Skip to main content

หน้าหนาว กับการบริจาค

คอลัมน์/ชุมชน

ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้ง ที่ต้องมีการรณรงค์บริจาคผ้าห่ม เสื้อกันหนาวให้คนจนในชนบท โดยเฉพาะทางเหนือกับทางอีสาน เป็นประเพณีทุกปีที่พอย่างเข้าหน้าหนาวก็จะต้องมีข่าวคนจนผิงไฟกันหนาวมาให้ได้ดูได้ชมกันทางทีวี หรือหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นสิบ ๆ ปีมาแล้วได้มั้งที่เป็นอย่างนี้


ถามว่าบ้านนี้เมืองนี้ มันไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของพี่น้องประชาชนได้เลยหรือไร ไม่มีกึ๋น ไม่มีความสามารถ หรือไม่ใส่ใจที่จะทำกัน ทำไมประเทศไทยก้าวเข้าสู่อินเตอร์ คุยนักคุยหนาว่าสามารถค้าขายได้มากขึ้น ขายข้าวได้มากขึ้น แต่ทำไมคนปลูกข้าวไม่มีเสื้อกันหนาวใส่ มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร


ก็เห็นเขาทำมาหากินทั้งปีทั้งชาติ แต่ไม่มีความสามารถจะหาผ้าห่ม หรือเสื้อกันหนาวใส่ได้ ไม่ต้องพูดถึงมีเงินเหลือเฟือให้ลูกพกติดตัวไปโรงเรียนกินข้าวกลางวัน การแก้ปัญหาแต่ละปีก็ถือเป็นโอกาสได้ใช้เงินงบประมาณเฉพาะกิจ ซึ่งดูเป็นความมีน้ำใจของคณะรัฐมนตรีที่มีมติอนุมัติเงินไปช่วยเหลือแต่ละครั้ง เป็นเงินเร่งด่วน เร่งใช้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ใช้จ่ายเงินเหล่านี้ไปซื้อผ้าห่มแจก ก็ต้องเร่งทำ เร่งกันไปกันมา ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงได้ผ้าห่มแบบไหนให้ชาวบ้าน หรือเหลือสักกี่ผืน สูญเสียไปเป็นค่าจัดการ หรือหล่นหายระหว่างทาง สักเท่าไรไม่มีใครรู้เลย


ทำไมคณะรัฐมนตรีไม่คิดวิธีแก้ปัญหาระยะยาว แบบทำให้คนจนหมดไปภายใน 4 ปี 6 ปี หากคนจนหมดไปจริง ต้องไม่มีเรื่องไม่มีผ้าห่ม ไม่มีเสื้อกันหนาวใส่ในหน้าหนาวอีกต่อไป และสังคมไทยไม่ต้องมาติดนิสัย สงเคราะห์ช่วยเหลือกันเป็นคราว ๆ ไป เสียทั้งคนรอรับสงเคราะห์เสียทั้งคนบริจาคเพื่อสงเคราะห์ เพราะมันง่ายเกินไปในการแก้ปัญหา ไม่ต้องมานั่งคิดว่าทำไมต้องบริจาคทุกปี เพียงมีเงิน มีเวลาเก็บเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ไปให้องค์กรหรือมูลนิธิต่าง ๆ แค่นี้ก็จบมันเหมือนได้คืนกำไรให้สังคมแล้วนะ


หลังจากนั้นทั้งปีก็กิน ก็เที่ยว ก็ซื้อเสื้อผ้ากันอีกจนล้นตู้ ปลายปีก็มาบริจาคใหม่ คนรอรับก็เสียนิสัยไปแล้ว ไม่ต้องค้นหาสาเหตุกันว่าทำไม ตนไม่สามารถมีความสามารถในการยังชีพอย่างสมศักดิ์ศรีมนุษย์ เสื้อผ้าไม่เพียงพอ บ้านไม่พอกันหนาว ข้าวไม่พอกิน ไปรับจ้างในเมืองก็โดนกดค่าแรง ทำไมถึงยอมตกอยู่ในสภาพนี้ทั้งชีวิต เพราะมันก็ง่ายดี คิดมากก็ปวดหัว รอรับบริจาคเป็นปีปีไปสบายใจกว่า


ระยะห่างระหว่างคนรวยกับคนจน มันถ่างห่างขึ้นเรื่อย ๆ คนค้าขาย นายหน้าค้าข้าว ค้าลำไย ค้าหอมกระเทียม ร่ำรวยมีเงินมีทองมากมาย ต่างได้รับอานิสงค์จากการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศ รัฐ ควรต้องจัดเก็บภาษีการค้าเหล่านี้ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและยุติธรรมพอสำหรับนำไปดำเนินนโยบายสร้างสวัสดิการให้คนในประเทศ ไม่ใช่นำมาสงเคราะห์เป็นครั้ง ๆ ไป เพื่อลดช่องห่างระหว่างคนจนคนรวย


แต่ปัจจุบันนี้แม้แต่การดำเนินนโยบายรับประกันราคาข้าว ราคาลำไย รัฐยังถูกต้มจากบริษัทรับซื้อเหล่านี้ ทั้งการโกหก การโกงจำนวน โกงคุณภาพ รัฐสูญเสียเงินไปหลายร้อยล้านบาทสำหรับเรื่องเหล่านี้ สูญเสียงบประมาณไปมากกว่านำไปซื้อผ้าห่มแจกด้วยซ้ำไป อย่างนี้ถือว่ามีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา และบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนหรือยัง


การแก้ปัญหา หนาว แล้ง ควรเป็นการจัดการได้ในระดับท้องถิ่น รัฐทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมให้องค์กรท้องถิ่น ที่มีการวางแผนระยะยาวในการป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยในท้องถิ่น จัดหาสวัสดิการที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การรักษาพยาบาล การจ้างงานที่ยุติธรรม ปรับปรุงค่าแรงให้พอเพียงในการดำรงชีวิต เพื่อให้คนมีรายได้ที่พอในการยังชีพและมีสิ่งอำนวยสะดวกในการดำรงชีพ ไม่ต้องมามีระบบการสงเคราะห์รอรับบริจาคกันอีกต่อไป


แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะคิดเรื่องอย่างนี้บ้างไหม หรือยังเป็นเพียงการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งของผู้มีอิทธิพล แล้วก็อาศัยช่องทางนำเงินงบประมาณไปเอื้อต่อตนเองและพรรคพวก คงต้องรอกันอีกนานกว่าจะมีองค์กรท้องถิ่นที่เข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์แท้จริงที่จะลดช่องห่างระหว่างคนจนกับคนรวย เราคงต้องอยู่ในวังวนของการบริจาคสงเคราะห์กันไปอีกนานหลายปี หรือตลอดไป