Skip to main content

การสร้างความมั่นคงในชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

คอลัมน์/ชุมชน

หากมีการนำเอาคำว่า "เอื้ออาทร" มาใช้เป็นนโยบายเพื่อจัดหาเงิน วัตถุ วัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนถือว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นประชาชน ดูหมิ่นความหมายของการ "ช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้ออาทรต่อกันของคน" เพราะคำนี้มีคุณค่าของการเอื้ออาทรต่อกันบนฐานของความเท่าเทียมกัน บนฐานวัฒนธรรมความเชื่อแบบเป็นพี่เป็นน้องกันที่มีการช่วยเหลือกันตามความจำเป็นตามความสามารถ กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันออมทรัพย์วันละบาทสองบาท เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือกันยามลำบาก ไม่คิดดอกเบี้ยแบบโหด ๆ รวมถึงการมีความซื่อสัตย์ต่อการออมและการใช้คืน เป็นการทำงานแบบ "เอื้ออาทร" ต่อกันอย่างแท้จริง


แต่นโยบาย "บ้านเอื้ออาทร" "แท๊กซี่เอื้ออาทร" "แอร์โฮสเตสเอื้ออาทร" "นักบินเอื้ออาทร" เหล่านี้ล้วนเป็นการดำเนินการในเชิงสงเคราะห์ ที่ตั้งอยู่บนฐานของคนมีมากกว่าสงเคราะห์ให้คนมีน้อยกว่า รัฐทำตัวเป็นคนรวยที่โยนเศษเงินให้ประชาชนแล้วแอบอ้างความคิดความเชื่อของวัฒนธรรมชุมชน ว่านี่ "คือนโยบายเอื้ออาทร"


ทั้งที่จริงแล้ว รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทุกข์ยาก ขาดแคลน เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ นี่เป็น "ภาระหน้าที่" ของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญไทย


ดังนั้น ประชาชนผู้มีความจำเป็นต้องการที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์สำหรับเป็นเครื่องมือหากิน หรือการมีโอกาสได้เรียนเป็นแอร์โฮสเตสและนักบิน จึงไม่ควรยอมรับว่านี่คือ "ความเอื้ออาทร" ที่ได้รับ แต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดหาให้ตามหน้าที่อยู่แล้ว และประชาชนเองมีสิทธิตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการเหล่านี้ได้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินงบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้ในโครงการ


พรรคการเมืองใด ๆ ก็สามารถทำได้ หากมีความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ประชาชน ทั้งนี้ ควรเป็นการกำหนดนโยบายที่ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญคือ "การสร้างความมั่นคงในชีวิตตามสิทธิขั้นพื้นฐาน" ไม่ใช่คิดว่าตนเองตั้งพรรคการเมือง ส่ง ส.ส. ลงเลือกตั้ง ได้รับเลือกตั้งแล้วมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล แล้วกลายเป็นนายประชาชน ชี้นิ้วสั่งได้ว่าจะให้อะไรหรือไม่ให้อะไรประชาชน อย่างนี้ไม่ควรได้รับเลือกตั้งเลยดีกว่า


การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน เพื่อคัดเลือกคนให้เข้าไปทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ไปสร้างความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้างมากขึ้นระหว่างคนจน กับคนรวย ไม่ใช่เลือกเพื่อให้เขาไปเป็นเจ้านายของเรา แต่เรายังเป็นเจ้านายของเขาที่สามารถติดตามตรวจสอบ ทวงถาม ได้ตลอดเวลา อย่าติดยึดอยู่ว่าจะรอรับการ "สงเคราะห์" จากรัฐเพียงอย่างเดียว