเสธข่าว บอกแต่เพียงว่าเป็นอหิวาต์ระบาด และพยายามปกปิดข้อมูล ฟาร์มขนาดใหญ่ก็ปิดปากเงียบ ชาวบ้านที่เลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านคือมีไก่สักสิบยี่สิบตัวในลานบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย นัยว่าเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจการส่งออก ซึ่งไม่รู้เป็นธุรกิจของใคร ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ของชาวบ้าน จนลุกลามบานปลายออกมาว่าที่แท้แล้วเป็นโรคระบาดไข้หวัดนก ก็แทบจะทำอะไรไม่ได้แล้วนอกจากไล่ฆ่าไก่ทิ้งไปหลายล้านตัว แล้วบอกตอนต้นปีนี้ว่าควบคุมได้แล้ว ไม่มีการให้ข้อมูลต่อเนื่องว่าชาวบ้านต้องดูแลตนเองอย่างไร ดูแลไก่ที่ป่วยตายอย่างไร ทุกอย่างเงียบหายไปกับสายลม


จนกระทั่งปลายปีนี้พบผู้เสียชีวิต เป็นชาวบ้านธรรมดา สืบเสาะได้ว่าติดเชื้อจากไก่ที่ตนเองเลี้ยงไว้ รวมทั้งไก่ชนที่เลี้ยงกันอย่างประคบประหงมขนาดจูบปากดูดปากดูดเสมหะกัน จึงทำให้เรื่องแดงขึ้นว่าเชื้อไข้หวัดนกนี้ไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงดำรงคงอยู่เป็นโรคระบาดประจำถิ่นไทยงามไปแล้ว แต่กว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ก็มีคนต้องเสียชีวิตไปหลายคน แถมการแก้ปัญหายังมองว่าจะต้องควบคุมให้ไก่ เป็ดไปอยู่ในฟาร์มปิดอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าวิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวโยงผูกพันกับการเลี้ยงไก่ในบ้านอย่างไร รวมถึงชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง เลี้ยงไก่ในฟาร์มขนาดเล็ก ว่าจะช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไรนอกเหนือจากทำลาย แล้วให้ฟาร์มปิดขนาดใหญ่เลี้ยงได้เพียงฝ่ายเดียวเพราะเชื่อว่าจะป้องกันการติดเชื้อ แพร่เชื้อได้


อะไรคือแผนดูแลความมั่นคงในชีวิตของคนเหล่านี้ ที่สุดเราจะเป็นประเทศที่ใต้ถุนบ้านไม่มีไก่ฝูงเล็ก ๆ คุ้ยเขี่ยอาหาร เด็ก ๆ จะรู้จักไก่จากรูปภาพหนังสือ ก เอ๋ย ก ไก่ เท่านั้น ชาวบ้านหลายคนกลายเป็นลูกจ้างในฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้ค่าแรงเท่าไร มีสวัสดิการอย่างไร ต่อไป ไม่อยากเอานโยบายไก่อย่างนี้ ใครช่วยได้บ้าง


ขณะที่เรื่องไก่ยังไม่รู้จะมีทิศทางอย่างไร กระแสพับ "นก" มาแรงสุด ๆ จากเรื่องดีดีมีคุณค่ากลายเป็นเรื่องการตลาดไปเสียแล้ว เป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อ สิ้นเปลือง โดยไม่จำเป็น ทำให้การจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม กลายเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายขนนกกระดาษขึ้นเครื่องบินไปโปรยให้เป็นขยะ สื่อมวลชนก็พลอยไปกับเขาด้วย พากันออกมาแสดงการพับนกกันเกร่อไปหมด


อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว นกพิราบคาบกิ่งมะกอก เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ที่ใช้ไปทั่วโลก สันติภาพที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นในใจแต่ละคน เมื่อคนเรามีสติต่อความไม่กระทำรุนแรงต่อผู้อื่น เมื่อนั้นคนเราจะตระหนักได้เสมอว่าตนเองได้กระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง ความรุนแรงทั้งทางใจ วาจา และกาย การแสดงออกซึ่งความเหยียดหยาม รังเกียจ แบ่งแยก แบ่งชั้น ไม่เคยมีความพยายามจะเปิดใจให้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิตที่หลากหลาย ใช้มาตรฐานเดียวมาวัดว่าคนอื่นไม่ดีเท่าตัวเอง หากไม่คิด ไม่ทำ ไม่ปฏิบัติเหมือนตนเองหรือหมู่พวกของตน


การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพของแต่ละคนได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เคร่งครัดเป็นหน้าที่ของศาสนิกชน ซึ่งแต่ละศาสนามีความเข้มข้นแตกต่างกัน ประเพณีทางศาสนาย่อมแตกต่างกันไปด้วย แต่มีจุดมุ่งเน้นให้เป็นวิธีการสืบทอดความคิดความเชื่อต่อ ๆ กันไปจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ประเพณีของแต่ละศาสนาจึงต้องได้รับการเคารพไม่ควรได้รับการตั้งแง่ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง


ไม่อยากให้ "การพับนก" อันเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ เป็นเรื่องสักแต่ได้ทำตาม ๆ กัน แต่ควรต้องช่วยกันเน้นย้ำว่า เมื่อเริ่มพับนก ก็เริ่มทำสมาธิไตร่ตรองว่าในใจตน ในการประพฤติปฏิบัติของตนนั้น ได้ก่อให้เกิด "สันติ" ในชีวิต ในความสัมพันธ์กับคนอื่นมากน้อยเพียงใด แล้วไม่จำเป็นต้องเอาไปมอบ ไปโปรยให้ใคร เก็บไว้ที่ใกล้ตัว ใกล้สายตา เพื่อเตือนตนเองให้สร้างสันติ ไม่กระทำรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นจะดีกว่า ไม่เอานกที่โปรยจากเครื่องบินค่ะ


ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค่ะที่เกี่ยวโยงกับสัตว์อีกชนิดคือ "เสือ" มีเสือจำนวนเป็นร้อยตัวเสียชีวิตเนื่องจากไข้หวัดนก แต่จะไม่พูดถึงเสือเหล่านี้นะคะ แค่ส่งใจระลึกถึงความตายที่เกิดจากความไม่รอบคอบของคนจัดหาอาหารให้ ที่อยากพูดถึงคือเรื่องการฟื้นคืนชีพอีกครั้งของ "ลูกเสือชาวบ้าน" มากกว่าค่ะ


ดิฉันรู้จักลูกเสือชาวบ้านมาสิบกว่าปีแล้วเห็นจะได้ สิ่งที่เห็นตอนนั้นคือคนข้าง ๆ บ้าน รวมทั้งพี่ป้าน้าอา ต่างก็มีผ้าพันคอสีเลือดหมู ใส่กันอย่างชื่นชมยินดีที่จะให้รู้ว่าตนเองได้ผ่านการฝึกเข้าค่ายลูกเสือชาวบ้านมาแล้วนะ สิ่งที่เห็นเปลี่ยนไปคือการร้องเพลงค่ะ เพลงที่ร้องเปลี่ยนจากเพลงพื้นบ้าน พื้นถิ่น ลูกทุ่ง กลายไปเป็นร้องเพลงปลุกใจรักชาติ โดยเฉพาะเพลง "หนักแผ่นดิน" ดูจะเป็นเพลงฮิตที่สุดของลูกเสือชาวบ้านที่รู้จัก เมื่อรวมตัวในวงสังสรรค์ เพลงที่ถูกนำมาร้องมาก ๆ เช่น รักกันไว้เถิด หนักแผ่นดิน สอบถามได้ความว่าเพราะเราเป็นคนไทย ต้องเชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถามว่าการร้องเพลงแสดงว่ารักชาติแล้วใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ ถามต่อว่ามีอย่างอื่นอีกไหม เขาก็บอกว่าคำขวัญของลูกเสือคือ "เสียชีพ อย่าเสียสัตย์" แต่อย่าให้อธิบายต่อนะบอกไม่ได้


ดิฉันได้แต่เฝ้าจับตามองว่าทำอะไรกันบ้าง สิ่งที่เห็นอีกอย่างคือกลุ่มลูกเสือชาวบ้านนี้จะถูกเรียกรวมตัวกันได้ง่าย แค่บอกกันปากต่อปาก สักพักก็รวมตัวกันได้ที่วัด ที่ศาลาในหมู่บ้าน กลายเป็นกลุ่มแรงงานอาสาสมัครทำประโยชน์ในชุมชน เช่น ทำความสะอาดวัด พื้นที่สาธารณะ และในภาคเหนือบางทีก็ช่วยกันทำความสะอาดป่าช้า เวลามีงานพิธีต่าง ๆ เช่น วันปิยะมหาราช ก็จะมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้านไปวางพวงหรีดด้วย ดูดูไปคือการรวมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายด้านอายุ อาชีพ ถือว่าเป็นข้อดีของลูกเสือชาวบ้าน


แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการสร้างความเชื่อว่าตนเองเป็นกลุ่มรักชาติ มีหน้าที่ปกป้องชาติ เมื่อใครที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างออกไปมักถูกตั้งคำถามว่าไม่รักชาติ เมื่อบ้านเมืองมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา ก็ถือว่ามีหน้าที่ออกมาเชิดชูความรักชาติ อย่างนี้เกรงว่าจะเป็นการฉวยประโยชน์จากกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ให้กลายมาเป็นกลุ่มที่ลุกขึ้นมาคอยจ้องจับผิดคนในชาติด้วยกันเอง


ได้ข่าวแว่ว ๆ มาว่า เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ น่าจะมีการปลุกกระแส "ลูกเสือชาวบ้าน" ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะคิดให้ดี ๆ ว่าจะแก้ปัญหาหรือสร้างความแตกแยกร้าวฉานในหมู่คนในชาติมากขึ้น กลัวจังเลย