Skip to main content

กองทุนหมู่บ้าน ปลดหนี้ พักหนี้

คอลัมน์/ชุมชน

เงินมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท (70,000,000,000) ที่รัฐบาลไทยรักไทยทุ่มลงไปในหมู่บ้านทั่วประเทศ ในชื่อโครงการ "กองทุนหมู่บ้าน" ทำให้คนมากกว่า 5 ล้านครอบครัวได้กู้ยืมเงินกันคนละ 2-5 หมื่นบาทต่อปี เงินจำนวนนี้ในมือคนจนนับว่าเป็นจำนวนที่มาก แต่ก็ไม่มากพอที่จะเปลี่ยนชีวิตให้มีความมั่นคงได้มากขึ้น ยังคงมีสภาพเป็นคนจนเหมือนเดิม


หากคนจนในหมู่บ้าน ยังชีพด้วยการปลูกข้าว หรือรับจ้างไปวัน ๆ บางวันมีรายได้ 100-200 บาท บางวันไม่มีรายได้ใด ๆ เลย ปีหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือหากจะใช้เส้นความจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมอยู่ที่รายได้ 922 บาท/เดือน/คน คนที่มีรายได้เดือนละ 1,000 บาทขึ้นไปถือว่าพอยังชีพอยู่ได้


แน่นอนสามารถยังชีพได้จริงคือพออยู่ได้แต่ต้องมีชีวิตที่ไม่ต้องเจ็บป่วยใด ๆ เลย จะต้องไม่มีลูกที่ต้องเรียนหนังสือ จะต้องไม่มีบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำ ไฟ ไม่มีทีวี วิทยุ ตู้เย็น จะต้องไม่ไปดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อน ท่องเที่ยว จะต้องไม่ซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่เลย เพราะเงินแค่ 1,000 บาทคงพอแค่หาข้าวกิน อย่างนี้ถือว่าเป็นชีวิตที่มีความมั่นคงได้อย่างไร


หากนำเงิน 7 หมื่นล้านที่ทำกองทุนหมู่บ้าน เงิน 1 หมื่น 5 พันล้านบาทที่ไปใช้หนี้ดอกเบี้ยแทนในโครงการพักหนี้เกษตรกร และอีก 2 หมื่นล้านที่ใช้ในโครงการ SML ไปรวมกับเงิน 6 หมื่นล้านที่ใช้ในโครงการหลักประกันสุขภาพ จะได้จำนวนเงินเท่ากับ 1 แสน 6 หมื่น 5 พันล้านบาท นำไปดำเนินนโยบายสร้างหลักประกันทางสังคมเพื่อลดภาระของทุกคนในสังคม


โดยรัฐรับประกันว่า ทุกคนมีที่อยู่อาศัย มีน้ำ ไฟฟ้า ราคาถูกใช้ มีที่ดินทำกินแน่นอน มีค่าแรงที่เป็นธรรม เจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องจ่ายเงินอีกแล้ว รัฐทำหน้าที่ลดภาระประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนให้มีทรัพยากรในการทำมาหากินอย่างพอเพียง ถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่เห็นคุณค่าและส่งเสริมศักดิ์ศรีของคนทุกคน เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกคน ทั้งนี้ งบประมาณเพียงแสนกว่าล้านนับว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับที่รัฐจ่ายไป 7 แสน 8 หมื่นล้านบาทให้กับการแก้หนี้เสียที่คนรวย คนชั้นกลาง ทำไว้ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่


นโยบาย "กองทุนหมู่บ้าน" ทำให้เงินถึงมือชาวบ้านจริงคนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งใช้เป็นค่าเทอมลูกสองคนได้แค่เทอมเดียว หรือลงทุนปลูกนาได้ปีเดียว หรือซื้อรถมอเตอร์ไซค์มือสองได้สักคันหนึ่งไว้ขี่ไปรับจ้างทำงานในเมือง หรือซื้อโทรศัพท์มือถือได้สักเครื่องหนึ่งกับค่าโทรรายเดือนอีกเล็กน้อย แต่ชีวิตของชาวบ้านก็ยังคงไม่พ้นจากวังวนของความทุกข์ และการเป็นหนี้สินได้ หากมีใครสักคนในบ้านล้มป่วยด้วยโรคที่ค่ารักษาแพง ๆ ต้องเดินทางไปรักษาถึงตัวจังหวัดหรือข้ามจังหวัด หรือในบ้านมีคนชราที่ต้องเลี้ยงดูหรือมีผู้พิการต้องช่วยเหลือ


เช่นเดียวกัน "การพักหนี้" "การปลดหนี้" ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว รัฐต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เพื่อไปแบบรับภาระดอกเบี้ยให้ชาวบ้านในระยะเวลาของการพักหนี้ เป็นหมื่นล้าน หากไม่อาจแก้ปัญหาที่สาเหตุของการเป็นหนี้ได้ ก็ถือเป็นนโยบายที่ใช้เงินเพื่อซื้อใจ คนจน เท่านั้นซึ่งคงต้องซื้อกันไปตลอดชาติ เพราะไม่อาจแก้ปัญหาได้


เงินจำนวนเป็นแสนล้านที่จ่ายไปให้กับโครงการเหล่านี้ หากนำมาจัดทำนโยบายแก้ปัญหาที่สาเหตุจริง ๆ คือลดภาระของประชาชนให้รัฐรับภาระแทนตามสิทธิขั้นพื้นฐานคือ รัฐรับประกันให้มีอาหาร มีที่ดินทำกิน มีการรักษาทุกโรค มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าเครื่องใช้ตามความจำเป็น ภายใต้ระบบ "รัฐรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้ทุกคน"


เมื่อประชาชนไม่ต้องรับภาระเหล่านี้เอง ก็จะมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการทำมาหากิน มีรายได้พอเพียงอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่รัฐไม่ต้องหยิบยื่นเป็นตัวเงินเชิงสงเคราะห์ให้อีกต่อไป