Skip to main content

"โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรีและคนชรา"

คอลัมน์/ชุมชน

คุณผู้อ่านคิดว่าเคยเห็นประโยคข้างบนนี้ที่ไหนซักแห่งไหมคะ? ใช่แล้วค่ะ เมื่อก่อนป้ายประกาศข้อความนี้ติดไว้อย่างเด่นเป็นสง่าบนรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ทุกคัน แต่มาช่วงหลัง ๆ นี้ ผู้เขียนแทบจะไม่เห็นป้ายนี้เลย แต่มีข้อความ "ที่สำรองนั่งภิกษุสามเณร" ติดอยู่เก้าอี้ผู้โดยสารตัวหน้า และ "ที่นั่งสำรองสตรีมีครรภ์" ติดเหนือเก้าอี้ข้างประตูกลางของรถ

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชอบใช้บริการรถโดยสาร ขสมก. เพราะตัวเองขับรถยนต์ไม่เป็นและสนนราคาแสนจะประหยัดกว่านั่งรถไฟฟ้า หรือรถอื่นใดที่จะต้องเสียค่าบริการ (ยกเว้นติดรถเพื่อนเพราะไม่ต้องเสียเงิน) และได้ดูการเคลื่อนไหวของชีวิตผู้คนบนรถประจำทาง แม้ว่าบางเรื่องอาจจะทำให้อึ้งเล็กน้อยถึงขั้นปานกลาง


เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ยืนรอรถเมล์สาย ๑๖๖ ที่ป้ายเทศบาลปากเกร็ดเพื่อจะไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พอรถเมล์วิ่งมาถึง ผู้คนซึ่งมีทั้งเด็ก วัยรุ่น คนวัยแรงงาน ผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ คนชราทั้งเพศหญิงชาย (ที่ไม่มีใครรู้ว่ารสนิยมทางเพศเป็นเช่นไรเพราะเป็นเรื่องที่ดูไม่ออกและเขาไม่บอกกัน) และสมณะเพศ ต่างวิ่งกรูตามไปขึ้นรถที่ยังไม่จอดสนิท

คุณผู้อ่านคิดภาพออกไหมว่า ในบรรดาคนส่วนใหญ่ที่สามารถแหวกฝูงชนขึ้นรถได้ก่อนผู้อื่นจะเป็นใครถ้าไม่ใช่ "ผู้ชาย" เพราะเรี่ยวแรงในการวิ่งตามไปจ่อที่ประตูรถในขณะที่ยังไม่ได้เปิดประตูรถเนี่ย ต้องยกให้กับพี่ท่านจริง ๆ ส่วนสมณะเพศและสตรีมีครรภ์ (ที่ต้องเห็นชัดว่าท้องหลายเดือนแล้ว) ไม่ต้องรีบเร่งเพราะขึ้นไปเมื่อไหร่ก็มีที่สำรอง (ให้) นั่งอยู่แล้ว


ตอนที่รถเมล์ออกจากปากเกร็ด ทุกคนมีที่นั่งครบพอดี (ช่างบังเอิญและโชคดีอะไรเช่นนี้) แต่เมื่อรถวิ่งเลยห้าแยกปากเกร็ดไปป้ายแรก มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณเฉียด ๆ ๗๐ เดินขึ้นรถเมล์มาด้วยการใช้ไม้เท้าพยุงตัวเอง ผู้เขียนเห็นปฏิกิริยาอัตโนมัติทันที (เหมือนในโฆษณารถมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อหนึ่งเลย) คือทุกคนหันหน้าไปข้างรถ ใคร อยู่ฝั่งขวาก็หันไปด้านขวา คนอยู่ฝั่งซ้ายก็หันไปด้านซ้าย เพื่อที่จะไม่มองหญิงชราท่านนี้

ผู้เขียนคิดว่าความรู้สึกของคนที่นั่งในรถคงจะกำลังต่อสู้กันแบบเหงื่อตกและยางออกระหว่างมโนธรรมเรื่องน้ำใจที่จะแบ่งปันให้คนแก่ (ซึ่งเคยอ่านเจอข้อความรณรงค์ผ่านตาสมัยก่อน) และความรู้สึกที่ต้องยืนทรมานจากปากเกร็ดถึงอนุสาวรีย์ฯ โดยเฉพาะคนที่คุณป้าท่านนี้ไปยืนอยู่ข้าง ๆ ตรงประตูทางขึ้น เขาจำต้องอยู่ในท่าหลับกลางอากาศทันที (แปลว่า ทำท่าคอพับคออ่อน)


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ ๒ นาที เมื่อทุกคนมีท่าที "มองไม่เห็น" คุณป้าท่านนี้ ผู้เขียนซึ่งมีความเชื่อว่า การทำความดีต้องเริ่มต้นทำสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัวก่อน ได้ตัดสินใจลุกขึ้นยืน แล้วบอกกระเป๋ารถเมล์ว่า "คุณคะ ช่วยเรียกคุณป้ามานั่งที่นี่หน่อย" กระเป๋ารถก็จัดการเรียกให้ แล้วเมื่อป้าได้ที่นั่งเรียบร้อยทุกคนจึงกลับเข้าสู่อาการปกติ โดยมีผู้หญิงหน้าตาดีคนหนึ่งยืนโด่เด่เพียงลำพัง (แฮ่ม…)


เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เกรงผู้อ่านจะคิดว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วที่เขียนเรื่องนี้เพราะเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในชีวิตเรามีเรื่องอะไรบ้างนะที่ทำให้เรามีท่าที "มองไม่เห็น" ได้บ้าง ซึ่งจริงๆ มีเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวไปจนเรื่องใหญ่ระดับชาติ เช่น คนไม่ขึ้นสะพานลอยข้ามถนน ลูกผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าโรงเรียน การวิสามัญผู้ใช้ยาเสพติด และสถานการณ์ความรุนแรงที่ตากใบ


แล้วทุกครั้งที่เราทำทีมองไม่เห็นคน ๆ นั้น หรือเหตุการณ์นั้น ๆ ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความใส่ใจ แบ่งปันความรู้สึก หรือให้ความช่วยเหลือบ้างตามกำลังและโอกาสที่เราจะกระทำได้ เราก็มักจะมีคำอธิบายที่จะทำให้เรารู้สึกดี หรือสบายใจกับการ (ทำที) มองไม่เห็นของเรา ตลอดจนท่าทีที่เราปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นได้เสมอ...จริงไหม??? (เช่นเดียวกับกรณีพับนกที่ทำให้เรารู้สึกดีว่าได้ลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว)


เมื่อรถเมล์วิ่งถึงหน้ากระทรวงยุติธรรม (อีก ๒ ป้ายจะขึ้นทางด่วน) มีผู้โดยสารคนหนึ่งลงรถไป กระเป๋ารถยืนกันที่นั่งไว้แล้วตะโกนเรียกผู้เขียนด้วยเสียงอันดังว่า "พี่ผู้หญิงคะ มีที่นั่งว่างค๊า" ???